xs
xsm
sm
md
lg

“ตฤณ”ชี้ไอเอสพีไทยไม่มีใครตัวจริง ปีนี้ยังแข่งเดือดทั้งเก่า-ใหม่ล้มตายอีก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตฤณ ตัณฑเศรษฐี ภาพจาก efinancethai.com
“ตฤณ ตัณฑเศรษฐี”วิพากษ์ธุรกิจไอเอสพีไทย ยังไม่มีใครเป็นตัวจริง และอยู่ได้ถาวร แค่ตลาดช่องว่างและโอกาส  มีหลายรายที่โต และล้ม หลายรายต้องฉีก ตัวเองออกไป มากกว่าการเป็นไอเอสพี ด้วยบริการครบวงจร เชื่อปีนี้อาจมีล้มหายตายจากอีก รวมถึงไอเอสพีหน้าใหม่ที่ได้ไลเซนส์จาก กทช.  เพราะต้องลงมาเล่นตลาดจริงจัง ทั้งยังแข่งกันสูง ย้ำผู้ที่เหลือรอดอยู่ได้จะเป็นตัวจริง

นายตฤณ ตัณฑเศรษฐี กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทอร์เน็ต ประเทศไทย หรือไอเน็ต กล่าวว่า ช่วงปีที่ผ่านมา ไอเน็ตไม่ค่อยออกมาเปิดเผยข้อมูลความคืบหน้าทางธุรกิจไอเอสพี หรือการผันตัวในการเป็นผู้ให้บริการไอซีทีครบวงจรมากนัก เนื่องจากอยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจการแข่งขันใหม่ และกลยุทธ์ให้บริการ จึงทำให้ไอเน็ต มีบทบาทในตลาดน้อยลง หรือ การสร้างสีสันด้านบริการยังกลุ่มลูกค้า แต่ในปี 2551 นี้ ไอเน็ต จะเข้ามาสร้างมิติการแข่งขันให้กับธุรกิจไอเอสพี ในยุคของการเอาอยู่รอด และการแข่งขันเสรี จากผลการกำกับดูแลของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ที่จะเกิดขึ้น หลังจากที่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการรายใหม่ เข้ามาขอรับใบอนุญาต (ไลเซนส์) ไอเอสพี อยู่จำนวนมาก

“ขณะนี้ธุรกิจไอเอสพียังไม่มีใครเป็นตัวจริง และอยู่ได้อย่างถาวร เป็นเพียงผู้ที่คิดว่า ตลาดนี้ มีช่องว่าง และโอกาส  มีหลายรายแล้วที่โต และ ล้มไปจำนวนมาก ที่คิดในลักษณะนี้ ไอเอสพี ตอนนี้ทุกราย ต่างตระหนักดีกับธุรกิจแข่งขันตัวเอง ที่จะก้าวไปอยู่จุดไหน และ ลงไปหาตลาดของตัวเองได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีหลายราย ที่ต่างฉีกธุรกิจ ตัวเองออกไป มากกว่าการเป็นไอเอสพี หากขืนยืนอยู่แบบไม่รู้ตัวเอง ในปีนี้ อาจจะต้องมีคนล้มหายไปอีก แม้กระทั่งหน้าใหม่ที่ได้ไลเซนส์  โดดมาร่วมวง เดี๋ยวก็รู้ว่าเป็นอะไร  เพราะปีนี้เขาต้องลงมาเล่นตลาดจริงจัง หลังจากที่ขอไลเซนส์ไปแล้ว 1  ปี และ คนที่เหลือรอดอยู่ได้นั้นจะเป็นตัวจริง ”

ส่วนทิศทางของไอเน็ตยังคงหันไปเน้นสินค้าที่เป็นไอทีโซลูชัน ตามศักยภาพและความถนัดของตัวเอง พร้อมทั้งเปิดตัวบริการใหม่เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าในตลาด เน้นบริการที่ครบวงจรมากขึ้น แต่ทุกอย่างจะอยู่บนพื้นฐานบนการให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ต ในลักษณะโซลูชัน ทั้งที่ดำเนินการด้วยตนเองและ จากการดำเนินการร่วมกับพันธมิตร อาทิ การบริการด้านเว็บเซอร์วิส บริการการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทางการเงิน และการบริการความปลอดภัยข้อมูล รวมทั้งเน้นที่ธุรกิจหลัก (Core Business) ที่เกี่ยวกับธุรกิจของไอเน็ต คือบริการสื่อสารข้อมูลผ่านระบบเครือข่าย  เมโทรแลน  บริการศูนย์รับฝากข้อมูล นอกจากเหนือจากบริการอินเทอร์เน็ต

