"คนอื่นอาจสะสมสแตมป์ สะสมบุหรี่ แต่ผมสะสมความสำเร็จ"
อภิสิทธิ์ คุปรัตน์ ผู้บริหาร F5 เน็ตเวิร์กส์ บริษัทจำหน่ายระบบซัปพอร์ตแอปพลิเคชันองค์กรรายใหญ่ กล่าวถึงตัวเองว่ากำลังเสพติดความสำเร็จอย่างถอนตัวไม่ขึ้น และเมื่อรู้ตัวว่าการสะสมความสำเร็จนั้นทำให้รู้สึกดีกว่าการสะสมสิ่งของ อภิสิทธิ์ในวันนี้จึงทุ่มเทพลังเพื่อให้ F5 เติมเต็มความสำเร็จในคอลเล็กชันที่ตัวเองมีอยู่
"ความสำเร็จจะทำให้เราบอกลูกบอกหลานได้อย่างเต็มปากเต็มคำ ทำให้เราทำงานด้วยความอยาก ตอนที่อยู่กับออราเคิล ผมทำยอดขายกลุ่มบริษัทโทรคมนาคมสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการเปิดแผนกนี้มา 10 กว่าปี ตอนที่อยู่กับแซสซอฟต์แวร์ ก็สามารถทำยอดขายเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย คิดเป็นอันดับ 2 ในตลาดโลก กับ F5 ผมจะพยายามสร้างสถิติส่วนตัว"
นักสะสมความสำเร็จคนนี้ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้จัดการประจำประเทศไทยของบริษัท F5 เน็ตเวิร์กส์ เนื้องานคือดูแลรับผิดชอบในการกำหนดทิศทางธุรกิจจำหน่ายแพลตฟอร์มขับเคลื่อนแอปพลิเคชันสำหรับใช้กับกลุ่มลูกค้าองค์กร คุมทั้งกิจกรรมทางธุรกิจ วิเคราะห์ตลาด เปลี่ยนปัญหาให้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจ และพัฒนาช่องทางการจำหน่ายเพื่อให้ F5 เติบโตในตลาดเมืองไทย
"F5 เป็น 1 ใน 9 องค์กรที่เติบโตเร็วที่สุดในตลาดหุ้นแนสแดค เราต้องตามให้ทัน เราต้องตามตลาด เรามีโปรดักซ์แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้ตลาดรู้จัก บริษัทหลัก ๆ ในตลาดอย่างจีเอเบิลหรือเอ็มเฟคล้วนเป็นพาร์ทเนอร์ F5 พารท์เนอร์พร้อมแต่ต้องมีการอบรมให้ความรู้ โปรดักซ์ต้องให้ลูกค้ารู้จัก"
ผลิตภัณฑ์ของ F5 นั้นเป็นระบบที่ทำให้แอปพลิเคชันในองค์กรสามารถ "คุย"หรือเชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายได้ดีขึ้น ล่าสุด F5 เปิดตัวระบบดาต้าเซ็นเตอร์ Acopia ARX ผลผลิตจากการซื้อบริษัท Acopia เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งคำบอกเล่าของอภิสิทธิ์ ชี้ว่าปัญหาที่เขากำลังเผชิญคือ จะทำอย่างไรให้ตลาดรู้จักผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ เพราะพิษเศรษฐกิจฝืดเคืองและวิกฤตแผนกไอทีถูกตัดงบประมาณ ไม่ใช่ปัญหาของ F5 เลยแม้แต่น้อย
"จากนี้ไม่รู้ แต่ถ้าดูจากรายได้ F5 ซึ่งอยู่ที่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และกลางยังไม่กระทบเลย ตลาดเองก็มีความต้องการอยู่แล้ว ภาครัฐ บริษัทโทรคมนาคมและธนาคารกว่า 95 เปอร์เซ็นต์เป็นลูกค้า F5 พอได้ใช้ F5 ก็มักไม่เปลี่ยนใจไปใช้ค่ายอื่น ที่สำคัญ ในประเทศไทย เรื่องการเมืองมีผลกระทบมากกว่าเศรษฐกิจ"
อภิสิทธิ์ย้ำว่าความท้าทายของเขาในขณะนี้คือการทำให้ F5 แข่งกับตัวเองได้ คู่แข่งอย่างซิสโก้ไม่ได้อยู่ในสายตา
"ทำอย่างไรให้ F5 โตต่อไปจากที่โตอยู่แล้วในขณะนี้"
จากวิศวะสู่ไอที
