xs
xsm
sm
md
lg

เอไอเอสท้วงกทช.แบ่งคลื่นผิดกม. ยันอนุมัติ 850 MHz ต้องแก้สัญญา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิเชียร เมฆตระการ กรรมการผู้อำนวยการบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิสหรือเอไอเอส
เอไอเอสปรับยุทธศาสตร์ HSPA ให้บริการแค่เชียงใหม่จังหวัดเดียว จี้กทช.แบ่งความถี่ 850 MHz ให้ดีแทค ทรูมูฟ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของสัญญาสัมปทาน จำเป็นต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมการงานรัฐกับเอกชน 2535 ท้วงอนุมัติสุ่มสี่สุ่มห้าอาจผิดกม.ยันทุกฝ่ายควรเคารพสัญญาสัมปทานมากกว่าหาประโยชน์จากช่องว่าง

นายวิเชียร เมฆตระการ กรรมการผู้อำนวยการบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิสหรือเอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสกำลังจะยื่นหนังสือทักท้วงและขอให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) พิจารณาอย่างรอบคอบในกรณีที่จะอนุญาตให้ดีแทคและทรูมูฟได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ 850 MHz เพื่อให้บริการ 3G ด้วยเทคโนโลยี HSPA เนื่องจากกรณีดีแทคถึงแม้ความถี่ 850 MHz จะเป็นย่านความถี่เดิมซึ่งดีแทคให้บริการตามสัญญาร่วมการงานกับบริษัท กสท โทรคมนาคมอยู่แล้วก็ตาม

แต่การเกลี่ยหรือจัด slot ความถี่ใหม่ ต้องถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของสัญญาสัมปทาน จำเป็นต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการตามมาตรา 22 ของพ.ร.บ.ร่วมการงานรัฐและเอกชนพ.ศ.2535 และอาจต้องรายงานให้คณะรัฐมนตรีรับทราบด้วย

ส่วนกรณีทรูมูฟ อาการหนักกว่าดีแทคเพราะตามสัญญาสัมปทานของ กสท ทรูมูฟไม่ได้สิทธิให้บริการด้วยความถี่ 850 MHz ตั้งแต่ต้น หาก กทช.อนุญาตให้ทรูมูฟให้บริการ HSPA ด้วยความถี่ 850 MHz ต้องถือว่าเป็นการแก้สัญญาในประเด็นหลักหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการให้สัมปทานใหม่เพิ่มเติมด้วยซ้ำ ซึ่งต้องผ่านกระบวนการตามพ.ร.บ.ร่วมการงานรัฐและเอกชนพ.ศ.2535

นอกจากนี้ ที่ผ่านมากทช.จะไม่เข้าไปยุ่งกับคู่สัญญาสัมปทาน แต่หากครั้งนี้ กทช.ยอมให้เกิดการจัดสรรความถี่ดังกล่าวขึ้นเท่ากับกทช.กำลังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานหลัก และทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันของธุรกิจ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดประเด็นถกเถียงหรือข้อโต้แย้งทางด้านกฎหมายในอนาคต

รวมทั้งการที่ กสท ต่ออายุสัมปทานทรูมูฟออกไปอีก 5 ปีในลักษณะเปลี่ยนเป็นการเช่าโครงข่าย ก็อาจพิจารณาได้ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์เฉพาะบริษัทรายเดียวทำให้ กสท เสียหายเนื่องจากไม่ได้เปิดกว้างให้เอกชนรายอื่นมีโอกาสเช่าโครงข่ายอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะกรณีดีพีซีซึ่งถือเป็นบริษัทภายใต้สัญญาสัมปทาน กสท เช่นเดียวกับดีแทคและทรูมูฟ

‘แนวคิดในการท้วงติง กทช.เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการพิจารณาอนุญาตเรื่องความถี่ เพราะไม่อยากให้เกิดกรณีพิพาทในภายหลัง และในด้านหนึ่งเอไอเอสก็ต้องการให้ทุกฝ่ายยึดถือตามสัญญาสัมปทานเป็นหลัก มากกว่าหาช่องว่างเอื้อประโยชน์กันและกัน’

ปรับแผน HSPA เหลือแค่เชียงใหม่

นายวิเชียรกล่าวว่าเอไอเอสได้ปรับแผนการให้บริการ 3G ด้วยเทคโนโลยี HSPA ให้เหลือที่จังหวัดเชียงใหม่เพียงที่เดียวจากเดิมที่มีแผนเปิดให้บริการในกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ โดยที่เชียงใหม่จะติดตั้งอุปกรณ์ให้ครบประมาณ 100 สถานีฐานซึ่งเอไอเอสจะทำหนังสือแจ้งไปยัง กทช.ใหม่เพื่อระบุสถานที่ติดตั้งอุปกรณ์ว่าจะดำเนินการในเชียงใหม่เพียงจังหวัดเดียว

‘จุดยืนเอไอเอสคือให้บริการ HSPA ที่เชียงใหม่จังหวัดเดียวภายใต้ความถี่เดิมที่มีอยู่ เพื่อง่ายต่อการทำตลาด’

อย่างไรก็ตามเขายอมรับว่า การที่เอไอเอสต้องให้บริการHSPA ที่ความถี่ 900 MHz ซึ่งเป็นความถี่เดิมที่ให้บริการลูกค้าในปัจจุบันอยู่ และในทางสัญญาสัมปทานไม่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของสัญญา แต่ในทางเทคนิคหากให้บริการลูกค้า HSPA ที่เน้นรับและส่งข้อมูลจำนวนมาก อาจกระทบศักยภาพในการสื่อสารของลูกค้ารายอื่น เนื่องจากความถี่เบียดกัน

ทั้งนี้ปัจจุบันเอไอเอสมีลูกค้าในเชียงใหม่ที่ใช้บริการHSPA ประมาณกว่า 300 รายเท่านั้นขณะที่ผู้ใช้บริการด้านสื่อสารข้อมูล (data service)ทั่วไปของเอไอเอสในเชียงใหม่ มีอยู่ประมาณ 3 พันราย

‘หากเอไอเอสอยู่เฉยให้คู่แข่งให้บริการ HSPA อย่างเต็มที่ในความถี่ 850 MHz ซึ่งเป็นช่วงความถี่จากการจัดสรรคลื่นใหม่ และไม่รบกวนความถี่เดิมที่คู่แข่งให้บริการลูกค้าอยู่นั้นเอไอเอส ก็จะเสียเปรียบมากเพราะเอไอเอสให้บริการ HSPAไม่ได้เต็มที่และความถี่ใหม่ในย่าน 2.1 GHz ก็ยังไม่เห็นอนาคตว่าจะสามารถเปิดประมูลเมื่อใด’

ก่อนหน้านี้ กสท ได้ส่งหนังสือไปยังกทช.เพื่อขออนุญาตจัดสรรความถี่ในย่าน 850 MHz และขออนุญาตให้ดีแทคและทรูมูฟ นำเข้าและติดตั้งอุปกรณ์ HSPA จำนวน 1,200 และ 650 สถานีฐานตามลำดับ ซึ่งคาดว่า กทช.จะพิจารณาในการประชุมวันที่ 3 ก.ค.ที่จะถึงนี้

Company Related Links :
AIS
กำลังโหลดความคิดเห็น