xs
xsm
sm
md
lg

วงเสวนาชี้เศรษฐกิจซบบรอดแบนด์ไทยอนาคตดับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ :นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธาน มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนา ประเทศไทย
ทีดีอาร์ไอเผยกลางเวที Thailand Broadband Forum แนวโน้ม บรอดแบนด์ไทยไม่สดใส ตัวเลขผู้ใช้งานลดลง ปี 49 มี 49.52 % แต่ปี 50 เหลือ 46.2% ด้าน กทช.ห่วงผู้ประกอบการรายเดิมไม่มีเงินลงทุนเพราะการเงินแย่จากพิษเศรษฐกิจ แนะทางออกให้สิทธิพิเศษ BOI ลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตค่าธรรมเนียมเลขหมาย หรือให้ใบอนุญาตเทคโนโลยีใหม่เพื่อเป็นทางเลือก ด้านอินเทลชี้กทช.มีหน้าที่แค่ออกไลเซนส์ใหม่ ที่เหลือผู้ประกอบการดิ้นรนเอง

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธาน มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยในงานเสวนาเรื่อง “Thailand Broadband Forum 2008” ว่า จากการวิเคราะห์ตัวเลขการสำรวจผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือบรอดแบนด์ในประเทศไทยพบว่า มีแนวโน้มไม่สดใสเพราะมีอัตราการโตลดลง โดยปี 2549 สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจผู้ใช้บรอดแบนด์จำนวน 30,000 ครัวเรือน จากจำนวนครัวเรือนในประเทศไทยทั้งสิ้น 16 ล้านครัวเรือน มีปริมาณการใช้บรอดแบนด์เพิ่มขึ้น 49.52% แต่ในปี 2550 การเติบโตของบรอดแบนด์กลับมีเพียง 46.2 %

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในปี 2548 จำนวน 7.1 ล้านราย ปี 2549 เติบโตจากปีก่อนหน้า 20 % ที่มีผู้ใช้จำนวน 8.4 ล้านราย และปี 2550 เติบโตจากปีก่อนเพียง 10 % มีจำนวนผู้ใช้บรอดแบนด์ 9.3 ล้านคน ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าแนวโน้มการเติบโตไม่เป็นแบบก้าวกระโดด

“ตัวเลขที่ได้ ส่งผลให้เห็นสัญญาณไม่สดใสของบรอดแบนด์ในประเทศไทย เพราะการเติบโตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตลดลงแทนที่จะมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด ทั้งตัวเลขการใช้งานบรอดแบนด์ของคนในประเทศยังมีตัวเลขลดลงอีกด้วย ปัจจุบันประเทศไทยถูกจัดอันดับให้มีการใช้งานบรอดแบนด์อยู่ที่ 70 กว่าของโลก” นายสมเกียรติกล่าว

นายอาจิน จินรชีพพัฒนา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาครัฐได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ เพื่อช่วยให้การพัฒนาไอซีทีของประเทศเป็นไปตามแนวทางที่วางไว้ โดยได้เน้นผลักดันให้เป็นเสมือนสาธารณูปโภคที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะบรอดแบนด์ที่ภาครัฐเล็งเห็นว่าเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่จะช่วยผลักดันศักยภาพของประเทศให้ดีขึ้นเทียบเท่าต่างชาติ และขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอแผนยุทธศาสตร์ปี 2552-2556 เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

นายพิทยาพล จันทนะสารโร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. กล่าวว่า บรอดแบนด์ถือเป็นเครื่องมือในการติดต่อที่สำคัญชนิดหนึ่งที่จำเป็นในปัจจุบัน แต่ความต้องการใช้งานของผู้บริโภคในปัจจุบันขึ้นอยู่กับรายได้เฉลี่ยของประชาชนในประเทศหากรายได้เฉลี่ยยังต่ำความต้องการใช้งานก็จะลดลงตาม

