เนคเทคโชว์โรดแมป RFID ระยะยาว 5 ปี กระตุ้นตลาด RFID ประเทศไทยโต มีการพัฒนามากขึ้น ตั้งเป้าผู้ประกอบการไทยพัฒนา และใช้งานระบบ RFID ด้านติดตามสัตว์ ลอจิสติกส์ และห่วงโซ่อุปทาน ร่วมถึงการที่นักวิจัยเข้ามามีส่วนร่วมในการวิจัยและพัฒนาระบบ RFID ขณะที่รมว.ไอซีทีตั้งเป้าปีนี้ดัน RFID ไทยเท่ามาเลเชีย หลังจากนั้นขึ้นแท่นฮับซอฟต์แวร์ในภูมิภาค
ดร.กัลยา อุดมวิทิต ศูนย์เทคโนโลยีอีเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค เปิดเผยว่า เป้าหมายของแผนที่การพัฒนาอุตสาหกรรม RFID ของประเทศไทยในระยะ 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2551-2555 ประกอบด้วย 1.ผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยี RFID ขึ้นรองรับการใช้งานในกิจกรรมต่างๆ เช่น ด้านการติดตามสัตว์ การตรวจสอบอาหาร ด้านลอจิสติกส์ และห่วงโซ่อุปทานในระยะเวลา 3-5 ปี 2.การใช้งานระบบ RFID อย่างแพร่หลายในกิจกรรมต่างๆ เช่น ด้านติดตามสัตว์ ลอจิสติกส์ และห่วงโซ่อุปทานในระยะเวลา 3-5 ปี 3.มีนักวิจัยเข้ามามีส่วนร่วมในการวิจัยและพัฒนาระบบ RFID ตามแผนที่การวิจัยมากขึ้น
ส่วนกลยุทธ์และแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรม RFID ไทยนั้น มีเป้าหมายในการยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย ประกอบด้วย 1.ส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนา 2. ขยายตลาด RFID ทั้งภายในและภายนอกประเทศ 3 .กำหนดนโยบายภาครัฐและโครงสร้างพื้นฐาน 4.พัฒนาบุคลากรและนักพัฒนาด้านเทคโนโลยี RFID 5. พัฒนาภาคการผลิตและการบริหารจัดการ
จากการสำรวจมูลค่าการตลาด RFID ของโลกในช่วงปี 2549-2551 มีการเติบโตเพิ่มขึ้นในระยะเวลา 2 ปี ถึง 33.1% จากปี 2549 มีมูลค่า 2,311.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นเป็น 4,101 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ เนคเทคได้ประเมินมูลค่าตลาด RFID ของไทยปี 2550-2551 เพิ่มขึ้น 25.98% โดยในปี 2551 มีมูลค่า 1,451.24 ล้านบาท เพิ่มเป็น 2551 มีมูลค่า 1,828.24 ล้านบาท
ธุรกิจที่จะสามารถใช้งาน RFID ได้ทันทีในช่วงระยะสั้นในประเทศไทยนี้คือ ลอจิสติกส์ ส่วนในระยะยาวนั้นจะเหมาะกับธุรกิจการเงิน และไฟแนนซ์ ธุรกิจค้าปลีกส่วนประเภท RFID ที่เราจะสามารถแข่งขันกับต่างประเทศคือ ด้านซอฟต์แวร์และเซอร์วิส เนื่องจากคนไทยมีความถนัดและชำนาญในด้านนี้เป็นอย่างมาก
ปัจจุบันได้มีการนำ RFID มาใช้ในด้านลอจิสติกส์ของประเทศไทยบ้างแล้วโดยหน่วยงานนำ RFID มาใช้ในด้านลอจิสติกส์ ได้แก่ บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย) บริษัท ปตท. บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเมนท์ ส่วนธุรกิจค้าปลีกค้าส่งยังไม่มีบริษัทใดนำ RFID มาใช้
สำหรับการนำ RFID มาใช้ในด้านการคมนาคมและการขนส่งในประเทศไทย เช่น ระบบเก็บเงินค่าโดยสารสำหรับระบบขนส่งมวลชน หรือขนส่งสาธารณะ การจัดหมวดหมู่พาหนะ ระบบขนส่งจราจรอัจฉริยะ
ส่วนการนำ RFID มาใช้งานด้านการเงินในประเทศไทย ในด้านการใช้งาน เช่นการชำระค่าสินค้า ชำระค่าโดยสาร โดยในปีที่ผ่านมาการใช้บัตรเงินสดดิจิตอลสำหรับชำระค่าสินค้าแบบ micro payment มีการใช้บัตรประมาณ 9 แสนใบ มีการเติบโต 100% ต่อปี และคาดว่าอนาคตมีการเติบโตเพิ่มขึ้น 30-40% ต่อปี นอกจากนี้ปัจจุบันธนาคารต่างๆเริ่มมีความสนใจนำ RFID มาใช้มากขึ้น
ด้านนายมั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที กล่าวว่า การจัดงาน Thailand RFID Forum 2008 ระหว่างวันที่ 21-22 เม.ย.นี้ ซึ่งเป็นความร่วมมือของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการผลักดันเทคโนโลยี RFID ของประเทศไทย เพราะปัจจุบันทั่วโลกมีการแข่งขันที่สูง การนำเอาเทคโนโลยี RFID มาใช้ คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนของธุรกิจได้ และจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ดี
ทั้งนี้ ทางซิป้ามีแนวทางที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรม RFID ในภูมิภาคเอเชีย และนำเสนอนวัตกรรมความก้าวหน้าในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีของ RFID Solution ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการแข่งขันในตลาดสากล ทางตนมีความยินดี และเตรียมนำเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่คณะรัฐมนตรี
ส่วนปัจจัยที่ประเทศไทยสามารถจัดตั้งเป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยี RFID ได้นั้น เนื่องจากประเทศไทยมีการเติบโตของเศรษฐกิจที่ดีและต่อเนื่อง ซึ่งทางกระทรวงฯ พยายามจะผลักดันให้มีความเทียบเท่ากับประเทศมาเลเซียให้ได้ภายในปี 2551 นี้ โดยจะเน้นในด้านซอฟต์แวร์เป็นหลัก
“ปัจจุบันเรายังเป็นรองมาเลเซียอยู่ ซึ่งเทคโนโลยี RFID เป็นเทคโนโลยีที่ใหม่ และมีความน่าสนใจ หากมีการคิดค้น และพัฒนาให้สามารถใช้งานได้จริง เราอาจจะผลักดันเทคโนโลยี RFID ไปใช้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อช่วยติดตามคนร้าย อาจจะส่งผลให้ภาพรวมของภาคใต้นั้นดีขึ้น”
Company Related Links :
Nectec