xs
xsm
sm
md
lg

ปัจจัยบวกเทคโนโลยี3Gบรอดแบนด์ ต้นทุนเครื่องลูกข่าย-เครือข่ายต่ำสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนวงการโทรคมนาคมชี้เทคโนโลยี 3G บรอดแบนด์ เป็นคำตอบสุดท้ายสำหรับโอเปอเรเตอร์ที่มองเรื่องต้นทุนต่ำที่สุดในด้านการสร้างเครือข่าย เนื่องจากจำนวนสถานีฐานที่จะต้องสร้างขึ้นเพื่อครอบคลุมพื้นที่ให้บริการและเครื่องลูกข่ายซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มฐานผู้ใช้บริการ

แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมกล่าวว่าเทคโนโลยี 3G ถือเป็นคำตอบของการลงทุนที่มีต้นทุนต่ำกว่าเทคโนโลยีตัวเลือกใหม่ๆอย่าง Wi-MAX ทั้งในแง่ต้นทุนเครื่องลูกข่ายซึ่งมีราคาลดต่ำลงจากการขยายตัวของตลาด รวมทั้งต้นทุนของเครือข่ายซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับจำนวนสถานีฐานจะได้ประโยชน์จาก 3G ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการทดสอบและยอมรับในการให้บริการแล้วทั่วโลก เมื่อเทียบพื้นที่ครอบคลุมโดยแต่ละสถานีฐาน 3G จะมีจำนวนช่องสัญญาณและพื้นที่ให้บริการที่เหนือกว่าสถานีฐาน Wi-MAX ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ยังใหม่ ไม่ได้รับการรับรองอย่างกว้างขวาง

อีกทั้งยังไม่มีการนำไปใช้งานจริงในลักษณะการใช้งานแบบเคลื่อนที่ ทำให้ผู้ให้บริการเครือข่ายสามารถลงทุนติดตั้งสถานีฐาน 3G ในจำนวนที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีใหม่ๆอย่างในกรณีของ Wi-MAX

ในขณะที่ต้นทุนด้านลูกข่ายก็จะลดลงโดยที่ต้นทุนของเครื่องลูกข่าย 3G มีการลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2006 มีเครื่องลูกข่าย 3G มากกว่า 267 ล้านเครื่องออกสู่ตลาดโลก และเพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการแข่งขันระหว่างผู้ผลิตเองยังทำให้มีความหลากหลายให้เลือกมากขึ้นย่อมส่งผลให้ต้นทุนของเครื่องลูกข่ายลดต่ำลงกว่าราคาเครื่องลูกข่าย Wi-MAX ที่เพิ่งออกมาอย่างมากเนื่องจากมีจำนวนผู้ผลิตน้อยราย และยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นทำการตลาด

นอกจากนี้ ความไม่สอดคล้องและไม่ต่อเนื่องทางเทคโนโลยีระหว่างมาตรฐาน pre-802.16, มาตรฐาน Fixed WiMAX (802.16d) และมาตรฐาน Mobile WiMAX (802.16e) ก็ยังมีผลต่อขนาดตลาดของเครื่องลูกข่าย Wi-MAX เนื่องจากผู้ผลิตเครื่องลูกข่าย WiMAX เร่งผลิตเครื่องลูกข่ายรุ่นแรกๆ เข้าสู่ตลาดเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ โดยไม่ได้วางแนวทางในการขยายขีดความสามารถของเครื่องลูกข่ายนั้นๆ ให้รองรับมาตรฐาน Wi-MAX ในระยะต่อๆ ไปทำให้ต้นทุนในการพัฒนาเครือข่ายและการเปลี่ยนเครื่องลูกข่ายของผู้ประกอบการสูงขึ้น

แม้มาตรฐาน Mobile WiMAX (802.16e) จะเริ่มมีการให้บริการร่วมทั้งการสื่อสารประจำที่และแบบเคลื่อนที่ แต่ขนาดตลาดซึ่งครอบคลุมทั่วโลกของเทคโนโลยี 3G ประกอบกับมาตรฐานการกำหนดใช้คลื่นความถี่วิทยุที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้เครื่องลูกข่าย 3G จากผู้ผลิตแต่ละรายเป็นมาตรฐานเดียวกัน และยังสามารถผลิตเพื่อนำไปใช้ในตลาด 3G ได้ทั่วโลก ทำให้ต้นทุนรวมเครื่องลูกข่ายมีราคาต่ำและสามารถแข่งขันได้ดี

