โมโตโรล่าปลุกกระแสเทคโนโลยีไวแมกซ์ ผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ หลังรวมกับยูไอเอชทดสอบแบบโต้คลื่นที่ภูเก็ต เพื่อชิงความได้เปรียบในเชิงการตลาด และปูทางไวแมกซ์แจ้งเกิดเต็มตัว หลังพลาดท่าในเรื่องของเทคโนโลยีซีดีเอ็มเอ ที่ถูกจีเอสเอ็มฟากยุโรปตีกระเจิง
ช่วงที่ผ่านมาที่ผู้ประกอบการและซัปพลายเออร์ ได้มีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับไวแมกซ์กันมาก ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ใกล้เคียงกับไทยอย่างเวียดนาม กัมพูชา และประเทศอื่นๆ มีการตื่นตัวรับเทคโนโลยีนี้ เพราะเชื่อว่าจะเป็นการสร้างรูปแบบใหม่ในการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือบรอดแบนด์ ที่สามารถใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลา และมีความเร็วมากขึ้น จากเดิมการใช้อินเทอร์เน็ตต้องไปที่บ้านหรือออฟฟิศ
ปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีไวแมกซ์มีด้วยกัน 2 รูปแบบคือ 1.มีการนำไปใช้ในรูปแบบโอเพ่น แอ็คเซ็ส ที่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ไหนก็ได้ 2.เป็นการนำไปใช้ในรูปแบบอินฟราสตรักเจอร์ที่สายทองแดงลากไปไม่ถึง หรือการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานไม่เพียงพอ เช่น ปากีสถาน หรือประเทศเพื่อนบ้านของไทย ทำให้ตลาดของไวแมกซ์โต 100-200% โดยกลุ่มลูกค้าที่ใช้คือองค์กรขนาดใหญ่ เช่น ธนาคาร ที่มีการใช้เทคโนโลยีไวแมกซ์เชื่อมต่อกับตู้เอทีเอ็ม
เทคโนโลยีดังกล่าวมาจากฟากอเมริกา โมโตโรล่าซึ่งเป็นซัปพลายเออร์จากโซนดังกล่าว ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีไวแมกซ์อย่างต่อเนื่อง และพยายามโหมกิจกรรมในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการโรดโชว์เทคโนโลยี ร่วมกับพาร์ตเนอร์ทดสอบระบบ
นอกจากการพัฒนาเทคโนโลยีแล้ว โมโตโรล่ายังให้ความสำคัญในเรื่องของอุปกรณ์สื่อสารหรือดีไวซ์ ที่ต้องมีความหลากหลาย ทั้งรูปแบบการใช้งาน และหลากหลายรุ่น เพราะโมโตโรล่าไม่ได้มองแค่เรื่องของอินฟราสตรักเจอร์ที่ดีเพียงอย่างเดียว แต่การที่จะให้บริการประเภทนี้ไปได้ดีต้องมีดีไวซ์ที่ดีด้วย ไม่ว่าจะเป็นเอาต์ดอร์ อินดอร์ พีซีการ์ด แอนด์เซ็ต ชิปเซ็ต
“ที่โมโตโรล่าเขาโหมกิจกรรมเกี่ยวไวแมกซ์มาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเขาต้องการกู้หน้าคืน หลังพลาดท่ากับเทคโนโลยีมือถือระบบซีดีเอ็มเอ ที่ไม่ได้รับความนิยมเหมือนกับจีเอสเอ็มของฟากยุโรป แต่ขณะนี้เทคโนโลยีสามารถไล่ทันกันหมดแล้ว” นายวิเชียร เมฆตระการ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส กล่าว
ด้าน ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ รักษาการผู้จัดการทั่วไป กลุ่มโครงข่ายไร้สาย โมโตโรล่า ประเทศไทย กล่าวว่า จากการจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ เป็นการโชว์ศักยภาพไวแมกซ์ของโมโตโรล่า รวมถึงประสิทธิภาพในการใช้งานให้ผู้บริโภคได้เห็น และจากความร่วมมือกับบริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ (ยูไอเอช) ทดสอบระบบบนเรือใบที่อยู่ห่างจากฝังประมาณกิโลเมตรเศษๆ ที่ภูเก็ต เป็นการพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าประสิทธิภาพไวแมกซ์ใช้งานบรอดแบนด์ได้เป็นอย่างดี
ผู้บริหารโมโตโรล่าย้ำว่า จากการจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ เกี่ยวกับไวแมกซ์ของโมโตโรล่า ไม่ใช่เป็นการกดดันภาครัฐให้ปล่อยไลเซนส์เพื่อให้บริการในเชิงพาณิชย์ แต่เป็นการปูทางเพื่อสร้างความได้เปรียบในเชิงการตลาดหากเทคโนโลยีนี้แจ้งเกิดในไทยอย่างเป็นทางการ และเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับแนวโน้มที่กำลังมา
“เรามีแผนจะทดสอบกับผู้ประกอบการอีก 2 ราย เพื่อพิสูจน์ศักยภาพของไวแมกซ์ และทำให้เห็นถึงประสิทธิภาพของเทคโนโลยีโมโตโรล่า ที่สามารถจะพิสูจน์ว่าการทำตลาดไม่ใช่จะมีเพียงรีเรชันชิปเท่านั้น แต่ถ้าเทคโนโลยีไม่ดีจริงก็ไม่ได้เกิด”
ขณะเดียวกันผู้บริหารโมโตโรล่ายังเชื่อว่า หลังผ่านช่วงนี้ไปจะได้เห็นว่าไวแมกซ์มีการใช้งานได้ขนาดไหน หากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ให้ใบอนุญาต หรือไลเซนส์ในเชิงพาณิชย์ เพราะจากการทดสอบในช่วงที่ผ่านมาเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าได้ผลเป็นอย่างดี และจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ที่สำคัญคือเทคโนโลยีนี้จะเป็นคอมเมอร์เชียล เน็ตเวิร์กในเวลาอันใกล้
Company Related Links :
Motorola