ร้อง ปธ.ก.อ.เร่งสอบวินัย บิ๊กอัยการ ภาค 2 สั่งฟ้องโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา หลังเเก้ไขคำสั่งเดิมของตัวเองไม่ชอบ ระบุ ระเบียบอัยการเเก้คำสั่งตัวเองไม่ได้ ต้องส่ง รอง อสส.พิจารณาสั่งใหม่
วันที่ 15 ก.ค. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนเเจ้งวัฒนะ พ.ต.อ.พงศ์รัตน์ หรือ ไพรัตน์ ไพพรรณรัตน์ อายุ 57 ปี รองผู้บังคับการอำนวยการตำรวจภูธรภาค 9 ได้เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียน ถึงประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เรื่อง ร้องเรียนกรณีอัยการผู้ใหญ่ ภาค 2 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ (กลับความเห็นโดยไม่มีอำนาจ) โดยมีการลงรับหนังสือดังกล่าว ไว้ที่ 06794 ลงวันที่ 12 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา
พ.ต.อ.พงศ์รัตน์ กล่าวว่า มายื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) กรณีที่อัยการผู้ใหญ่ในภาค 2 มีคำสั่งโดยไม่ชอบเป็นครั้งที่ 2 เกี่ยวกับการคดีที่สั่งฟ้องตนโดยที่ไม่ได้แจ้งข้อหาไม่ผ่านการสอบสวนมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อเดือนเมษายน ซึ่งเมื่อครั้งนั้น เป็นการสั่งฟ้องโดยผิดกฎหมาย ตนได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับอัยการชั้นผู้ใหญ่ท่านนี้ ว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในระหว่างที่แจ้งความแล้ว หรือหลังจากที่แจ้งความแล้วอยู่ในระหว่างสอบสวน อัยการผู้ใหญ่คนดังกล่าวก็กลับไปแก้ไขคำสั่งของตัวเองที่สั่งผิดกฎหมาย
ซึ่งตามกฎหมายเเละระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2563 ข้อ 10 ในกรณีที่เห็นควรกลับความเห็นหรือกลับคำสั่งเดิม ให้เสนอตามลำดับชั้นถึงอธิบดีอัยการเพื่อพิจารณาสั่ง เว้นแต่ความเห็นหรือคำสั่งเดิมนั้นเป็นของอธิบดีอัยการให้เสนออัยการสูงสุด หรือรองอัยการสูงสุดผู้ได้รับมอบหมายเพื่อพิจารณาสั่ง
จะเห็นว่า โดยการแก้ไขท่านไม่มีอำนาจแก้ด้วยตัวเอง แต่ต้องเสนอให้อัยการสูงสุด หรือ รองอัยการสูงสุดที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้พิจารณาสั่ง จะเห็นว่า ที่ผ่านมาจนถึงปัจับัน การสั่งคดีของอัยการผู้ใหญ่ เป็นการสั่งโดยผิดกฎหมาย ทั้งสองครั้ง
และหลังจากที่ตนมีการดำเนินคดีกับอัยการผู้ใหญ่ท่านนี้ไปแล้ว รวมถึงที่เคยมาร้องขอความเป็นธรรมให้ อัยการสูงสุดพิจารณาหลักฐาน ต่อมาอัยการผู้ใหญ่คนดังกล่าวจึงไปแก้คำสั่งของตัวเองที่สั่งผิดไว้ก็กลายเป็นการแก้ไข หรือกลับคำสั่งโดยไม่ชอบอีก ย้ำว่า ระเบียบอัยการมีทั้งหมด 247 ข้อ ไม่มีข้อใดเลยที่ให้อำนาจอัยการในการที่สั่งคดีไปแล้วและกลับคำสั่งของตัวเองได้ต้องเสนอไปยังผู้บังคับบัญชาตามลำดับ
อัยการผู้ใหญ่ท่านนี้ท่านได้สั่งผิดทั้ง 2 ครั้ง มีการเน้นย้ำให้ส่งตัวมาฟ้อง หากส่งตัวไม่ได้ก็ขอให้มีการออกหมายจับ ซึ่งการสั่งการให้ออกหมายจับมันก็เป็นการบ่งชี้ถึงเจตนาที่กลั่นแกล้ง เพราะว่าถ้าคดีเข้าสู่ระบบโดยชอบทุกคนก็ต้องยอมเข้าไปต่อสู้คดีตามคำสั่งที่ถูกต้องตามกฎหมายที่ชอบธรรม แต่ด้วยคำสั่งที่ไม่ชอบก็กลายเป็นการดึงประชาชนเข้าไปสู่กระบวนการด้วยขั้นตอนที่ไม่ชอบก็ทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคมในวงกว้างเสียหายทั้งตัวผู้ถูกกระทำเสียหายทั้งองค์กรเสียหายทั้งประชาชนได้รับความเสียหาย
