อินเตอร์เมค มองปีนี้ตลาด RFID ไทยสดใสเพราะได้รับแรงสนับสนุนจาก ไอซีที และซิป้า ชี้หลังการเมืองสงบหน่วยงานภาครัฐเตรียมลงทุนจำนวนมาก ตั้งเป้าปีนี้รายได้โต 50 % ระบุโครงการลอจิสติกส์เป็นตัวแปรสำคัญกระตุ้นตลาด RFID
นางปิยรัตน์ ศรีวรานนท์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท Intermec Technologies Corporation เปิดเผยว่า ตลาด RFID ในประเทศไทยปีนี้มีแนวโน้มสดใส และเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที และ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า ให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง
โดยในปีนี้ตลาดภาครัฐจะเป็นตลาดที่สำคัญ เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐในปีนี้มีหลายหน่วยงานวางแผนใช้ RFID ใช้งานในหน่วยงาน หลังจากการเมืองของประเทศกลับสู่สภาวะปกติ ส่วนหน่วยงานภาคเอกชนในปีนี้ยังจะมีการลงทุน RFID ตามปกติ แต่อาจจะมีการพิจารณาการลงทุนมากขึ้นเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศยังชะลอตัวอยู่อย่างต่อเนื่อง
อินเตอร์เมค นับเป็นผู้ประกอบการรายเดียวในประเทศไทยที่ให้บริการ RFID ครบทุกบริการ โดยหน่วยงานภาครัฐที่เป็นลูกค้าของบริษัทนี้ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และสนามบินสุวรรณภูมิ และขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา กับ บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน)
นางปิยรัตน์ กล่าวต่อว่าในปีนี้บริษัทคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 50 % จากปีที่ผ่านมา เพราะได้รับผลดีจากโครงการขนาดใหญ่ของหน่วยงานภาครัฐที่จะมีทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้นโยบายสร้างระบบลอจิสติกส์ของประเทศจะเป็นตัวแปรสำคัญในการผลักดันตลาด RFID ของประเทศให้มีการเติบโตเพิ่มขึ้น เนื่องจากธุรกิจการขนส่ง โลจิสติกส์ มีความต้องการและจำเป็นใช้งาน RFID เป็นอย่างมาก
“บริษัทแม่ในอเมริกาให้ความสำคัญต่อตลาดเอเชียเป็นอย่างมาก เนื่องจากยังมีแนวโน้มการใช้งาน RFID ได้อีกมาก และยังมีขนาดตลาดที่มีขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในประเทศจีน ส่วนในประเทศไทยเองก็มีทิศทางการเติบโตที่สดใสเช่นกัน” นางปิยรัตน์กล่าว
อย่างไรก็ดีราคา RFID ในประเทศไทยยังมีราคาสูงกว่า บาร์โค้ดถึง 10 เท่า แต่มีคุณสมบัตรที่เด่นกว่าตรงที่สามารถบันทึกข้อมูลและอ่านข้อมูลได้ ในขณะที่บาร์โค้ดสามารถใช้งานอ่านข้อมูลได้เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้แนวโน้มราคาของ RFID มีแนวโน้มลดลงตามจำนวนการใช้งานหากมีการใช้งานมากขึ้นราคาก็จะลดลงเรื่อยๆ
สำหรับการใช้งาน RFID นั้นเชื่อว่า จะไม่สามารถเข้ามาแทนที่การใช้งานบาร์โค้ดได้ แต่จะเป็นลักษณะการใช้งานควบคู่กันมากกว่า บริษัทจึงมุ่นเน้นทำการตลาด ทั้ง RFID และบาร์โค้ด
นางปิยรัตน์ กล่าวต่อว่า บริษัทมีแผนออกโปรดักต์ RFID ใหม่ 2 ตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างครบถ้วนได้แก่ IF 30 เป็นโมบายลีดเดอร์ เครื่องมือถือที่สามารถใช้งานผ่านไวร์เลส GPRS และ GPS ได้ และ IP 30 ซึ่งเป็นเครื่องลีดเดอร์ประจำที่
Company Related Links :
Intermec