เอชพีเปิดยุทธศาสตร์ธุรกิจกลุ่มทีเอสจีรอบปี 52 มุ่งเน้น 4 แนวทางหลัก บุกหนักธุรกิจเอาต์ซอร์สซิ่งหลังซื้อกิจการอีดีเอส ขณะเดียวกันประกาศลดต้นทุนการดำเนินงานทั่วโลกพันล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมโชว์ผลการดำเนินงานรอบปี 51 ซึ่งทำรายได้อยู่ที่ 118.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ โต 13%
นายอลัน เซ็ดจีห์ กรรมการผู้จัดการ และผู้จัดการทั่วไป กลุ่มธุรกิจ เทคโนโลยี โซลูชันส์ กรุ๊ป (ทีเอสจี) บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (ประเทศไทย) หรือเอชพี กล่าวถึงกลยุทธ์การตลาดปี 2552 ของกลุ่มทีเอสจีว่า เอชพีจะมุ่งเน้น 4 แนวทางหลักประกอบด้วย 1.สานต่อแนวคิด Business Technology หรือบีที ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญทางไอทีที่จะช่วยสร้างความ สำเร็จทางธุรกิจ เพราะจากประสบการณ์ที่ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับลูกค้า ในการช่วยบริหารจัดการต่อความเสี่ยงของธุรกิจ เอชพีเข้าใจว่าเทคโนโลยีไม่ได้เป็นเพียงตัวช่วยในการสนับสนุนและลดความเสี่ยงของธุรกิจเท่านั้น แต่เทคโนโลยียังสามารถช่วยขับเคลื่อนและสร้างความเติบโตทางธุรกิจได้
2.เดินหน้าขยายสายผลิตภัณฑ์และการให้บริการ ซึ่งปีนี้เอชพีมุ่งมั่นในการขยายสายผลิตภัณฑ์ และให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่มีความโดดเด่นในอนาคต ประกอบไปด้วย ผลิตภัณฑ์เซิร์ฟเวอร์และสตอเรจสำหรับกลุ่มองค์กรธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ที่จะสร้างความเป็นผู้นำในโซลูชันที่ใช้สำหรับธุรกิจ CME (Communications, Media & Entertainment), โซลูชัน business information optimization และโซลูชันการบริหารจัดการไอทีและระบบการทำงานอัตโนมัติ การบริการทางด้านเทคโนโลยี (ทีเอส) ที่จะสานต่อการขยายการบริการที่ซื้อควบคู่ไปกับผลิตภัณฑ์ และต่อยอดจากการจำหน่ายพอร์ตโฟลิโอและโซลูชันที่หลากหลายให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น ผลิตภัณฑ์ Procurve ซึ่งจะเน้นเพิ่มยอดจำหน่าย และต่อยอดจากการบริการด้านเครือข่ายของหน่วยธุรกิจทีเอส รวมถึงการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เซิร์ฟเวอร์และสตอเรจควบคู่กัน
เอชพีมั่นใจว่าจะสามารถรักษาและขยายส่วนแบ่งทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ในแต่ละกลุ่มไว้ได้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกัน ยังสามารถควบคุมด้านราคาและโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้ นอกจากนี้ เอชพียังเห็นถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วในเทคโนโลยีบางกลุ่ม เช่น เทคโนโลยีเบลด, เวอร์ชวลไลเซชัน, การแปลงสภาพศูนย์ข้อมูล (Data Center Transformation), โซลูชัน Scalable and Cloud Computing และโดยเฉพาะเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Technology ที่สำคัญเทคโนโลยีทั้งหมดจะช่วยพัฒนาประสิทธิภาพขององค์กรในด้านการประหยัดพลังงาน ลดค่าใช้จ่าย และรักษาสิ่งแวดล้อม
3.จับมือพันธมิตรทางการค้าเพื่อความสำเร็จทางธุรกิจ ซึ่งในปี 2552 รูปแบบการดำเนินธุรกิจที่สำคัญของเอชพี คือการร่วมมือกับพันธมิตรทางการค้าในทุกกลุ่ม เช่น พันธมิตรในกลุ่ม Alliance ประกอบด้วย SAP, Oracle และ BEA พันธมิตรด้านเทคโนโลยี ประกอบด้วย Intel, AMD และ Microsoft คู่ค้าที่เจาะกลุ่มลูกค้าองค์กร รวมทั้ง VAR และ SI เพื่อการรักษาตำแหน่งความเป็นผู้นำของเอชพี
"เราจะมุ่งสู่โอกาสที่เปิดกว้างทั้งในกลุ่มองค์กรธุรกิจ ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก รวมถึงในส่วนของภาครัฐ ซึ่งในปีนี้เอชพีเล็งเห็นถึงโอกาสทางการตลาดในการขยายส่วนแบ่งทางการตลาดในกลุ่มพอร์ตโฟลิโอที่มีส่วนต่างค่อนข้างสูง เช่น ซอฟต์แวร์ สตอเรจ และการบริการของหน่วยธุรกิจทีเอส"