จุดเริ่มต้นธุรกิจของไอเน็ต นับจากมีนาคม 2538 เริ่มก่อตั้งเป็นศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตประเทศไทย เป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเชิงพาณิชย์ รายแรกของประเทศไทย เกิดจากการร่วมทุนระหว่างการสื่อสารแห่งประเทศไทย ก่อนจะเป็นบริษัท กสท โทรคมนาคม องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ก่อนจะเป็นบริษัท ทีโอที และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งมีลักษณะเป็นรัฐวิสาหกิจและได้ขยายการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

จนปีตุลาคม 2540 ได้เปลี่ยนรูปกิจการเป็นบริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด และได้รับสิทธิ์การให้บริการอินเทอร์เน็ตในเชิงพาณิชย์อีกเป็นครั้งที่สอง และในเดือนพฤศจิกายน 2544 ได้ดำเนินการแปรรูปพ้นสถานะรัฐวิสาหกิจโดยกระจายหุ้นส่วนใหญ่ ให้กับประชาชนผู้สนใจในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

เตือนไอเอสพีหน้าใหม่

“ตอนแรกที่ก่อตั้ง มันเหมือนอะไรที่แปลกใหม่เลยนะในช่วงเวลานั้น มีหลายคนกระโจนเข้ามาตามหลายราย ขอสัมปทาน ขอร่วมทุนตามเราบ้าง แต่สุดท้ายละตอนนี้มีใครเหลือ ตอนแรกทุกคนคิดว่ามีมาร์จิ้นพอ แต่มาถึงตอนนี้ จากที่ผมสำรวจข้อมูลด้านมูลค่าและยอดรายได้ของธุรกิจไอเอสพี ที่ปัจจุบันเดี๋ยวนี้มูลค่าอยู่ไม่กี่ร้อยล้านบาท ที่ตอนนี้มันหดลงต่อเนื่อง ตอนนี้ภาพแบบนั้นกลับมาอีกรอบ กับคนที่รับไลเซนส์ใหม่ และเป็นไลเซนส์ ที่ไม่ใช่ตัวจริง กับที่เรียกว่าไอเอสพี แต่เป็นการให้บริการด้านเสียงผ่านอินเทอร์เน็ตมากกว่า คนที่จะให้บริการอินเทอร์เน็ตจะมีสักกี่ราย”

สำหรับทิศทางแข่งขันของธุรกิจผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ทั้งปีนี้ และปี 2551 กรรมการผู้จัดการไอเน็ต กล่าวว่า  มูลค่าการเติบโตนั้นไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจนว่าจะคงเหลือเท่าไหร่กับค่าที่จะประมาณการณ์ได้  โดยเฉพาะเรื่องการเติบโต หากมียอดจำนวนผู้ใช้งาน ใช่ อาจจะมีเกิดจริง แต่ถ้ามองในด้านจุดเชื่อมต่อแล้ว  ไม่มีเติบโตขึ้น หรือมีจุดข่ายสายกระจาย ทุกอย่างยังคือ ของเก่า  ไม่มีของใหม่ ตัวเลขที่ใช้อยู่  ล้วนมาจากตัวเลขที่มาจากการรีเพลส เสียมากกว่าที่เปลี่ยนจากการใช้ระบบหมุนโมเด็ม มาใช้บรอดแบนด์ และบรอดแบนด์ที่ใช้อยู่  ก็ไม่ใช่บรอดแบนด์แท้จริง เพราะหากเทียบด้านความเร็ว บรอดแบนด์ จะต้องมีความเร็วในระดับ 2 เมกะบิตต่อวินาที ขึ้นไป แต่ผู้ใช้ส่วนใหญ่ ใช้อยู่ในระดับเพียง 256 กิโลบิตต่อวินาที ซึ่งแสดงถึงระบบโครงข่าย โครงสร้างเป็นของเก่า ที่ลงทุนไว้ 10 ปีก่อนหน้านี้ ซึ่งมันสวนกับข้อเท็จจริง ในสิ่งที่นำเสนอกับผู้บริโภค ผู้ใช้งาน

