xs
xsm
sm
md
lg

ไทยหลุดวงโคจรพัฒนา"Cloud"ของIBM

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไอบีเอ็ม (IBM) ประกาศความคืบหน้าการพัฒนาเทคโนโลยีการประมวลผลกลุ่มเมฆหรือ Cloud Computing ของบริษัทในงาน IBM Insight 2008 เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สรุปคือ ศูนย์วิจัยและพัฒนา Cloud Computing ของไอบีเอ็มในเอเชียแปซิฟิกอยู่ที่ 5 เมืองหลัก ปักกิ่ง บังกาลอร์ โตเกียว โซล และฮานอย แม้ไทยจะหลุดวงโคจรการพัฒนาเทคโนโลยีเมฆสุดฮิต แต่ไอบีเอ็มยังหยอดยาหอมว่าโอกาสเติบโตของธุรกิจทุกประเภทในประเทศไทยยังดีอยู่ ยืนยันเหมือนบริษัทเทคโนโลยีส่วนใหญ่ที่เชื่อว่าธุรกิจงานบริการด้านไอทีของบริษัทจะดีแน่นอนไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือเลวร้ายสักเพียงใด

ท็อด เคิร์ตเลย์ ผู้จัดการทั่วไป ไอบีเอ็มภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวในงาน IBM Asia Pacific Insights 2008 งานประจำปีที่ไอบีเอ็มจัดขึ้นเป็นปีที่ 10 ว่า การลงทุนของไอบีเอ็มในขณะนี้เน้นการสร้างเทคโนโลยีศูนย์กลางข้อมูลธุรกิจยุคใหม่ เทคโนโลยีที่ทำให้องค์กรใช้ประโยชน์สูงสุดจากระบบไอที และเทคโนโลยีไอทีสีเขียวเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม

“เราจะลงทุนในส่วนการวิจัยพัฒนาระบบ การร่วมมือกับวิศวกรและนักวิจัยในแต่ละท้องถิ่น และการพัฒนาบุคลากรที่ปรึกษางานไอทีที่ไอบีเอ็มมีอยู่กว่า 8,500 ราย ซึ่งเป็นผู้ให้บริการติดตั้งระบบเซิร์ฟเวอร์ ระบบสตอเรจสำหรับเก็บข้อมูล ระบบศูนย์ข้อมูล และไอทีสีเขียวทั่วโลก”

งานนี้ไอบีเอ็มกล่าวถึงการร่วมมือกับนักวิจัยในท้องถิ่นหลากหลายประเทศซึ่งไม่ใช่ประเทศไทย เฉพาะเรื่องเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง ไอบีเอ็มเปิดศูนย์วิจัยเทคโนโลยีนี้ใน 9 เมืองใหญ่ สหรัฐฯ ไอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี บราซิล อินเดีย และเวียดนาม (การตั้งศูนย์ในเวียดนามเกิดขึ้นเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา) โดยผู้บริหารไอบีเอ็มเชื่อว่า บริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคมหรือ Telco จะเป็นกลุ่มตลาดหลักของคลาวด์คอมพิวติ้งในอนาคต

คลาวด์คอมพิวติ้งเป็นรูปแบบการประมวลผลใหม่บนระบบคอมพิวเตอร์ที่มีทรัพยากรจำนวนมหาศาล ข้อมูลขนาดมหึมา และขยายตัวได้ไม่จำกัดเหมือนก้อนเมฆ ดร.เจย์ สุบราห์โมเนีย (Jay Subrahmonia) ผู้อำนวยการฝ่ายโซลูชันออนดีมานด์ประสิทธิภาพสูง จากสถาบันวิจัยไอบีเอ็มในซิลิกอนวัลเลย์ เชื่อว่าบริษัทโทรคมนาคมเน้นความสามารถในการรับส่งบริการที่รวดเร็วจนมีการเอาท์ซอร์สระบบไอทีไปยังบริษัทอื่นบ่อยครั้ง ดร.เจย์จึงเชื่อว่าคลาวด์คอมพิวติ้งนั้นเหมาะสำหรับการขยายงานของบริษัทโทรคมฯเหล่านี้

ดร.เจย์บอกว่าไม่มีข้อมูลว่าศูนย์วิจัยคลาวด์คอมพิวติ้งต่อไปของไอบีเอ็มจะถูกจัดตั้งขึ้นในพื้นที่ใดของโลก ปัจจัยบางส่วนขึ้นอยู่กับความต้องการตลาดในขณะนั้น และเหตุผลที่ไอบีเอ็มไม่ไปเปิดศูนย์วิจัยที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหราชอาณาจักรหรือยุโรป เป็นเพราะในประเทศเหล่านี้มีการวิจัยในรูปแบบพันธมิตรอยู่แล้ว

ลูกค้าคลาวด์คอมพิวติ้งรายล่าสุดของไอบีเอ็มคือบริษัทร่วมทุนของเวียดนาม Vietnam Technology and Telecommunications Joint Stock Company หรือ VNTT โดย VNTT จะให้บริการลูกค้าด้วยระบบการทำงานร่วมกันหรือ collaboration บนระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง ทั้งระบบอีเมล Lotus Domino และระบบอินทราเน็ตอย่าง WebSphere Portal Express ดีลที่เกิดขึ้นยิ่งเป็นการยกระดับเวียดนามให้เป็นประเทศที่มีจุดยืนเรื่องคลาวด์คอมพิวติ้งที่แข็งแกร่งขึ้นอีก

นอกจากบริษัทโทรคมนาคม อีกกลุ่มตลาดที่ดร.เจย์เชื่อว่าจะเปิดรับเอาเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งไปใช้อย่างมากคือภาคการศึกษาและบริการสาธารณะ

