ลูกเรือน้ำมันเถื่อน 11 คน รายงานตัว ตำรวจ ปอศ. ตามหมายเรียก หลังเรือของกลางขนน้ำมันเถื่อนหาย รับให้ประกันตัวลูกเรือก่อนเกิดเรื่อง 3 ล้านบาท ตามมติ ศ.ปนม.ตร
วันนี้ (17 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทนายความพาลูกเรือน้ำมันเถื่อน 12 คน ที่ไม่ได้เดินทางไปกับเรือของกลาง 3 ลำ เข้าพบ พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือ ปอศ. ตามหมายเรียก หลังเกิดเหตุเรือน้ำมันของกลาง 3 ลำหายไปจากท่าเทียบเรือตำรวจน้ำสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมา เวลา 20:00 น พร้อมลูก 15 คน ซึ่งทั้งทนายความและลูกเรือ ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน
ด้าน พ.ต.อ.ชัชวาล ชูชัยเจริญ ผู้กำกับการ ปอศ.2 เจ้าของคดี เปิดเผยว่า วันนี้พนักงานสอบสวน ได้ออกหมายเรียกลูกเรือ น้ำมันเถื่อน ที่ถูกจับกุม เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ที่ผ่านมา 5 ลำ รวม 28 คน ซึ่งมีทั้งคนไทยและต่างด้าว โดยเป็นการออกหมายเรียกผ่านนายประกัน เพื่อให้นายประกัน ติดตาม และนำตัวลูกเรือทั้งหมดมารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวน เพื่อคัดกรอง และตรวจสอบจำนวนลูกเรือที่ยังอยู่ในประเทศ และจำนวนผู้ต้องหาที่หลบหนี
ซึ่งเบื้องต้นพบว่า มีลูกเรือหลบหนีไปกับเรือทั้ง 3 ลำ จำนวน 15 คน และยังอยู่ในประเทศอีก 13 คน โดยในจำนวน 13 คน นายประกันสามารถนำตัวมารายงานตัวในวันนี้ได้จำนวน 11 คน ส่วนอีก 2 คน เป็นคนไทย 1 คน เมาหลับอยู่ในเรือ จึงไม่ได้เดินทางมาในวันนี้ และต่างด้าวอีก 1 คน ยังคงอยู่ในพื้นที่ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ขอให้นายประกันเร่งติดตามตัวผู้ต้องหาทั้งสองคนที่ไม่ได้มารายงานตัวในวันนี้ ให้เร่งนำตัวมาพบพนักงานสอบสวนโดยด่วน เพื่อไม่ให้ถูกตัดสิทธิการประกันตัว ส่วนผู้ต้องหาทั้ง 15 คนที่หลบหนีไปพร้อมกับเรือทั้ง 3 ลำ
พนักงานสอบสวน ปอศ.เตรียมถอนประกัน เนื่องจากผิดสัญญาประกัน พร้อมทั้งเตรียมออกหมายจับฐานหลบหนีประกันตัว ซึ่งนายประกันจะต้องทำหน้าที่เร่งติดตามตัวผู้ต้องหาทั้งหมดมาดำเนินคดีให้ได้ ในส่วนของคดีขโมยเรือ เป็นอำนาจหน้าที่ของตำรวจกองปราบปราม ซึ่งคาดว่า ตำรวจกองปราบจะดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการสืบสวนขยายผลว่ามีใครอยู่เบื้องหลัง และมีใครมีส่วนรู้เห็นกับการกระทำดังกล่าวบ้าง
ส่วนคดีการจับกุมเมื่อวันที่ 19 มีนาคม ที่ผ่านมา เป็นความผิดเกี่ยวกับภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากร ซึ่งคดีดังกล่าวถือเป็นคดีนอกราชอาณาจักร แต่กระทำผิดตามกฎหมายไทย ดังนั้น เข้ามาร่วมทำการสอบปากคำด้วย
“สำหรับกระแสข่าววิพากษ์วิจารณ์กรณีที่ตำรวจให้ประกันตัวลูกเรือทั้ง 28 คน ในวงเงิน 3 ล้านบาท ก่อนหน้านี้ จนก่อให้เกิดปัญหาการหลบหนี ผู้กำกับการ ปอศ. 2 ชี้แจงว่า ในกรณีดังกล่าวเป็นมติของที่ประชุมใหญ่ ที่มี รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.ไกรบุญ ทรวดทรง ประธานศูนย์ปฏิบัติการปราบปรามน้ำมันเถื่อน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ศปนม.ตร มีมติร่วมกันว่าให้ประกันตัวผู้ต้องหาซึ่งเป็นลูกเรือทั้ง 28 คน ได้ เนื่องจากเรือ 3 ลำ ทั้งหมด 5 ลำ มีปัญหาน้ำรั่วเข้าลำเรือ ซึ่งต้องทำการดูดน้ำออกจากเรือตลอดเวลา หากไม่ดำเนินการดังกล่าว ทำให้เรือล่มได้และน้ำมันจะรั่วไหลลงทะเล ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และจะเกิดความเสียหายมหาศาล”
ซึ่งในกรณีนี้ ทางด้านของทนายความได้นำหลักทรัพย์จำนวน 3 ล้านบาท มายื่นขอประกันตัวลูกเรือ พร้อมให้สัจจะวาจาว่าจะควบคุมดูแลลูกเรือซึ่งเป็นผู้ต้องหาทั้งหมดและจะให้ลูกเรือทั้งหมด เป็นผู้ดูแล
