รายการ “ถอนหมุดข่าว” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 วันพุธที่ 24 กรกฎาคม 2567 นำเสนอรายงานพิเศษ เปิดความพร้อมทัพเรือ ในพระราชพิธี 27 ต.ค. เสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐิน
วิถีชีวิตของบรรพชนไทยแต่โบราณผูกพันกลมกลืนอยู่กับสายน้ำ พระมหากษัตริย์ไทยได้เลือกที่จะสร้างบ้านแปงเมืองอยู่ริมฝั่ง คนไทยจึงรู้จักคุ้นเคยกับเรือมาแต่ครั้งโบราณ ก่อเกิดประเพณีในการจัดขบวนเรือของพระมหากษัตริย์ ที่เรียกว่า ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการสืบสานมาจนถึงปัจจุบัน
ในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 จะทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 รัฐบาลได้มอบหมายให้กองทัพเรือรับผิดชอบการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชชวรมหาวิหาร ในวันที่ 27 ตุลาคม 2567
กองทัพเรือได้เตรียมที่จะดำเนินการดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยจัดเตรียมกำลังพล รวม 2,200นาย ทำหน้าที่นายเรือและฝีพาย รูปขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคใหญ่ จำนวน 52ลำ จัดเป็น 5ริ้ว ประกอบด้วยเรือพระที่นั่ง 4ลำ เรือรูปสัตว์ 8ลำ เรือดั้ง 22ลำ และเรืออื่น ๆ อีก 18 ลำ
การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระวิชรเกล้าเจ้าอยู่หัว
กองทัพเรือ ได้จัดการฝึกอบรมครูฝึกฝีพาย ตั้งแต่วันที่ 12กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อให้ครูฝึกนำไปถ่ายทอดฝึกซ้อมฝีพายบนเขียงฝึก ให้มีรูปแบบการพายที่ถูกต้อง โดยดำเนินการเป็นเวลา 20 วัน และได้เริ่มทำการซ้อมฝีพายบนเขียง (บนบก) ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม – 16 พฤษภาคม ในแม่น้ำในพื้นที่ต่างๆ ระหว่างวันที่ 28พฤษภาคม ถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2567
และเนื่องจากขบวนเรือทั้ง 52ลำ มีความยาว 1.2กิโลเมตร ความกว้างของขบวน 90เมตร ใช้ฝีพายมากถึง 2,200คน กองทัพเรือจึงต้องทำการฝึกซ้อมอย่างหนักและต่อเนื่อง โดยจะเริ่มทำการซ้อมย่อยเป็นรูปขบวนเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 10 ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ 1 ในวันที่ 1 สิงหาคม 2567
ครั้งที่ 2 ในวันที่ 8 สิงหาคม 2567
ครั้งที่ 3 ในวันที่ 15 สิงหาคม 2567
ครั้งที่ 4 ในวันที่ 22 สิงหาคม 2567
ครั้งที่ 5 ในวันที่ 3 กันยายน 2567
ครั้งที่ 6 ในวันที่ 12 กันยายน 2567
ครั้งที่ 7 ในวันที่ 19 กันยายน 2567
ครั้งที่ 8 ในวันที่ 26 กันยายน 2567
ครั้งที่ 9 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567
ครั้งที่ 10 ในวันที่ 10 ตุลาคม 2567
ส่วนการฝึกซ้อมใหญ่ ซึ่งมีการแต่งกายเหมือนจริง กำหนดไว้ 2ครั้ง ในวันที่ 15 ตุลาคม 67 และวันที่ 22 ตุลาคม 67 เพื่อให้ขบวนเรือพร้อมสำหรับวันพระราชพิธีจริง ในการนี้กองทัพเรือได้กำหนดแหล่งร่วมเรือไว้ ๒ พื้นที่ ได้แก่ วัดราชาธิวาส จำนวน 36ลำ และกรมอู่ทหารเรือ จำนวน 16ลำ ส่วนแหล่งรวมพล กำหนดไว้ 3พื้นที่ ได้แก่ กรมอู่ทหารเรือ กรมสารวัตรทหารเรือ จำนวน และบริเวณสะพานพระราม 8ฝั่งธนบุรี จำนวน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วและความเรียบร้อย ในการกำกับดูแลการปฏิบัติการฝึกซ้อมและในวันพระราชพิธี
ในส่วนของกาพย์แห่เรือ ได้มีการประพันธ์ขึ้นใหม่ เพื่อถวายพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดย พล.ร.ต.ทองย้อย แสงสินชัย เป็นผู้ประพันธ์
ไม่เพียงแต่การเตรียมความพร้อมของฝีพายเท่านั้น กองทัพเรือยังเตรียมการในสวนอื่นที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมขบวนเรือเช่นกันอาทิ ทีมตรวจการตามจุดต่างๆ ที่กำหนดไว้ บนอาคารสูงริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง เพื่อคอยกำกับดูแลรูปขบวนเรือ ระยะห่างของเรือแต่ละลำ และแจ้งให้นายเรือรับทราบตลอดเวลาเพื่อรักษาระยะต่อจากเรือลำหน้า และระยะเคียงจากเรือ ด้านข้างเพื่อรักษาความสวยงามของรูปขบวนเรือ รวมทั้งเพื่อรักษาระยะเวลาให้เรือถึงที่หมายตรงตามกำหนด ไม่เร็วหรือช้าเกินไป
ทั้งนี้ตามแนวทางที่กำหนดไว้ในทุกครั้งที่เสร็จสิ้นการซ้อม การเคลื่อนขบวนเรือในแม่น้ำ นายเรือทุกลำในขบวนจะต้องเข้าร่วมประชุมฟังคำชี้แจงถึงข้อบกพร่องที่อาจเกิดขึ้น ในการฝึกซ้อมวันที่ผ่านมาเพื่อนำไปแก้ไขไม่ให้กระทบกับภาพรวม ความสวยงามของขบวนเรือทั้งหมด
ซึ่งรายละเอียดปลีกย่อยเหล่านี้ คนทั่วไปที่ไม่ใช่กำลังพลฝีพาย และนายเรือ จะไม่มีโอกาสรู้เลยว่า กว่าจะเป็นขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ที่งดงาม และเป็นหนึ่งเดียวในโลก มีเบื้องหลังที่ละเอียดละออ ซับซ้อนเพียงใด
--------------------------------
**หมายเหตุ
แอป Sondhi App ดาวโหลดได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android