xs
xsm
sm
md
lg

BSA บอกมีชื่อ 100 บริษัทในมือ ขีดเส้น15ต.ค.จับแน่ถ้าไม่เลิกใช้ซอฟต์แวร์ผี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ มร. ดรุณ ซอว์นีย์  ผู้อำนวยการฝ่ายปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ ประจำภูมิภาคเอเชียของบีเอสเอ
กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (บก. ปศท.) และกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) ร่วมกันประกาศให้เวลาองค์กรที่ใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนกลับใจภายใน 30 วันนี้ ไม่เช่นนั้นตำรวจทุกฝ่ายจะดำเนินการกับองค์กรอย่างเข้มงวดหลังวันที่ 15 ตุลาคม ย้ำชัดไม่ได้ขู่ แต่มีชื่อบริษัทในมือแล้วกว่า 100 บริษัท และเปอร์เซ็นต์ผิดพลาดจากประวัติการจับกุมมีน้อยมาก

หลังจากบีเอสเอโหมเผยแพร่ความรู้แก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญามานาน ล่าสุดบีเอสเอแถลงข่าวเปิดตัวโครงการป้องปรามซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ครั้งใหม่นำโดย บก. ปศท. ว่าบีเอสเอได้ขอความร่วมมือจาก บก.ปศท. ในการดำเนินคดีตามกฎหมายต่อผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรอย่างจริงจังในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ก่อนจะลงมือจับกุมจึงต้องการประกาศเตือนว่า องค์กรธุรกิจยังมีระยะเวลาในการปรับเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องอีก 30 วัน

“ครั้งนี้ถือเป็นการเตือนให้องค์กรธุรกิจได้รับทราบอีกครั้งหนึ่งว่า จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ให้การติดตั้งและใช้งานซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ยุติลง” พ.ต.อ. ศรายุทธ พูลธัญญะ รองผู้บังคับการ บก.ปศท. กล่าว โดยบอกว่าพอใจกับผลการดำเนินงานปราบปรามซอฟต์แวร์เถื่อนในช่วงครึ่งปีแรก และเชื่อว่าจะทำได้ดียิ่งขึ้นไปอีกในครึ่งปีหลัง “ตำรวจจะบังคับใช้กฎหมายกับองค์กรและผู้บริหารขององค์กรนั้นอย่างจริงจัง เพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษซึ่งมีทั้งจำคุกและปรับในอัตราที่สูง”

ประชาสัมพันธ์ของบีเอสเอให้ข้อมูลว่า ขณะนี้บีเอสเอมีรายชื่อในมือประมาณ 100 บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ เบาะแสหลักได้มาจากสายด่วนรายงานการใช้ซอฟต์แวร์ผิดลิขสิทธิ์ในองค์กรที่บีเอสเอเพิ่งปรับเพิ่มเงินรางวัลสูงสุด 500,000 บาทจาก 250,000 บาทเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยเบาะแสเหล่านี้มีการตรวจสอบอย่างละเอียดก่อนลงมือจับกุม ซึ่งสถิติการจับกุมที่ผ่านมากว่า 90 เปอร์เซ็นต์ไม่ผิดพลาด

การจับกุมของบีเอสเอในปีนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคมนั้นกระจายตัวอยู่ในกทม. เชียงใหม่ อยุธยา และเมืองนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่าง ชลบุรีและฉะเชิงเทรา ทั้งหมดประมาณ 40 บริษัท มูลค่าความเสียหายซอฟต์แวร์มากกว่า 125 ล้านบาท

มร. ดรุณ ซอว์นีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ ประจำภูมิภาคเอเชียของบีเอสเอกล่าวเสริมด้วยว่า “ความเป็นจริงคือ แม้กระทั่งซอฟต์แวร์ที่พัฒนาโดยบริษัทคนไทย ราคาเพียง 199 บาทก็ยังพบว่าถูกละเมิดและใช้กันทั่วไปในองค์กรธุรกิจ นี่เป็นการเตือนล่วงหน้า 30 วันให้ธุรกิจเคารพสิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญาของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์”

อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ. ศรายุทธให้ข้อมูลว่า คดีส่วนใหญ่ที่ทำการจับกุมนั้นสามารถตกลงยอมความกันได้ โดยตำรวจไม่มีส่วนร่วมกับการชำระค่าลิขสิทธิ์ระหว่างองค์กรและบริษัทผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์

ผู้ที่ต้องการแจ้งเบาะแสการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในองค์กรธุรกิจ สามารถโทรแจ้งได้ที่ สายด่วนต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ 02-711-6193 ข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ รายละเอียดในเรื่องนี้สามารถหาอ่านได้จากเว็บไซต์ www.stop.in.th หรือ www.bsa.org

Company Related Links :
BSA
กำลังโหลดความคิดเห็น