คำว่าผมไม่เหนื่อยนั้นเป็นหนึ่งใน 9 คำตอบจากปาก "ดรุณ ซอว์นีย์" ชายวัย 46 ปีคนนี้เป็นแม่ทัพหลักในการทำงานร่วมกับตำรวจและหน่วยราชการ เพื่อปราบปรามการใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนขององค์กรธุรกิจในประเทศไทย ออกหน้าแทนบริษัทซอฟต์แวร์รายใหญ่ของโลกอย่างอโดบี แอปเปิล หรือไซแมนเทค ฯลฯ ที่ลงขันเงินทุนตั้งคณะทำงานขึ้นมาเก็บกวาดซอฟต์แวร์เถื่อนในสำนักงานอย่างจริงจัง ซึ่งแน่นอนว่าภาระกิจนี้ไม่ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก แต่ดรุณก็เชื่อว่าจะไม่ได้ยากเท่ากับการงมเข็มในมหาสมุทร
ตำแหน่งอย่างเป็นทางการของดรุณ คือผู้อำนวยการฝ่ายปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ ประจำภูมิภาคเอเซีย ของกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์หรือบีเอสเอ (Business Software Alliance) บริษัทซอฟต์แวร์สัญชาติไทยที่เป็นสมาชิกกลุ่มนี้คือไทยซอฟต์แวร์ (ผู้ผลิตซอฟต์แวร์พจนานุกรม ThaiSoftware Dictionary) ยอดจับกุมซอฟต์แวร์เถื่อนตั้งแต่ต้นปีนี้มีมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท
1) เหนื่อยไหมกับตำแหน่งมือปราบซอฟต์แวร์เถื่อน
ไม่เหนื่อยครับ ผมคิดว่าเป็นงานที่น่าสนใจ ประกอบกับเคยเป็นตำรวจในฮ่องกง และทำงานปราบปราบหนังเถื่อนให้กับ MPA (Movie Picture Association) มาก่อน ส่วนตัวผมคิกว่าไม่หนักใจและคิดว่างานปราบปรามซอฟต์แวร์เถื่อนเป็นงานที่ท้าทาย ซึ่งต้องทำทั้งการปราบปรามและการให้ความรู้เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้ซอฟต์แวร์
หากเปลี่ยนพฤติกรรมได้ประโยชน์ก็จะเกิดขึ้นในระยะยาว ประเทศจะมีนักพัฒนาซอฟต์แวร์มากขึ้น เศรษฐกิจก็จะเจริญเติบโตตามไปด้วย ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ของไทยเองก็ถูกละเมิดไม่น้อย อย่างเช่น บริษัท ไทยซอฟต์แวร์ เกือบทุกครั้งที่ดำเนินการจับกุมจะพบซอฟต์แวร์พจนานุกรมของบริษัทนี้แบบผิดลิขสิทธิ์เสมอ สิ่งที่เกิดทำให้ไทยซอฟต์แวร์ทำตลาดไม่ได้ เมื่อทำตลาดไม่ได้ก็ขาดเงินทุนที่จะนำไปปรับปรุงซอฟต์แวร์ หรือคิดค้นซอฟต์แวร์ใหม่ๆ
2) พอใจกับผลงานไหม
พอใจเป็นอย่างยิ่งครับ การทำงานร่วมกับกองปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (บก.ปศท.) และตำรวจไทยเป็นไปได้ด้วยดี สำหรับประเทศไทยมียอดการจับกุมเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชีย รองจากเกาหลีใต้
อย่างไรก็ดี ยังมีงานที่ต้องทำอีกมาก เนื่องจากอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนพีซีของไทยในปี 2007 ยังสูงถึง 78% ที่ผ่านมา บีเอสเอไม่ได้ดำเนินการจับกุมแต่พียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่พยายามให้ความรู้ควบคู่ไปด้วยโดยจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น เมื่อเดือนเม.ย – พ.ค. ที่ผ่านมาได้จัดสัมนา Software Asset Management (SAM) หรือการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ที่กรุงเทพ เชียงใหม่ อยุธยา โคราช และพัทยา สอนให้คนรู้คุณค่าซอฟต์แวร์ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
