เอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ ผนึกกำลังปกป้องลูกค้าจาก SMS กวนใจทุ่มกว่า 30 ล้านบาท เชื่อมโยงระบบบล็อก Spam SMS ของทั้ง 3 ค่ายยกเว้นฮัทช์ ไทยโมบาย เบื้องต้นคาดป้องกันได้ 80-90% โดยเฉพาะพวกธุรกิจที่ชอบซื้อเหมา SMS จำนวนมากแล้วโฆษณาขายของ ส่วนที่เหลือเป็นพวกหัวหมอซื้อซิมพรีเพดแล้วส่ง SMS ประเภท P2P หรือบุคคลส่งถึงบุคคล ซึ่งยังไม่สามารถบล็อกได้เพราะเป็นการสื่อสารส่วนตัว
เมื่อวานนี้ (10 ส.ค.) ผู้บริหารจาก 3 ค่ายมือถือ ประกอบด้วย นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด เอไอเอส นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานพาณิชย์ ดีแทค และ นายสุภกิจ วรรธนะดิษฐ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการพาณิชย์ ทรูมูฟ ร่วมแถลงถึงความร่วมมือในการปกป้องลูกค้าจาก Spam SMS ครั้งแรกของประเทศไทย ด้วยเงินลงทุนกว่า 30 ล้านบาท มั่นใจกรอง Spam SMS ได้ 80-90%
ทั้งนี้ บริการส่งข้อความสั้นหรือ SMSเป็นบริการที่มุ่งให้ประโยชน์ต่อผู้ใช้เพื่อให้ได้รับการสื่อสารข้อมูลต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว แต่ภายหลังเมื่อมีการใช้งานแพร่หลายมากขึ้นจึงมีผู้ใช้ SMS ผิดจุดประสงค์จนก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ อีกทั้งเป็นการส่งผ่านระบบการส่ง SMS จำนวนมาก (Bulk SMS) ผ่านเครือข่ายของโอเปอเรเตอร์ทุกรายทำให้ลูกค้าทุกโอเปอเรเตอร์ได้รับข้อความที่ไม่เกี่ยวข้องหรือตรงกับความต้องการ
ที่ผ่านมาลูกค้าสามารถแจ้งให้โอเปอเรเตอร์ของตนบล็อก Spam SMS หรือข้อความโฆษณาเหล่านั้นได้หากเป็นการส่งจากระบบที่ลูกค้าใช้อยู่ แต่หากเป็นการส่งข้ามมาจากระบบอื่นยังไม่สามารถบล็อกได้
ดังนั้น เกือบ 1 ปีที่ผ่านมาทั้ง 3 โอเปอเรเตอร์จึงได้ทำงานร่วมกันโดยมีจุดประสงค์ที่จะกำหนดแนวทางการกำกับดูแลและพัฒนาระบบเพื่อควบคุมปัญหาดังกล่าว และได้ลงทุนรวมกว่า 30 ล้านบาท พัฒนาซอฟต์แวร์ Anti-spam SMS เพื่อสร้างระบบบล็อกการส่ง Spam SMS ข้ามเครือข่าย ซึ่งจะช่วยกรอง Spam SMS เหล่านั้นได้มากกว่า 90%
ลูกค้าของทั้ง 3 โอเปอเรเตอร์ ที่ได้รับความเดือดร้อนรำคาญจาก Spam SMS สามารถโทร.แจ้งยกเลิกบริการได้ที่คอลเซ็นเตอร์ของผู้ให้บริการของแต่ละค่าย คือ 1175 ของเอไอเอส, 1678 ของดีแทคและ1331 ของทรูมูฟ โดยเมื่อลูกค้าโทร.แจ้งให้บล็อก Spam SMS กับคอลเซ็นเตอร์ของโอเปอเรเตอร์ตัวเองก็จะสามารถบล็อก Spam SMS ที่ส่งจากทั้ง 3 เครือข่ายได้ในคราวเดียวกัน โดยระบบการบล็อกของทุกค่ายจะเริ่มใช้งานได้อย่างสมบูรณ์แบบภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้
นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ผู้บริหารเอไอเอส กล่าวว่า SMS จะแบ่งได้ 3 กลุ่มใหญ่คือ1.SMS ที่ส่งจากโอเปอเรเตอร์ไปยังผู้ใช้บริการ ซึ่ง SMS เหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับลูกค้าประเภทแจ้งเตือนการชำระค่าบริการ หรือโปรโมชัน สิทธิประโยชน์ของลูกค้า 2.SMS ที่ส่งจากคอนเทนต์โพรวายเดอร์ ซึ่งเดิมจะเป็นการส่งเฉพาะกลุ่มที่ต้องการ แต่ภายหลังเริ่มส่งในลักษณะวงกว้าง SMS
พวกนี้เริ่มจะสร้างความรำคาญใจมากขึ้นและ3.SMS ที่ส่งมาจากไหนไม่รู้ หรือมาจากต่างประเทศ หรือมาจากองค์กรที่ซื้อเหมา SMS จำนวนมาก แล้วส่งแบบเหวี่ยงแห ซึ่งพวกนี้จะสร้างความเดือดร้อนให้ลูกค้ามาก แต่บางกรณีธุรกิจเหล่านี้จะมีฐานลูกค้าตัวเองที่เคยให้เบอร์มือถือไว้ ซึ่งรับรองได้ว่าโอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 รายไม่เคยขายลิสต์รายชื่อหรือเบอร์มือถือให้ใคร
นายธนา เธียรอัจฉริยะ ผู้บริหารดีแทค กล่าวว่า การป้องกัน Spam SMS นั้นไม่มีโซลูชั่นจากต่างประเทศที่ซื้อมาแล้วใช้ได้เลย ทำให้ 3 โอเปอรเตอร์ต้องมาพัฒนาซอฟต์แวร์เองโดยใช้เวลาเกือบ 1 ปี ด้วยแนวคิดว่าต้องบล็อกที่คนส่ง (Sender) โดยหลักการคือลูกค้าต้องสมัครผ่านคอลเซ็นเตอร์ของโอเปอเรเตอร์ตนเอง แล้วสามารถบล็อกได้ประมาณ 80-90% เพราะช่วงนี้เป็นความร่วมมือของ 3 ค่ายยกเว้นฮัทช์กับไทยโมบาย โดยการบล็อกจะบล็อก SMS ที่เป็นลักษณะองค์กรที่ซื้อเหมา แต่จะไม่สามารถบล็อก SMS ที่เป็นการส่งระหว่างบุคคลถึงบุคคล และจะไม่บล็อก SMS ที่เป็น White List หรือ SMS ที่เป็นประโยชน์จากลูกค้าเช่นข่าวสารจากโอเปอเรเตอร์ หรือ การยืนยันการทำธุรกรรมการเงินของลูกค้ากับธนาคาร
‘หากบริษัทไหนไม่ได้ซื้อเหมา SMS แต่ใช้วิธีซื้อซิมพรีเพด แล้วส่ง SMS เราก็ไม่สามารถบล็อกได้ เหมือนการส่งจดหมายที่เราไม่สามารถเปิดจดหมายลูกค้ามาดูได้ว่าส่งข้อความอะไร เพียงแต่ในแง่ต้นทุนการทำธุรกิจ หากซื้อซิมพรีเพดมาส่ง SMS ขายสินค้าหรือบริการ อาจไม่คุ้มค่ามากนัก ส่วนกรณี SMS จากแบงก์เราจะแยกเบอร์ SMS จากกันระหว่างการเป็น White List ประเภทยืนยันการทำธุรกรรมกับข้อมูลประเภทโฆษณาขายของ เพื่อให้สามารถบล็อก SMS ได้ถูกต้องตามที่ลูกค้าต้องการ’
ด้านนายสุภกิจ วรรธนะดิษฐ์ ผู้บริหารทรูมูฟกล่าวว่าทั้ง 3 โอเปอเรเตอร์จะตั้งแอป เซ็นเตอร์ที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นเกตเวย์ โดยลูกค้ารายไหนที่ต้องการบล็อก Spam SMS ก็จะใส่เบอร์ไว้ในแอป เซ็นเตอร์กำหนดเลยว่าถ้ามี Spam SMS ก็จะถูกกันไว้ไม่ให้ส่ง โดยที่ลูกค้าสามารถโทร.เปลี่ยนแปลงหลังสมัครบล็อก Spam SMS ได้เช่นกันโดยการบล็อกหรือเลิกบล็อก SMS ทั้ง 3 โอปอเรเตอร์ไม่คิดค่าบริการแต่อย่างใด และสามารถบล็อกได้ภายใน 24 ชม.หลังจากลูกค้าโทร.แจ้งเขามายังคอลเซ็นเตอร์
ปัจจุบันลูกค้าเอไอเอสกับดีแทคมีการส่ง SMS ประมาณเดือนละ 100 ล้านข้อความและมีการซื้อเหมา SMS อีกประมาณ 10% ส่วนลูกค้าทรูมูฟจะมีการส่ง SMS ประมาณเดือนละ 70 ล้านข้อความ
Company Related Links :
AIS
DTAC
Truemove