ในแง่ของขีดความสามารถ เครื่องลูกข่าย 3G มีศักยภาพสูง เช่น จอภาพความละเอียดสูง, มีแป้นพิมพ์, จอภาพระบบสัมผัส, หน่วยความจำขนาดใหญ่ แม้จะมีต้นทุนที่สูงกว่าเครื่องลูกข่ายทั่วไป แต่ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนั้นก็มาจากการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน ไม่ได้มาจากความซับซ้อนของระบบเครือข่าย ซึ่งแตกต่างจากกับเครื่องลูกข่าย Wi-MAX ที่ต้นทุนสัมพันธ์กับความหลากหลายและซับซ้อนของเครือข่าย ทำให้เครื่องลูกข่าย 3G มีความได้เปรียบในด้านต้นทุนมากกว่า และเมื่อมองในมุมของการออกแบบเครื่องลูกข่ายให้รองรับหลายย่านความถี่ เครื่องลูกข่าย 3G ก็ยังมีข้อได้เปรียบในด้านต้นทุนมากกว่า Wi-MAX

ในเรื่องต้นทุนเครือข่าย เนื่องจากจำนวนของสถานีฐานมีผลโดยตรงต่อต้นทุนของเครือข่าย เนื่องจากโดยส่วนใหญ่แล้วต้นทุนต่อสถานีฐานของเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายแต่ละประเภทไม่แตกต่างกันมากนัก ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์สถานีฐาน, ระบบจ่ายไฟ, สายอากาศ

การเปรียบเทียบต้นทุนเครือข่ายของเทคโนโลยีสื่อสารแต่ละประเภท จึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับสถาปัตยกรรมเครือข่ายและรูปแบบการให้บริการ การเปรียบเทียบต้นทุนของเครือข่าย 3G ซึ่งรองรับการสื่อสารขณะเคลื่อนที่ กับต้นทุนของเครือข่าย Wi-MAX ที่รองรับเฉพาะการสื่อสารขณะอยู่กับที่หรือมีรูปแบบการสื่อสารแบบจุดต่อจุดในลักษณะเดียวกับวงจรสื่อสัญญาณทั่วไป จึงไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง

แม้เทคโนโลยี 3G กับ Wi-MAX สามารถให้บริการในลักษณะสร้างพื้นที่ครอบคลุมเป็นเซลล์เหมือนกัน แต่เทคโนโลยี 3G จะมีความเป็นเครือข่ายเซลลูลาร์ที่สมบูรณ์แบบซึ่งรองรับทั้งจำนวนช่องสัญญาณที่มาก และพื้นที่ให้บริการที่ยืดหยุ่นเช่นเดียวกับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั่วไปมากกว่าพฤติกรรมของเครือข่าย Wi-MAX

แหล่งข่าวกล่าวว่า ภายใต้สภาพแวดล้อมและเงื่อนไขในการให้บริการเดียวกัน เทคโนโลยี 3G จะมีความได้เปรียบทั้งในด้านจำนวนช่องสัญญาณ การใช้ความถี่อย่างมีประสิทธิภาพ และพื้นที่ให้บริการ ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาพการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการแบบ WAN (Wide Area Network), Hot Zone, Hot Spot ซึ่งรองรับการใช้งานทั้งแบบประจำที่ เคลื่อนที่ช้าๆ และเคลื่อนที่ด้วยความเร็วที่มากขึ้น

ทั้งพื้นที่ให้บริการและจำนวนช่องสัญญาณล้วนมีผลโดยตรงต่อจำนวนสถานีฐาน และส่งผลต่อต้นทุนเครือข่าย แม้จะมีผู้ให้บริการบางรายเลือกที่จะลงทุนสร้างเครือข่าย Wi-MAX ซ้อนทับเครือข่าย 2G เพื่อให้บริการบรอดแบนด์ไร้สาย แต่เทคโนโลยี 3G ยังคงเป็นทางเลือกที่ให้ต้นทุนที่ต่ำกว่า มีความยืดหยุ่น รวมถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และมีคุณภาพในการให้บริการที่เหนือกว่า

นอกจากนี้ เทคโนโลยี 3G ได้รับการออกแบบมาให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี 2G และยังรองรับพัฒนาการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องโดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรความถี่ที่จำกัดให้มีประสิทธิภาพสูงสุดตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานในลักษณะ บรอดแบนด์ในอนาคต ทั้ง HSPA, UMB และ LTE ซึ่งถือเป็นปรัชญาสำคัญของการลงทุนในอุตสาหกรรมเครือข่ายไร้สายแบบเซลลูลาร์ จึงถือเป็นความคุ้มค่าในการลงทุนของผู้ประกอบการ ในขณะที่มาตรฐาน IEEE802.16d และ IEEE802.16e ของเทคโนโลยี Wi-MAX กลับไม่สอดคล้องกันและไม่สามารถนำไปใช้งานร่วมกันได้

Company Related Links :
Cattelecom
กำลังโหลดความคิดเห็น