ผู้สื่อข่าวถามว่า และเหตุใดจะต้องให้ลูกเรือเป็นผู้ดูแลเรือ ทำไมเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ดำเนินการควบคุมดูแลเรือด้วยตนเอง ซึ่งน่าจะมีความรู้ความสามารถมากกว่า ทางด้านของผู้กำกับ ปอ.ส 2 ระบุว่า การควบคุมเรือแต่ละลำจะต้องใช้เจ้าหน้าที่รัฐลำละ 4 คน ต่อผลัด 1 วัน มี 4 ผลัด รวม 16 คนต่อเรือ 1 ลำ เรือมีทั้งหมด 5 ลำ จะต้องใช้กำลังพลจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งการใช้คนของเขาดูแลเรือของเขาเอง จะดีกว่าซึ่งเป็นผู้ที่รู้เรื่องระบบกลไกภายในเรือดีกว่า ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้น
ส่วนกรณีของลูกเรือทั้ง 15 คน ที่หลบหนีไปพร้อมเรือทั้ง 3 ลำนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ จนกว่าเรือทั้ง 3 ลำ จะถูกชักลากกลับมาเข้าฝั่งไทย และทำการสอบปากคำทั้งหมดเสียก่อน จึงจะทราบถึงสาเหตุของการหลบหนีดังกล่าว
ส่วนความเชื่อมโยงกับนายทุนชื่อ จ. ในคดีเดิมนั้น ในการสอบครั้งแรกมีการส่งทนายความมานั่งประกบผู้ต้องหาจำนวนมาก และนายประกัน ทนายความไม่ยอมให้ข้อมูลกับตำรวจว่าเงินสำหรับประกันตัวนั้นได้มาจากที่ใด แต่ยืนยันว่า ตำรวจได้ทำสำนวนอย่างลึกและละเอียด แต่ไม่ขอเปิดเผยเรื่องในสำนวนมากนัก เพราะอาจกระทบต่อรูปคดี แต่ขอให้เชื่อในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งทั้งผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางและอัยการสูงสุด ทำอย่างเต็มที่ร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตั้งแต่เรือหายไป ทางผู้บังคับบัญชาก็ได้เข้ามาตรวจสอบสำนวน ซึ่งยังไม่พบว่ามีส่วนใดที่บกพร่อง มีเพียงการควบคุมเรือเท่านั้นที่บกพร่องซึ่งได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้ว
ทั้งนี้ สำหรับแนวทางการสืบสวนที่ผ่านมา ยังไม่ชัดเจน แน่ชัดว่าเป้าหมายคือเรือหรือน้ำมัน ส่วน 15 คนที่หลบหนีไป หากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลากเรือไปก็จะถูกเพิ่มโทษ ในข้อหาเกี่ยวกับการลักทรัพย์ หรือ ป.อาญา 142 ซึ่งต้องให้พนักงานสอบสวนในคดีหลักพิสูจน์จากพยานหลักฐาน เช่น วงจรปิดจากท่าเรือ และการพิสูจน์ผู้ที่มีส่วนร่วมกับการนำเรือของกลางออกไป
อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ต้องหาหลบหนีไปได้นานขนาดนี้ มีคำถามที่ต้องตอบว่า เกิดจากผู้ต้องหาอย่างเดียวหรือไม่ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ หรือทุกอย่างประกอบกัน
ส่วนการประสานติดตามตัวนาย จ.กลับมานั้น ให้เป็นหน้าที่ของทางกองปราบ และที่ผ่านมา มีการประสานข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์ในคดีกับทางกองปราบโดยตลอด แต่เรามีความจำเป็นต้องเก็บข้อมูลบางอย่างไว้ เนื่องจากเชื่อว่าทางผู้กระทำความผิดเป็นผู้มีอิทธิพล และไม่แน่ใจว่าคนรอบตัวอยู่กับเขาบ้างหรือเปล่าก็ไม่รู้
ส่วนการจับกุมในคดีแรกนั้น ทางศูนย์ปราบปรามน้ำมันเถื่อน (ศ.ปนม.ตร.) ได้สั่งการให้ตำรวจน้ำ และเจ้าหน้าที่อีกหลายส่วนเข้าจับกุมโดยใช้เรือของตำรวจน้ำ เมื่อจับคนได้จึงนำเรือเข้ามาเทียบท่า ที่ท่าเทียบเรือตำรวจน้ำสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และส่งไปดำเนินคดีที่กองกำกับการ 2 ปอศ.เพราะมีการร้องทุกข์กล่าวโทษเกี่ยวกับการลักลอบ นำเข้าและเกี่ยวข้องกับภาษีศุลกากรเป็นหลัก ซึ่งเป็นการจับกุมในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ซึ่งอยู่ค่อนข้างไกลมาก ห่างจากเส้นฐาน 200 ไมล์ทะเล เทียบหรือเทียบเป็นกว่า 100 กิโลเมตรบนบก จึงดำเนินการในคดีนอกราชอาณาจักร ส่วนเขตราชอาณาจักรไทยอยู่ที่ประมาณ 12 ไมล์ทะเล
เชื่อว่า กลุ่มนี้มีผู้ให้คำแนะนำในการลักลอบทำผิดกฎหมายเป็นอย่างดี คือ ให้โยกย้ายขนถ่ายน้ำมันในพื้นที่ที่ไกลมาก ทำให้การลงครั้งนี้ต้องมีการปรึกษากับทางอัยการ อย่างรอบคอบเพื่อทำสำนวนให้มีความละเอียดรัดกุมมากที่สุด
เบื้องต้น ผู้กล่าวหามองว่า น่าจะนำน้ำมันมาจำหน่ายในประเทศไทย และมีพยานหลักฐานประกอบในสำนวนด้วย
ทั้งนี้ สำหรับคดีนอกราชอาณาจักรคดีแรกนั้น ทาง กก.2 ปอศ. จะต้องสรุปสำนวนภายในหกเดือนซึ่งขณะนี้ผ่านมาแล้วสองเดือน