แต่ยอมรับว่าระดับความก้าวหน้าของบรอดแบนด์ปัจจุบันยังต่ำกว่าระดับศักยภาพของประเทศ และยังพบว่าผู้ประกอบการรายเดิมที่ให้บริการบรอดแบนด์ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทีทีแอนด์ที ทรู ซึ่งเป็นเอกชน และทีโอที ไม่มีเงินทุนมากพอ เนื่องจากประสบปัญหาด้านการเงินต่อเนื่อง เพราะการลงทุนหากคำนวณคราวๆ ต้นทุนค่าแอกเซ็สอยู่ที่พอร์ตละ 3,000 บาท หากต้องการบรอดแบนด์ 3 ล้านพอร์ตต้องใช้เงินลงทุน 3 หมื่นล้านบาทรวมกับเงินลงทุน คอลแอ็กเซส 2 หมื่นล้านบาท รวมเป็นเงินลงทุนถึง 5 หมื่นล้านบาท เชื่อว่าผู้ประกอบการรายเดิมไม่มีเรี่ยวแรงพอที่จะลงทุน

อย่างไรก็ดี จากปัจจัยดังกล่าวมีทางออกคือ 1.การเปิดให้มีการลงทุนแบบ BOI คือการให้สิทธิพิเศษในการลงทุนเพื่อจูงใจให้มีการลงทุน 2. ทำให้ผู้ประกอบการรายเดิมที่อยู่ในตลาดมีกำไรสูงขึ้น เช่น กทช.อาจจะปรับลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาต หรือค่าเลขหมายเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการรับภาระต้นทุนลดลง 3. มีทางเลือกด้านเทคโนโลยีใหม่ให้กับผู้ประกอบการ โดยการพิจารณาการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมนั้นผู้ประกอบการสามารถพิจารณาเองได้

นายเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์(ประเทศไทย ) กล่าวว่า กระทรวงไอซีที ในฐานผู้กำหนดนโยบายและเอื้อประโยชน์จูงใจให้เกิดการลงทุนเทคโนโลยี และกทช.ในฐานผู้กำกับดูแล ควรมีนโยบายหรือแผนการที่เป็นรูปธรรมในการสร้างความเข้าใจแก่คนในประเทศถึงความจำเป็นและประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้งานบรอดแบนด์ โดยการกำหนดการเข้าถึงข้อมูล ที่ชัดเจนของหน่วยงานภาครัฐด้วยการสร้างบริการที่สามารถเข้าถึงโดยบรอดแบนด์ได้ เช่น การทำธุรกิจทางอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากร เป็นต้น

นอกจากนี้ กทช.ไม่ควรสนใจหรือให้ความสำคัญว่าผู้ประกอบการรายเดิมจะมีเงินทุนหรือศักยภาพในการลงทุนหรือไม่เพราะไม่ใช่หน้าที่ต้องกังวล แต่ กทช .ควรเดินหน้าออกใบอนุญาตใหม่ที่เป็นประโยชน์ในการขยายการให้บริการบรอดแบนด์ออกไปในพื้นต่างจังหวัด เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการต่างร้องขอและรอให้ กทช.ออกใบอนุญาตใหม่ และเชื่อว่าถึงตอนนั้นผู้ประกอบการมีแผนหาเงินลงทุนเมื่อเห็นว่าการลงทุนเกิดผลประโยชน์แก่บริษัทในระยะยาว

นายไพศาล กวียานันท์ รองประธานบริหาร ฝ่ายการตลาดและฝ่ายขาย บริษัท ทริปเปิลทีบรอดแบนด์ กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมในการลงทุนหากกทช.มีการให้ใบอนุญาตใหม่ โดยเฉพาะเทคโนโลยีไวร์เลสที่มีต้นทุนการลงทุนต่ำกว่าการลากสาย

นายนนท์ อิงคุทานนท์ General Manager บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต และทรูออนไลน์ บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า บริษัทพร้อมมีการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่เช่นกัน หากการลงทุนนั้นเห็นผลในระยะกลางและระยะสั้น โดยการลงทุนด้วยการลากสายแบบเดิมมีข้อจำกัดเพราะมีต้นทุนการลงทุนสูงโดยเฉพาะสายทองแดงใช้เงินลงทุนถึง 70%

Company Related Links :
TDRI
กำลังโหลดความคิดเห็น