xs
xsm
sm
md
lg

อินเทลชูผลได้-ผลเสียไลเซนส์ไวแมกซ์ช้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อินเทลกระทุ้งภาครัฐ-กทช.เดินหน้าไลเซนส์ไวแมกซ์ให้ทันภายในปีนี้ ชี้ประโยชน์ที่ได้จากการประมูลทำให้มีเม็ดเงินเข้าภาครัฐ 284 ล้านเหรียญ แต่หากยังไม่มีการเปิดให้ใบอนุญาตภายในปีนี้จะส่งผลเสียต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศกว่า 5,106 ล้านเหรียญ  พร้อมแนะรูปแบบไลเซนส์ที่ควรเป็นจากประสบการณ์ผู้ให้บริการทั่วโลก

นายปีเตอร์ พิทช์ ผู้อำนวยการด้านนโยบายการสื่อสาร บริษัท อินเทล คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการกำหนดสเปกตรัมและนโนบายด้านการสื่อสารเคยดำรงตำแหน่งสำคัญในคณะกรรมาธิการการสื่อสารแห่งชาติ (Federal Communications Commission) หรือ FCC ของประเทศสหรัฐอเมริกาแสดงความคิดเห็นว่า ประเทศไทยยังล้าหลังในเรื่องการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือบรอดแบนด์ ส่งผลให้เสียเปรียบหลายประเทศที่มีการพัฒนาด้านนี้ไปแล้วอย่างมาก โดยยกตัวอย่างของประเทศที่มีการให้บริการบรอดแบนด์ที่เพิ่มขึ้น 7% จะส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น 2.4 ล้านคนและมีรายได้เพิ่มขึ้น 92 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ผู้บริหารอินเทลกล่าวว่า หากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กทช.วางนโยบายในการกำหนดรูปแบบการออกใบอนุญาตไวแมกซ์ แบบประมูล บนคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิรตซ์ จะทำให้มีเม็ดเงินเข้าภาครัฐ 284 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะเดียวกัน หากยังไม่มีการเปิดให้ใบอนุญาตภายในปีนี้จะส่งผลเสียต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศประมาณ 5,106 ล้านเหรียญ

“หากเราปล่อยให้ช้าไปกว่านี้อีก3ปีก็จะยิ่งทำให้ประมาณการรายได้ที่ได้จากการประมูลลดลงไปประมาณ 25% รวมทั้งสูญเสียรายได้ทางเศรษฐกิจไปอีก 25%  เช่นกัน”

ในส่วนของการออกใบอนุญาตจากประสบการณ์ของผู้บริหารอินเทลนำเสนอว่า ควรเป็นไลเซนส์ที่ทำให้สามารถเปิดบริการได้ทั่วประเทศจะดีกว่าให้บริการได้เฉพาะภาคใดภาคหนึ่งของประเทศเพื่อมิให้เกิดปัญหาการโรมมิ่งของผู้ได้ไลเซนส์แต่ละรายในภายหลัง อีกทั้งโอเปอเรเตอร์อาจไม่มีแรงจูงใจในการอยากลงทุนหากได้ทำแค่ระดับภูมิภาคแทนที่จะเปิดให้บริการได้ทั่วประเทศ รวมทั้งการกำหนดกรอบไลเซนส์ควรเป็นโครงกว้างๆ และมีความยืดหยุ่นให้ผู้ให้บริการสามารถขยายการให้บริการเมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาบนไลเซนส์เดิมที่ได้

“จากผลการสำรวจผู้ให้บริการในประเทศบราซิลพบว่า การอนุมัติช่องสัญญาณที่กว้างขึ้นจะทำให้จุดคุ้มทุนของการลงทุนของโอเปอเรเตอร์เร็วขึ้น เช่น ในช่วงความถี่ที่กว้าง 10 เมกะเฮิรตซ์ระยะเวลาคุ้มทุนจะอยู่ที่ 10 ปี , ที่ 20 เมกะเฮิรตซ์ จุดคุ้มทุนจะอยู่ที่ 8 ปี และ30 เมกะเฮิรตซ์จะอยู่ที่ 6 ปี และช่วงกว้างของความถี่ที่เหมาะสมไม่ควรอยู่ต่ำกว่า 30 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นระดับที่ทั่วโลกใช้กันอยู่ในปัจจุบัน”

ล่าสุด ทางอินเทลได้เข้านำเสนอข้อมูลเหล่านี้ต่อทางกทช.แล้วเพื่อให้รับทราบแนวทางที่เหมาะสม

Company Related Links :
Intel
กำลังโหลดความคิดเห็น