แนะหนทางการอยู่รอด

ทางรอดของการแข่งขันในธุรกิจไอเอสพี นั้นผู้ให้บริการ ต้องรู้จักปรับตัวหาลูกค้า รู้จักเข้าไปหาตลาด ที่เป็นครีม แต่ตอนนี้ทุกคนต่างจับจ้องบนเค้กก้อนเดียวกัน มาร์จิ้น มันมีอยู่ แต่ส่วนแบ่งมันเยอะมาก  การที่ไอเน็ต อยู่รอดได้ทุกวันนี้ ก็เพราะ รู้จักหาตลาดเอง และทำสิ่งที่ลูกค้านั้นขาด อย่างเช่นในช่วงตลาดคอนซูมเมอร์แข่งขันสูง เราก็รู้ว่าตลาดนี้ยังไงมันก็ต้องอิ่ม และต้นทุนก็ไม่ได้ เพราะทุกคนต้องตัดราคา เราเลยไปจับตลาดองค์กร ลูกค้ารายแรกของเรา คือ ธนาคารไทยพาณิชย์  ซึ่งตอนนั้น ถือเป็น ตลาด ที่ไม่มีใครสนใจ พอเราเข้าไป เราทำได้ ตลาดนี้ เราก็ขยายไป คนอื่นก็เล่นคอนซูมเมอร์ไป พอสุดท้ายมันอิ่มจริง ไปไม่รอด  พอเห็นเรามาตลาดองค์กร แล้วทำได้ดี ก็พยายามตามมา  สุดท้ายมันไม่เหลือแล้ว เพราะองค์กรรายใหญ่ๆ  ไอเน็ต  ได้เก็บเกี่ยวมาเป็นฐานลูกค้าเกือบหมดแล้ว ซึ่งตอนนี้  ไอเน็ตก็ยังยึดกลยุทธ์ในลักษณะนี้อยู่  ที่การวางตัวให้เป็นมากกว่า ที่เป็นไอเอสพี และ การบุกตลาดใหม่ พร้อมการสร้างบริการที่ตอบในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ  เพราะทุกคนนั้นมีความต้องการใช้งานที่ต่างกัน  แต่ทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้งานได้ โดยที่เราต้องพัฒนาบริการให้สอดรับกับความต้องการให้ได้

“ปี 51 ไอเน็ต จะเปลี่ยนไปไหม ขอให้รออีกสักนิด ในเร็วๆนี้ หรือไม่เกินไตรมาสที่ 1 นี้ได้เห็นว่า สิ่งที่ดูเงียบเหงาไปทำอะไร ทุกอย่างจะตอบได้หมดในช่วงนั้น  ว่าเราจะเดินหน้าไปทางไหน ผมให้ข้อมูลเบื้องต้นได้ว่า  เรายังคงเป็น ผู้ให้บริการไอซีที ที่ครบวงจร เพียงแต่เราปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ทั้งหมด ที่จะให้สอดรับกับการแข่งขัน  ดังนั้นช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมาจึงทำให้ ไอเน็ต ดูเงียบเหงา ไม่มีอะไรใหม่ ผมก็ยอมรับ เพราะของใหม่ทางเทคโนโลยีมันไม่มีอะไรใหม่จริง ของใหม่ คือ อะไร มันก็ไม่มีอะไรที่เห็นเด่นชัด  จับต้องได้ เป็นเพียงเรื่องบริการใหม่มากกว่า แต่ตรงนั้นไม่ใช่ธุรกิจ  หากทำให้ดีย่อมมีทางออก นั่นก็คือการที่เราปรับตัวบิสซิเนสให้เป็นโอกาสมากขึ้น ที่เราจะต้องดึงเทคโนโลยีที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และนั่นก็คือ การสร้างเซอร์วิส สอดรับผู้ใช้ ที่จะทำให้เราอยู่รอดได้”

Company Related Links :
INET
กำลังโหลดความคิดเห็น