ขอย้ำว่า ถ้าเป็นกระบวนการที่ชอบ ช่องทางที่ชอบก็ยินดีเข้าไปสู่กระบวนการต่อสู้คดีอยู่แล้วเพราะว่ากฎหมายให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหามีสิทธิที่จะสู้คดีได้อย่างเต็มที่ เพราะกฎหมายให้สอบสวนด้วยความรวดเร็วเป็นธรรม กรณีตนมัน 4-5 ปี แล้วไม่เคยถูกสอบสวนในฐานะผู้ต้องหา อยู่ๆ อัยการผู้ใหญ่ใช้อำนาจโดยไม่ชอบเผิดต่อกฎหมาย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งได้กำหนดอำนาจในการมีความเห็นและคำสั่งของพนักงานอัยการในกรณีที่รับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวนแล้วที่สอบสวนเสร็จสิ้นแล้วกฎหมายให้อำนาจในการลงความเห็นและคำสั่งแยกกัน 1. สั่งสอบสวนต่อหรือ 2. เห็นควรสั่งฟ้องแล้วก็ประการต่อมาก็เป็นคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องซึ่งคำสั่งที่กฎหมายให้อำนาจไว้แยกกันโดยมาตราแต่ละมาตราตั้งแต่มาตรา 141 และมาตรา 143 เมื่อได้รับสำนวนและตัวผู้ต้องหามาตาม มาตรา 142 กฎหมายกำหนดการใช้อำนาจให้มีความเห็นแยกกันโดยสิ้นเชิงการที่จะมีคำเห็นสั่งอย่างไรมีความแตกต่าง ผลกระทบทางกฎหมายก็แตกต่างกัน
การกระทำของอัยการผู้ใหญ่ภาค 2 โดยผิดกฎหมายถึง 2 ครั้งติดต่อกันนั้น เป็นการกระทำที่ส่อให้เห็นถึงเจตนากลั่นแกล้ง ตามหลักการพิจารณาเจตนาของกฎหมาย คือ กรรมเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงเจตนา จึงขอให้ ก.อ.ตั้งคณะกรรมการขั้นมาสอบสวนวินัยโดยด่วน เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อตนและครอบครัว อีกทั้งองค์กรสำนักงานตำรวจแห่งชาติ องค์กรอัยการ และประชาชนอีกต่อไปพร้อมกันนี้ตนได้แนบเอกสารพยานหลักฐาน การกลับคำสั่งดังกล่าวมาด้วย
“ในสำนวนการสอบสวนคดีดังกล่าวคณะ พนักงานสอบสวนร่วม 10 คน ได้ร่วมกันทำการสอบสวน มีความเห็นว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด อีกทั้งพนักงานอัยการเจ้าของสำนวน อัยการอาวุโสที่ร่วมพิจารณา และอัยการจังหวัด ล้วนมีความเห็นไปในทางเดียวกัน ว่า ไม่มีส่วนร่วมกระทำความผิด จึงไม่ได้แจ้งข้อหา เห็นควรสั่งไม่ฟ้องมาตลอดสายมีเพียงอัยการผู้ใหญ่ ภาค 2 เพียงคนเดียว ที่สั่งขัดต่อพยานหลักฐาน” พ.ต.อ.พงศ์รัตน์ ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ได้มีหนังสือจากพนักงานสอบสวน สภ.อ.พัทยา ถึงผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 เพื่อขอปฏิบัติตามคำสั่งของอัยการจังหวัดพัทยา ให้นำตัว พ.ต.อ.พงศ์รัตน์ มาเเจ้งข้อกล่าวหาสอบสวนและส่งพนักงานอัยการ
โดย พล.ต.ต.นรินทร์ บูสะมัญ รอง ผบช.ภ.9 ได้พิจารณาหนังสือจากพนักงานสอบสวน สภ.เมืองพัทยา แล้วมีคำสั่ง ให้ พ.ต.อ.พงศ์รัตน์ รายงานชี้แจง รายละเอียด พฤติการณ์ และมอบหมายให้กองบังคับการกฎหมายและคดี ภาค 9 (บก.กค.9) ตรวจสอบขั้นตอนการดำเนินการของ สภ.เมืองพัทยา ว่า ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่