ศาลนัดตรวจหลักฐานคดี หุ้น สตาร์ค ผู้เสียหายตั้งตัวแทนยื่นขอเป็นโจทก์ร่วม ขอหมายศาลเรียกพยานเอกสาร ยันไม่ปิดโอกาสไกล่เกลี่ย เเต่ต้องจ่าย 50 เปอร์เซ็นต์ก่อน
เมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ (10 มิ.ย.) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานคดีหุ้นกู้ STARK ที่อัยการสำนักงานคดีพิเศษยื่นฟ้อง นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ กับพวกรวม 10 คน (มี 5 รายเป็นนิติบุคคล ) คดีการฉ้อโกงของผู้บริหารบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ฐานตบแต่งบัญชีและงบการเงิน, ฐานฉ้อโกงประชาชนฯ, ยักยอกทรัพย์และฟอกเงิน มูลค่าความเสียหาย 8,000 ล้านบาท
โดยวันนี้ มีผู้เสียหายประมาณ 60 ราย เดินทางมาร่วมฟังการพิจารณาคดี
นายจิณณะ แย้มอ่วม ทนายความของผู้เสียหาย เปิดเผยว่า วันนี้ศาลได้นัดตรวจพยานหลักฐาน เเละอาจจะมีคำสั่งรวมสำนวน จากที่ก่อนหน้านี้ อัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหา 3 สำนวน ให้มาเป็นคดีเดียวกัน เนื่องจากเป็นคดีที่มีมูลเหตุเดียวกัน และในวันนี้จะมีตัวแทนผู้เสียหาย 3 คน ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดี เพื่อยื่นขอให้ศาล มีหมายเรียกเอกสารเพิ่มเติมจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต., สภาวิชาชีพและผู้ตรวจบัญชี ที่ก่อนหน้านี้ เราเคยขอเอกสารเเต่ไม่ได้รับความร่วมมือ
ที่เราต้องยื่นขอเป็นโจทก์ร่วมในวันนี้ เนื่องจากเรากลัวว่าสุดท้ายคดีนี้จะไม่มีผู้ต้องรับผิด เเละจะไปมีผลกระทบในคดีเเพ่งที่เราได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายไป เเละเราไม่ต้องการให้คนกระทำผิดลอยนวล ในคดีอาญาเราไม่ได้เรียกค่าเสียหายไป เนื่องจากอัยการมีคำขอท้ายฟ้องขอให้นำเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิด ขอให้ยึดและนำมาแบ่งคืนผู้เสียหาย ในส่วนการไกล่เกลี่ยนั้น ในคดีอาญาก็จะเป็นเรื่องการคุ้มครองสิทธิ ทางผู้เสียหายก็อยากได้เงินคืน ไม่ได้ปิดกั้นโอกาสหากจำเลยจะขอเจรจาไกล่เกลี่ย แต่กำหนดเงื่อนไขว่าหากจำเลยจะไกล่เกลี่ยก็ขอให้มีการชดใช้คืนเงินให้กับผู้เสียหายได้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างน้อยร้อยละ 50 ของมูลค่าทั้งหมดก่อนส่วนที่เหลือค่อยเป็นเรื่องการบังคับคดี
ในวันฟ้องอัยการส่งพยานหลักฐานน้อย เราก็ต้องดูว่าวันนี้จะมีการยื่นเอกสารเพิ่มหรือไม่ ในส่วนของโจทก์ร่วม หากศาลอนุญาตเเล้ว เรามีรายชื่อบัญชีพยานเตรียมไว้เเล้ว 38 รายการ ซึ่งคงจะต้องมีเพิ่มเติม เพราะพยานเอกสารยังอยู่ใน ก.ล.ต., สภาวิชาชีพและผู้ตรวจบัญชี บริษัท สตาร์ค เเละบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องที่มีการทำธุรกรรมที่ไม่ถูกต้อง โดยยืนยันว่า หากจำเลยยื่นขอประกันตัวก็พร้อมที่จะคำร้องขอคัดค้านทันที เนื่องจากเกรงว่าหากจำเลยได้รับการประกันตัวออกไปอาจจะหลบหนี
อย่างไรก็ตาม วันที่ 13 มิ.ย. 2567 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้เชิญผู้เสียหายเพื่อเเนวทางเเก้ไขปัญหา โดยมีตัวเเทนจากดีเอสไอ และ ก.ล.ต.มาร่วมหารือด้วย