xs
xsm
sm
md
lg

องค์กรรัฐ-เอกชนตบเท้าเสวนา สานฝันผลักดันแผนแม่บทICT

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.มั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นประธานในงาน การประชุมเสริมสร้างความร่วมมือรัฐ-เอกชน ในการกำหนดทิศทางและแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนา ICT ของประเทศไทย โดยมีกลุ่มสมาคมผู้ประกอบการและสมาคมวิชาชีพต่างๆ เข้าร่วมประชุม ที่โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทารา แกรนด์ กรุงเทพฯ
เนคเทคจับมือกระทรวงไอซีที เชิญองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมประชุม ภายใต้โครงการการจัดทำแผนแม่บทฉบับที่ 2 องค์กรขานรับตบเท้าเข้าร่วมกว่า 10 แห่ง ช่วยสานฝันทิศทางไอซีทีไทยให้ขับเคลื่อนพัฒนาไปข้างหน้า “มั่น” แจงเหตุไทยเดินถอยหลัง เนื่องจากรัฐกับเอกชนขัดขากันเอง

(วานนี้) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จัดประชุมเสริมสร้างความร่วมมือรัฐกับเอกชนในการกำหนด “ทิศทางและแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนา ICT ของประเทศไทย” (Public-Private Partnership Roundtable For ICT Development) ภายใต้โครงการจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ฉบับที่ 2 ของประเทศไทย (พ.ศ. 2552-2556) โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผู้แทนสมาคม ชมรมของภาคเอกชน และคณะทำงานจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ฉบับที่ 2

นาย มั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที กล่าวว่า ที่ผ่านมายังขาดบุคลากรที่มีความรู้ในเรื่องของการวางแผนแม่บท แต่ขณะนี้ได้เนคเทคยื่นมือเข้ามาช่วยทำให้มีกำลังใจในการพัฒนาประเทศ ต่อจากนี้ประเทศจะได้ไม่สิ้นหวัง แผนแม่บทมีความสำคัญมาก เมื่อมีแล้วต้องสานต่อไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะอยู่ในยุคของรัฐบาลไหนก็ตาม เมื่อเข้ามาทำหน้าที่ก็ต้องสานต่อได้ทันที

“ตอนนี้ประเทศไทยกำลังเดินถอยหลัง ในขณะที่ประเทศอื่นเดินหน้าขึ้น ตัวอย่างของบ้านเรา รัฐกับเอกชนยังฟ้องร้องกันอยู่เลย ฉะนั้นแนวทางในการแก้ไขคือให้ทุกหน่วยงานหันมาจับมือกันให้หมด เพื่อช่วยกันพัฒนาประเทศ”

สำหรับแผนแม่บท ICT ฉบับที่ 2 จะประกาศใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา ICT ของประเทศ แทนที่ฉบับเดิมซึ่งใช้มาเป็นระยะเวลากว่า 5 ปี ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2552 เป็นต้นไป

ข้อเสนอในแผนแม่บท

ในการประชุมครั้งนี้มีองค์กรเข้าร่วมประมาณ 10 สมาคม เช่น สมาคมATCI, สมาคมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ไทย, สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย, สมาคมโอเพ่นซอร์สแห่งประเทศไทย, สมาคมอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, สมาคมIPV6ประเทศไทย เป็นต้น

สมาคมATCI เสนอแนะว่า ประเทศไทยต้องมีเป้าหมายว่าจะต้องทำอะไรเมื่อสิ้นสุดแผน โดยการโฟกัสอย่างใดอย่างหนึ่งให้ชัดเจน เช่นการกำหนดลงไปเลยว่าให้ประเทศไทยอยู่ไม่น้อยกว่าอันดับ 2 ในภูมิภาคนี้หรือขึ้นไปแทนที่ 2 ของมาเลเซีย ซึ่งการที่อันดับไม่ดีขึ้นนั้น เนื่องจากมีการตอบสนองด้านเทคโนโลยีน้อยเกินไป ในขณะที่เทคโนโลยีนั้นเปลี่ยนแปลงทุกปี

ด้านสมาคมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ไทย กับ สมาคมอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ชี้ให้เห็นมุมมองเรื่องการกีดกัน โดยเชื่อว่าแผนเดิมดีอยู่แล้ว ขอเพียงแค่โอกาสในการทำงาน เพราะที่ผ่านมาไม่ได้เกิดการแข่งขัน เนื่องจากถูกกีดกันตลอด ถ้าหากได้รับโอกาสในการแข่งขัน แล้วเกิดแพ้ขึ้นมาจะกลับไปทบทวนสิ่งที่ทำใหม่อีกครั้ง และที่ขาดไม่ได้คือการสนับสนุนผู้ผลิตไทย

ขณะที่สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย กับ สมาคมโอเพ่นซอร์สแห่งประเทศไทย เสนอให้เน้นในเรื่องของระบบการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของเทคโนโลยีที่เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งอาจจะมีการปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อให้เข้าถึงแก่นเทคโนโลยีมากขึ้น นอกจากนี้ยังขาดบุคลากรที่จะคอยดูแลข้อมูลทางสถิติ อย่างการติดตามการใช้ซอฟต์แวร์โดยโอเพ่นซอร์ส

Company Related Links :
MICT
Nectec
กำลังโหลดความคิดเห็น