ตำรวจ ปอท.ทลายเครือข่ายหลอกลงทุนซื้อหุ้นกู้ “CP ALL” พบเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 1,500 ล้านบาท อ้างถูกหลอกบังคับทำงานให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ในปอยเปต
วันนี้ (2 ต.ค.) พล.ต.ต.อธิป พงษ์ศิวาภัย ผบก.ปอท. สั่งการ พ.ต.อ.สุพจน์ พุ่มแหยม ผกก.2 บก.ปอท., พ.ต.ท.นิธิ ตรีสุวรรณ รอง ผกก.2 บก.ปอท., พ.ต.ท.ณัฐวุฒิ มงคลการ, พ.ต.ท.ชัยเวง พาด้วง, พ.ต.ท.จักรพงษ์ รุ่งจำกัด, พ.ต.ต.วชิรเชษฐ์ อัครธีระพงศ์, พ.ต.ต.กมลภพ หาญเวช สว.กก.2 บก.ปอท. และ พ.ต.ต.ศุภเดช ธนชัยศิริ สว. (สอบสวน) กก.2 บก.ปอท. นำกำลังจับกุม น.ส.น้ำอ้อย อายุ 34 ปี, น.ส.หนู อายุ 43 ปี, น.ส.สายสม รอายุ 26 ปี, นายบุญมี อายุ 56 ปี และ นายภูษิต อายุ 35 ปี ตามหมายจับศาลอาญา ข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน, มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันเป็นอั้งยี่” ได้ในพื้นที่ นครราชสีมา, ปราจีนบุรี, สระแก้ว และนราธิวาส
ทั้งนี้ เมื่อเดือน พ.ย. 66 ได้มีมิจฉาชีพเปิดเพจเฟซบุ๊ก ชื่อ “Brand Cp” โดยใช้โลโก้ของ “CP ALL” โพสต์ภาพถ่าย ข่าวสาร กิจกรรมต่างๆ ของบริษัท พร้อมทั้งเชิญชวนประชาชนทั่วไปลงทุนกับบริษัท อ้างได้ผลตอบแทนสูง เมื่อผู้เสียหลงเชื่อก็ได้ส่งลิงก์เว็บไซต์ชื่อ “CP ALL” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่คนร้ายสร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้เสียหายสมัครสมาชิก โดยเมื่อสมัครสมาชิกและเข้าใช้งานแล้วจะปรากฏยอดเงินที่ผู้เสียหายโอนเงินเข้าไปลงทุนในระบบ และแสดงผลกำไรที่ได้จากการลงทุน
โดยช่วงแรกๆ ได้กำไรดีและสามารถทำรายการถอนเงินจากการลงทุนได้ทั้งหมด ทำให้ผู้เสียหายลงทุนต่อเนื่อง เพื่อต้องการกำไรที่มากขึ้น แต่พอจะถอนเงินกลับถูกกำหนดเงื่อนไขต่างๆ นานา อีกทั้งยังบังคับให้ชำระเงินค่าภาษี แต่สุดท้ายไม่สามารถถอนเงินจากระบบได้ เชื่อว่า ได้ถูกหลอกลวง จึงได้เข้าแจ้งความพนักงานสอบสวน บก.ปอท.ไว้
จากการตรวจสอบพบว่ามีผู้เสียหายกว่า 180 ราย มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 62 ล้านบาท นอกจากนี้ พบว่า คนร้ายได้ยักย้ายถ่ายเทเงินเป็นเงินดิจิทัล (สกุล USDT) โดยพบเงินหมุนเวียนในกระเป๋าเงินดิจิทัลของกลุ่มคนร้ายกว่า 1,500 ล้านบาท เจ้าหน้าที่ได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติหมายจับเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ดังกล่าว ประกอบด้วย กลุ่มบัญชีม้า, กลุ่มบัญชีคริปโตม้า, กลุ่มนายทุนและฟอกเงิน มีทั้งชาวไทย, กัมพูชา, เวียดนาม และจีน จำนวนหลายราย กระทั่งจับกุมผู้ต้องหาชาวไทยได้ จำนวน 5 ราย ดังกล่าว
สอบสวน ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธ โดยอ้างว่า ถูกหลอกพาไปทำงานที่ปอยเปต ประเทศกัมพูชา ผ่านทางช่องทางธรรมชาติ จากนั้นนำตัวไปกักขังบังคับให้เปิดบัญชีธนาคารและบัญชีแลกเปลี่ยนเหรียญดิจิทัล ถ้าไม่ทำตามก็จะถูกทำร้ายร่างกาย โดยในแต่ละวันจะมีสมาชิกของแก๊งคอลเซ็นเตอร์มารับตัวไปบังคับให้สแกนใบหน้าในการทำธุรกรรมทางการเงิน ได้รับค่าจ้างวันละ 1,000 บาท ก่อนพาไปทิ้งไว้ที่บริเวณชายแดน เพื่อให้เดินทางกลับฝั่งไทยเอง จึงนำตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอท. ดำเนินคดี พร้อมทั้งเร่งจับกุมนายทุนที่ยังหลบหนีคดีอยู่ในต่างประเทศ มาดำเนินคดีต่อไป