xs
xsm
sm
md
lg

กลาโหมโชว์ต้นแบบเครื่องอ่านสมาร์ทการ์ดในไทยแลนด์ซอฟต์แวร์แฟร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเสียบบัตรเข้าเครื่องอ่าน ข้อมูลเลขประจำตัวประชาชน ชื่อ วันเกิด ที่อยู่ วันที่ออกบัตร และวันหมดอายุ จะปรากฏบนหน้าจอคอมพิวเตอร์โดยอัตโนมัติ
สำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม กระทรวงกลาโหม ได้ฤกษ์นำต้นแบบเครื่องอ่านข้อมูลสมาร์ทการ์ดมาแสดงในงานไทยแลนด์ซอฟต์แวร์แฟร์ 2009 เตรียมหาผู้ผลิตมาดำเนินการจริงจังเพื่อนำไปใช้ในโรงพยาบาล ธนาคาร ธุรกิจการเช่า ฯลฯ โดยที่หน่วยงานจะไม่ต้องวุ่นวายกับการถ่ายเอกสารบัตรและคีย์ข้อมูลบัตรด้วยมืออีกต่อไป

"มันไม่มีเหตุผลเลยที่เรายังซีร็อกซ์บัตรสมาร์ทการ์ดกันอยู่" พ.อ.สิทธิโชค มุกเตียร์ นักวิชาการพิเศษ สำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหมกล่าวขณะให้ข้อมูลการทำงานของต้นแบบเครื่องอ่านสมาร์ทการ์ดฝีมือการพัฒนาของกระทรวงกลาโหม "ถ้ามีเครื่องอ่านสมาร์ทการ์ด เชื่อว่าธุรกิจที่ต้องเกี่ยวข้องกับการใช้บัตรประชาชนเป็นหลักฐาน เช่นบริษัทประกัน ธนาคาร โรงพยาบาล สาธารณสุข และอื่นๆจะได้ประโยชน์ ไม่ต้องซีร็อกซ์ และไม่ต้องมานั่งพิมพ์ด้วยมือ"

ชิปสีทองที่ฝังอยู่ในบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดรุ่นใหม่นั้นมีหน้าที่หลักคือการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลไว้ภายใน พ.อ.สิทธิโชคให้ข้อมูลว่าชิปจะถูกแบ่งพื้นที่ให้แต่ละกระทรวงหรือหน่วยงานรัฐสามารถเก็บข้อมูลลงในชิป เช่น ข้อมูลประกันสังคม หรือข้อมูลหมายศาล เป็นต้น ทุกวันนี้พื้นที่ดังกล่าวยังว่างอยู่ และข้อมูลในชิปยังไม่ถูกนำไปใช้อย่างจริงจังและแพร่หลาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อจำกัดเรื่องการรองรับระบบของเครื่องอ่านที่มีอยู่ในท้องตลาดปัจจุบัน

สำหรับต้นแบบเครื่องอ่านสมาร์ทการ์ดของกลาโหม เมื่อเสียบบัตรเข้าเครื่องอ่าน ข้อมูลเลขประจำตัวประชาชน ชื่อ วันเกิด ที่อยู่ วันที่ออกบัตร และวันหมดอายุ จะปรากฏบนหน้าจอคอมพิวเตอร์โดยอัตโนมัติ จากการสาธิตพบว่า ข้อความสามารถปรากฏบนโปรแกรม Notepad ของไมโครซอฟท์ จุดนี้พ.อ.สิทธิโชคระบุว่าสามารถรองรับได้ทุกระบบปฏิบัติการ รวมถึง DOS เนื่องจากใช้หลักการทำงานเหมือนคีย์บอร์ดทั่วไป ที่จะสามารถป้อนข้อมูลตัวอักษร (String) ขึ้นสู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ และหากใช้ร่วมกับโปรแกรมพิเศษ ก็สามารถดึงภาพถ่ายและข้อมูลแต่ละชนิดในบัตรเข้าสู่แบบฟอร์มได้ด้วย

"เราไม่ได้ใช้ซอฟต์แวร์ แต่เอา String โยนเข้าไป จริงๆเครื่องอ่านแบบนี้ก็มีในปัจจุบัน แต่มักจะเป็นโปรแกรมที่รองรับวินโดวส์ ธนาคารไม่สามารถนำไปใช้ได้เพราะระบบธนาคารมักไม่ใช่วินโดวส์ ผลก็คือเครื่องอ่านแบบนี้ไม่ได้ถูกนำไปใช้งานมากเท่าที่ควร"

พ.อ.สิทธิโชคระบุว่าต้นแบบเครื่องอ่านข้อมูลสมาร์ทการ์ดนี้ถูกพัฒนามานานกว่า 2 ปีแล้วบนงบประมาณแผ่นดินมูลค่าหลักล้านบาท ต้นทุนการพัฒนาคือ 1,800 บาทคาดว่าจะลดลงเหลือ 1,500 บาทหากผลิตเป็นจำนวนมาก ขณะนี้โครงการกำลังมุ่งหวังให้มีบริษัทเอกชนเสนอตัวเป็นผู้ผลิตเพื่อทำการตลาดเครื่องอ่านนี้ในเชิงพาณิชย์ ผู้สนใจสามารถติดต่อที่สำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหมได้โดยตรง

"ผมเสียดาย สมาร์ทการ์ดกว่าจะมาถึงวันนี้เราผ่านมาเยอะมาก เราต้องร่างทีโออาร์ เข้าค.ร.ม. ต้องทำอะไรตั้งหลายอย่างกว่าจะได้มา เหมือนเราซื้อรถแพงๆแต่เราใช้งานไม่คุ้ม ผมยกตัวอย่างในโรงพยาบาล-สาธารณสุข ถ้าใช้เครื่องนี้ เราจะสามารถเรคคอร์ดได้หมด ใครมาใช้บริการบ้าง ใครใช้บริการอะไรมาก สามารถนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์ต่อยอดได้อีก"

ใครที่เคยสงสัยว่าชิปอิเล็กทรอนิกส์ในบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดนั้นมีไว้ใช้งานอะไร สามารถหาคำตอบได้ที่งานไทยแลนด์ซอฟต์แวร์แฟร์ 2009 กำหนดจัดงานถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ ที่พารากอนฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน

Company Related Links :
Thailand Software Fair 2009
พ.อ.สิทธิโชค มุกเตียร์ นักวิชาการพิเศษ สำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม กับต้นแบบเครื่องอ่านข้อมูลสมาร์ทการ์ด
กำลังโหลดความคิดเห็น