ตัวเลขการจับกุมปีนี้ (มกราคม – มิถุนายน 2008) ดำเนินการจับกุมไปแล้วราว 30 ราย มูลค่าซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดรวมโดยประมาณ 100 ล้านบาท จากการจับกุมที่ผ่านมามักพบว่า มีซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์มากกว่า 80% ขึ้นไป
3) ชีวิตก่อนเข้าสู่ร่มเงาบีเอสเอ
ก่อนทำงานกับบีเอสเอผมเป็นตำรวจมาก่อน ซึ่งก่อนจะเป็นตำรวจผมเคยทำฟาร์มทำชีสในอังกฤษ ซึ่งมีวัวมากถึง 300 ตัว
ผมเกิดที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในชนบทห่างไกลของอินเดีย ชีวิตยามเด็กค่อนข้างแร้นแค้น หิวอยู่ตลอดเวลา ผมเคยกินชอล์คด้วยซึ่งรสชาติไม่เลวเลยเวลาหิว ต่อมาได้เข้าเรียนในโรงเรียนกินนอนซึ่งรัฐบาลอังกฤษจัดตั้งขึ้นที่อินเดีย คุณแม่ก็เป็นครูสอนอยู่ที่โรงเรียนนี้ จากนั้นย้ายไปยังลอนดอน และเริ่มงานตำรวจที่นั่นและย้ายมาฮ่องกง ต่อมาได้มีโอกาสร่วมงานกับ MPA ราว 2 ปี ก่อนจะทำงานกับบีเอสเอถึงวันนี้ก็ 7 ปี
สิ่งที่ฝึกฝนตลอด 7 ปีคือการทำงานร่วมกับทนายความและเอเจนซี่ เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เสนอแนวคิดต่อภาครัฐเพื่อหามาตรการป้องกัน
4) ความท้าทายตลอด 7 ปี
ผมพยายามควบคุมการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทางอินเตอร์เน็ตผ่านทางโปรแกรม Peer to Peer (P2P) และ BitTorrent ที่ระบาดมากในปัจจุบัน
บีเอสเอมีระบบตรวจสอบไอพี (IP Address) ของผู้ใช้ที่พบว่ามีการอัปโหลดไฟล์ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ และสามารถทราบได้ว่าผู้ใช้รายนั้นใช้บริการ ISP รายใด ที่ผ่านมา บีเอสเอได้ออกจดหมายเตือนไปยัง ISP นั้นๆเพื่อให้ไอเอสพีระงับการอัปโหลด โดยในปีที่แล้ว บีเอสเอออกจดหมายเตือนถึง ISP ในเอเชียไปทั้งสิ้นราว 200,000 ฉบับ เฉพาะในไทยราว 7,600 ฉบับ
บางส่วนก็ตอบรับแต่บางส่วนก็เฉยเมย อ้างว่า ISP เป็นเพียงท่อหรือทางผ่านของข้อมูลเท่านั้น ไฟล์ข้อมูลไม่ได้อยู่บนเซิร์ฟเวอร์ ISP จึงไม่อยู่ในอำนาจที่ ISP จะจัดการได้ ซึ่งเมื่อได้รับคำตอบนี้ บีเอสเอก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆได้
สิ่งท้าทายที่สุดของการทำงานในประเทศไทย คือการทำให้อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลดลง เพราะในประเทศอื่นๆการละเมิดล้วนลดลง แต่ในประเทศไทย อัตราการละเมิดกลับแกว่งตัวอยู่ระหว่าง 76% - 80% ไม่ลดลงมากไปกว่านั้น เช่นเดียวกับการปราบปรามในอินโดนีเซีย ซึ่งยากจะบอกถึงสาเหตุที่ชัดเจนว่าการปราบปรามไม่เป็นผลเพราะเหตุใด
ส่วนความท้าทายโดยทั่วๆ ไป คือการปราบปรามการละเมิดทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีมากและปราบปรามได้ยาก นอกจากนี้ก็เป็นการผลักดันเรื่องกฏหมายให้ทุกประเทศเห็นว่าการละเมิดในองค์กรธุรกิจเป็นอาชญากรรมประเภทหนึ่ง ซึ่งยากมากในหลายประเทศ เช่น เวียดนามและจีน เพราะมีระบบกฎหมายที่ต่างออกไป
อีกเรื่องคือ การผลักดันให้องค์กรของรัฐเอง ใช้แต่ซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง
5) เห็นด้วยไหมว่า ภาพยนตร์และเพลงถูกละเมิดมากกว่าซอฟต์แวร์