อภิสิทธิ์จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรม จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก่อนจะเดินทางไปศึกษาปริญญาโทสาขาเดียวกันที่มหาวิทยาลัยมิสซูลี-โคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา อภิสิทธิ์เล่าว่า ชีวิตไอทีของเขาเริ่มขึ้นเพราะวิกฤตกลายเป็นโอกาส
"ตอนนั้นมีอาชีพที่อยากทำอยู่ 2 อย่างคือ วิศวอุตสาหกรรมและงานบริหารสนามบิน คิดจะต่อปริญญาเอกแต่ตอนนั้นคุณพ่อเป็นมะเร็ง เมื่อเงินหมดก็เลยบินกลับเมืองไทย ผมจึงไปสมัครงานที่บริษัทหนึ่งซึ่งเป็นบริษัทจำหน่ายซอฟต์แวร์ด้านวิศวกรรม ซอฟต์แวร์นี้ชนกับที่ไอบีเอ็มกำลังจะทำตลาดพอดี ไอบีเอ็มก็เลยบอกว่า อย่ามาทำแข่งกันเลย แต่มาทำด้วยกันเถอะ"
อภิสิทธิ์เล่าว่า การทำงานด้านไอทีช่วงแรกที่ไอบีเอ็มนั้นถือเป็นโอกาสที่เกิดจากวิกฤต อภิสิทธิ์เรียนรู้จากการทำงานตลอด 7 ปีกับไอบีเอ็มทุกเรื่องแม้แต่เรื่องจรรยาบรรณของนักขายระบบไอที นับรวมการทำงานที่ไอบีเอ็ม ออราเคิล และแซสซอฟต์แวร์ อภิสิทธิ์ทำงานไอทีเบ็ดเสร็จ 14 ย่าง 15 ปีพอดี
"คนเรามักอยากก้าวหน้าไปเรื่อยๆ แต่ก็ต้องอยู่ที่จังหวะที่เข้ามา ถามว่าวันนี้ผมพอใจไหม ก็พอใจ F5 ให้โอกาสผมดูแลทั้งตลาดประเทศไทยและฟิลิปปินส์ ก่อนจะตกลงทำงานกับ F5 ผมอ่านข้อมูลเยอะมาก พบว่าเป็นบริษัทที่มีวิสัยทัศน์ดี ผลิตภัณฑ์ดี ทำตลาดง่าย ที่เหลือคือให้คนยอมรับ ให้คนรู้จัก ส่วนตัวผมวางแผนว่าอายุเกษียนสำหรับวงการไอทีไว้ที่ 50 ปี ซึ่งก็เหลือเวลาอีก 10 กว่าปี"
สิ่งที่ภูมิใจที่สุดในชีวิตการทำงานด้านไอที 14 ปีของอภิสิทธิ์คือการฟื้นความสัมพันธ์กับลูกค้ารายหนึ่งของออราเคิลที่เคยมีปัญหารุนแรงต่อกันได้สำเร็จ และสิ่งที่เสียใจที่สุดคือการไม่ได้อยู่กับคุณแม่ในช่วงก่อนสิ้นใจเพียงเพราะต้องการรีบไปพบลูกค้า
"ตอนคุณแม่ผมเสีย ผมกำลังจะไปหาลูกค้าที่บางปะอิน ทุกเช้าก่อนไปทำงานผมจะต้องเข้าไปกอดคุณแม่ แต่บังเอิญวันนั้นฝนตกผมจึงรีบมาก ออกจากบ้านไปไม่นานก็ได้ทราบข่าวว่าคุณแม่เส้นเลือดในสมองแตก ผมเสียใจจนถึงทุกวันนี้ แค่เวลา 1 นาทีกับฝนที่ตกเท่านั้นเอง"
เด็กไทยต้องฝึก
"ผมคิดว่าคนไทยมีทักษะ แต่สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจตัวเองแล้วฝึกฝน คนสิงค์โปร์ถูกฝึกฝนมาด้วยวัฒนธรรม เราไม่ได้ด้อยไปกว่าเค้า นักกีฬาถ้าฝึกทุกวันก็สู้ได้"
ปัจจุบันอภิสิทธิ์มีลูกชายวัย 6 ขวบและลูกสาววัย 3 ขวบ อภิสิทธิ์ไม่ได้หวังให้ทั้งสองเดินตามรอยเท้าพ่อในวงการไอทีหรือวิศวะ แต่หวังให้ทั้งคู่เลี้ยงชีพได้อย่างมีความสุข
"ไม่คิดจะบังคับให้เขาเป็นอะไรเมื่อโตขึ้น ผมให้วิชาเขาเต็มที่ หวังให้เขามีความสุขและเลี้ยงตัวเองได้"
อภิสิทธิ์ไม่เปิดเผยเป้าหมายที่เขาหวังไว้กับ F5 ซึ่งมีอัตราเติบโตต่อเนื่องประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ระบุเพียงว่าความท้าทายคือทำให้อัตราเติบโตไม่ต่ำกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ที่ F5 เคยทำได้ แต่สำหรับชีวิตหลังเกษียน อภิสิทธิ์วางแผนว่าจะไม่หยุดนิ่งแน่นอน
"คงต้องเปลี่ยนแปลง พอเพียง ทำอะไรที่เบาลงและไม่กดดันมาก ทุกวันนี้ยอมรับว่าการทำงานไอทีทำให้เราใจร้อนขึ้น เดินเร็วขึ้น มันเปลี่ยนโดยกระบวนการ แต่ยังไงก็จะพยายามทำทุกวันให้ดีที่สุด"