4.เพิ่มความพึงพอใจสำหรับลูกค้า ซึ่งเอชพีมีความตั้งใจในการรักษาระดับความเติบโตของรายได้ควบคู่ไปกับการเพิ่มความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า เอชพีมีความเป็นผู้นำไม่ใช่เพียงด้านเทคโนโลยีเท่านั้น แต่รวมถึงการให้บริการด้วยเช่นกัน โดยในปีหน้าเอชพีจะมีโครงการใหม่ๆ เพื่อประเมินความพึงพอใจและความเชื่อมั่นของลูกค้าประจำของเอชพี และมุ่งมั่นที่จะเพิ่มความพึงพอใจและความภักดีของลูกค้าให้มากขึ้น
“ขณะนี้ทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับความท้าทายจากสภาพเศรษฐกิจอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เอชพีมีความมั่นใจว่าด้วยคุณภาพของพนักงานของเรา ความหลากหลายของพอร์ตโฟลิโอด้านผลิตภัณฑ์และโซลูชันชั้นนำระดับโลก ความร่วมมืออย่างแข็งแกร่งกับพันธมิตรทางการค้า และแนวทางอันมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่หลากหลายของเอชพี จะสามารถเป็นพื้นฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการรับมือกับความท้าทายต่างๆ และช่วยรักษาตำแหน่งความเป็นผู้นำในวงไอทีของเอชพีได้”
นอกจากนี้ เอชพียังรุกหนักในธุรกิจเอาต์ซอร์สซิ่งหลังซื้อกิจการอีดีเอสที่มีความแข็งแกร่งด้านนี้เข้ามาเสริมของเดิมที่มีอยู่แล้ว และจะเป็นอีกหน่วยธุรกิจของเอชพี พร้อมกันนี้ เอชพีได้วางแผนที่จะลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจทั่วโลกถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐโดยจะลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และจากบุคลากรที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพทำงาน ส่วนงบด้านวิจัยและพัฒนาปีหน้าจะใช้กว่า 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ
พร้อมกันนี้ เอชพีได้ประกาศผลประกอบการในไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2551 โดยมีรายได้สุทธิที่ 33.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นมาจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 19 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 เมื่อปรับตัวเลขตามกระแสค่าเงิน ส่วนอัตราการเติบโตของรายได้สุทธิประจำปีซึ่งไม่รวมรายได้ของอีดีเอส เพิ่มขึ้นมาจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 5 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อปรับตัวเลขตามกระแสค่าเงิน
ผู้บริหารเอชพีกล่าวถึงรายได้สุทธิตลอดปีงบประมาณ 2551 ว่า มีมูลค่ารวม 118.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ โต 13% หรือ 8% เมื่อมีการปรับตามกระแสค่าเงิน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่วนผลกำไรจากการดำเนินงานตาม GAAP มีมูลค่า 10.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และผลรายได้ต่อหุ้นปรับลดตาม GAAP อยู่ที่ 3.25 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 2.68 เหรียญสหรัฐในช่วงปีที่ผ่านมา ส่วนผลกำไรจากการดำเนินงานตาม Non-GAAP มีมูลค่ารวม 11.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ และผลรายได้ต่อหุ้นปรับลดตาม Non-GAAP อยู่ที่ 3.62 เหรียญสหรัฐ สูงขึ้นจาก 2.93 เหรียญสหรัฐในช่วงปีที่ผ่านมา ส่วนข้อมูลทางการเงินแบบ Non-GAAP ไม่รวมมูลค่าที่ปรับหลังการหักภาษีจำนวน 973 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 0.37 เหรียญสหรัฐต่อหุ้นปรับลด ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดจากบัญชีตัดจำหน่ายของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่ได้ซื้อมา, ค่าใช้จ่ายในการปรับรื้อโครงสร้าง, ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเข้าซื้อกิจการ และค่าใช้จ่ายในโครงการวิจัยและการพัฒนาที่กำลังดำเนินการ
“แม้สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจในปัจจุบันยังคงมีความผันผวน แต่เอชพีก็ยังสามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางธุรกิจในปีที่ผ่านมาได้ สามารถรักษาระดับความเติบโตไว้ได้เป็นอย่างดี ”
Company Related Links :
HP