ไทยโตเป็นที่สามในอาเซียน

นิชาน วีราซิงห์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของไอบีเอ็มภูมิภาคอาเซียนยืนยันว่ายังคงเห็นโอกาสเติบโตที่ดีของตลาดอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดที่มีการขยายตัวสูงเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากจีนและอินเดีย มูลค่าตลาดไอทีรวมกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเติบโต 9% ในอีกสามปีข้างหน้า โดยเวียดนามคือประเทศที่มีอัตราเติบโตสูงที่สุดในภูมิภาค 18.3% รองลงมาคือฟิลิปปินส์ 11.8% และไทย 11.7%

สำหรับประเทศไทย นิชานมองว่ากลุ่มธุรกิจที่จะผลักดันให้ตลาดไอทีขยายตัวคือภาคธนาคาร บริษัทให้บริการโทรคมนาคม อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ธุรกิจให้บริการด้านสุขภาพหรือเฮลธ์แคร์ และกลุ่มเอสเอ็มอี การเมืองและวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศไม่มีผลกระทบใดๆเพราะบริษัทยังคงมีความท้าทายในการพัฒนาประสิทธิภาพของบริษัทอยู่แล้ว

"ความท้าทายของไอบีเอ็มคือการทำให้ซีไอโอเข้าใจเรื่องไอทีเป็นเรื่องของธุรกิจ เข้าใจว่าการลงทุนไอทีคือการต่อยอดทางธุรกิจ"

เรื่องนี้ไอบีเอ็มพูดถึงมากตลอดการประชุม โดยนำเสนอในแนวคิด"ทำซอฟต์แวร์ให้เป็นสินทรัพย์" หวังจุดประกายให้องค์กรใช้ซอฟต์แวร์เป็นเครื่องมือเพิ่มคุณค่างานบริการ สินทรัพย์ และทรัพย์สินทางปัญญาขององค์กร หนึ่งในหลายตัวอย่างน่าสนใจที่ไอบีเอ็มหยิบมาพูดถึงคือระบบ Cobra เครื่องมือเว็บ 2.0 เพื่อจัดการภาพลักษณ์ตราสินค้าของบริษัทที่สามารถดึงข่าวหรือบทความทุกชิ้นบนอินเทอร์เน็ตมาเก็บไว้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจด้านกลยุทธ์สร้างแบรนด์ และระบบขนส่งอัจฉริยะที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี GPS ให้องค์กรสามารถบริหารจัดการงานขนส่งของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ล่าสุดไอบีเอ็มได้ซื้อหุ้นจำนวน 20% จากบริษัท Hisense TransTech (HTT) บริษัทให้บริการระบบบริหารงานจราจรสัญชาติจีน ซึ่งให้บริการทั้งระบบบริหารงานทางหลวง ระบบขนส่งสาธารณะ และระบบลอจีสติกขององค์กรเอกชน ไอบีเอ็มเชื่อว่าจะสามารถเสริมความแกร่งให้กับบริการระบบขนส่งของทั้งสองบริษัทได้

"ในอาเซียน ไอบีเอ็มติดตั้งระบบจัดการทางหลวงที่สิงคโปรแห่งเดียวแต่เชื่อว่าจะขยายตัวต่อไปอีก สำหรับโอกาสที่จะติดตั้งระบบในกรุงเทพฯนั้นขึ้นอยู่กับนโยบายของหน่วยงานรัฐ"

ไอบีเอ็มบอกว่าธุรกิจที่ตัวเองเรียกว่า Global Business Services หรือ GB ธุรกิจให้บริการและคำปรึกษาระบบไอทีแก่บริษัทต่างๆนั้น ทำรายได้ให้ไอบีเอ็มสูงที่สุด เฉพาะในเอเชียแปซิฟิก ธุรกิจนี้สามารถทำเงินให้ไอบีเอ็มราว 5 พันล้านเหรียญ สูงกว่าคู่แข่งมากกว่า 2 เท่า ข้อมูลจากการ์ทเนอร์ทำให้ไอบีเอ็มกลายเป็นผู้ให้บริการไอทีอันดับหนึ่งในภูมิภาค ซึ่งไอบีเอ็มจะยืนหยัดพัฒนาธุรกิจนี้ให้ขยายตัวในอาเซียนด้วยการร่วมมือกับพันธมิตรให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้น

หนึ่งในพันธมิตรที่สำคัญของไอบีเอ็มคือภาคการศึกษา ไอบีเอ็มบอกว่าจะผลักดันให้มหาวิทยาลัยในอาเซียนบรรจุหลักสูตร SSME หรือ Service Science Management and Engineering ซึ่งไอบีเอ็มออกแบบมาเพื่อผลิตบุคลากรที่มีความรู้ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์การจัดการ กลยุทธ์ธุรกิจ และวิศวอุตสาหกรรม ที่บริษัทในอุตสาหกรรมงานบริการไอทีอย่างไอบีเอ็มมีความต้องการสูง สำหรับประเทศไทยไอบีเอ็มเริ่มโครงการกับ 8 มหาวิทยาลัยแล้วในขณะนี้

ภายในงาน ไอบีเอ็มโชว์เทคโนโลยีดาต้าเซ็นเตอร์ประหยัดพลังงานหลากหลายเทคโนโลยี รวมถึงเปิดตัว Cognos 8 v4 ซอฟต์แวร์เพื่อการใช้งานข้อมูลแบบออนดีมานด์ตามต้องการ การันตีว่าจะสามารถช่วยให้ดึงข้อมูลขององค์กรมีประโยชน์และง่ายยิ่งขึ้น สามารถใช้งานบนโทรศัพท์มือถือได้

Company Related Links :
IBM
กำลังโหลดความคิดเห็น