ผมมองว่าสองกลุ่มนี้มีตลาดที่แตกต่างกัน ภาพยนตร์และเพลงมีตลาดที่กว้างกว่าและจับกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป ส่วนซอฟต์แวร์นั้น ตลาดใหญ่คือลูกค้าองค์กร บีเอสเอนั้นไม่แตะต้องรายย่อยและนักศึกษา เน้นเฉพาะการปราบปรามในองค์กรเพราะองค์กรเหล่านี้มีเหตุผลชัดเจนที่ควรจะจ่ายเงินค่าซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นเรี่ยวแรงหลักในการช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับบริษัท
บริษัทเหล่านี้ยอมเสียเงินลงทุนได้ทุกเรื่อง แต่กลับไม่ยอมลงทุนด้านซอฟต์แวร์ซึ่งควรจะลงทุนไม่น้อยกว่าปัจจัยอื่นๆ ที่ผ่านมาพบว่าองค์กรส่วนใหญ่เข้าข่าย under licensed หรือการซื้อซอฟต์แวร์จริงไว้ในองค์กรบ้างเพื่อหวังบริการหลังการขาย แต่จะลักลอบ copy ซอฟต์แวร์ไปใช้กับคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นๆ ซึ่งมีจำนวนมากกว่าที่ซื้อลิขสิทธิ์มา
ผมอยากให้บทสัมภาษณ์นี้ทำให้คนที่ละเมิดลิขสิทธิ์อยู่รู้ตัวว่ากำลังทำผิด และสำนึกผิดต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
6) การตัดงบด้านซอฟต์แวร์ของบริษัทท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจฝืด มีผลให้การใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนเพิ่มขึ้นหรือไม่
ต้นทุนด้านซอฟต์แวร์คิดเป็นประมาณ 7% ของต้นทุนในการดำเนินธุรกิจเท่านั้น และซอฟต์แวร์ยังเป็นส่วนที่ทำให้บริษัทเกิดประสิทธิผล แข่งขันในตลาดได้ รวมถึงมีประโยชน์ในด้านการจัดการกับข้อมูลต่างๆ ผมคิดว่าบริษัทไม่ควรตัดงบประมาณส่วนนี้ แต่ควรเลือกใช้ซอฟต์แวร์ที่ดีที่สุดเสมอ ซึ่งหากเศรษฐกิจไม่ดี ก็ควรจะลดค่าใช้จ่ายตรงส่วนอื่นมากกว่า เช่น การประดับตกแต่งสำนักงาน เป็นต้น
7) ก้าวต่อไปของบีเอสเอ
บีเอสเอจะยังคงเน้นการปราบปรามและให้ความรู้ควบคู่กัน เพราะเป็นสิ่งที่ต้องทำต่อเนื่อง ไม่สามารถหยุดได้ นอกจากนี้ยังจะมีลักษณะที่เป็นลูกผสมของทั้งสองแบบ คือ เปิดโอกาสให้บริษัทที่ต้องการปรับเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง เข้ามาปรึกษาและดำเนินการจัดซื้อให้ถูกต้อง โดยบีเอสเอตกลงจะไม่จับกุมบริษัทนั้นๆ เป็นระยะเวลาหนึ่ง ตามที่ได้มีการตกลงกัน
8) คุณเคยใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนไหม
เคยในอดีต เมื่อปี 1994 ตอนนั้นผมซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องแรก ในเวลานั้นการรณรงค์เรื่องนี้ยังไม่แพร่หลายเท่าไรนัก ผมจึงไม่มีความรู้เรื่องนี้ เป็นซอฟต์แวร์วินโดวส์ที่เพื่อนให้มา ซึ่งเมื่อรู้ก็ไปหาซื้อชุดโปรแกรมพื้นฐานแบบถูกลิขสิทธิ์มาใช้
9) จุดมุ่งหมายในชีวิต
การตื่นมาทุกเช้าด้วยความรู้สึกแง่บวก เปี่ยมไปด้วยพลังที่จะเผชิญกับเรื่องท้าทายใหม่ๆ ในชีวิต ผมตั้งใจที่จะทำงานต่อไปเรื่อยๆ อาจเปลี่ยนไปทำสิ่งอื่นแต่ยังไม่กำหนดว่าจะเกษียณตัวเองหรือเลิกทำงานเมื่อไร
สิ่งที่ประทับใจที่สุดในด้านไอที คือวินาทีที่เห็นภาพคู่สนทนาผ่านทาง webcam เป็นครั้งแรก เนื่องจากเมื่อย้อนคิดไปถึงในวัยเด็กซึ่งห่างไกลจากเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์มาก จึงมองเห็นคอมพิวเตอร์เป็นเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์ซึ่งได้มาสัมผัสด้วยตาตนเองจริงๆ
ผมมีบุตรชาย-หญิง 4 คน ไม่ได้คาดหวังให้ลูกคนใดเจริญรอยตามในวงการปราบซอฟต์แวร์เถื่อน เพียงหวังให้แต่ละคนทำในสิ่งที่ตนเองชอบ และรักเพื่อจะได้มีชีวิตอย่างมีความสุข
Company Related Links :
BSA