xs
xsm
sm
md
lg

นายกสภาทนายความ ยันช่วยผู้เสียหาย “เจอ-จ่าย-จบ” โควิด-19 เล็งเจรจาไกล่เกลี่ย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน
ผู้เสียหาย “เจอ-จ่าย-จบ” โควิด-19 ร้องสภาทนายความ ฟ้องหน่วยงานรัฐรับผิดชอบความเสียหาย นายก “วิเชียร” รับช่วยเหลือ เล็งเป็นตัวกลางเจรจา

วันนี้ (5 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมชั้น 4 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ถ.พหลโยธิน ประชาชน 100 กว่าคน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกัน เดินทางมาขอคำปรึกษาและยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือทางกฎหมายกับสภาทนายความฯ โดยมี ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ นายวิเชียร รุจิธำรงกุล กรรมการมรรยาททนายความ รับเรื่องร้องเรียนและพร้อมช่วยเหลือ


ตัวแทนผู้เสียหาย กล่าวว่า เนื่องจากมีบริษัทเอกชนขายประกันโควิด-19 เจอ-จ่าย-จบ ในปี พ.ศ. 2564 มีประชาชนซื้อเป็นจำนวนมากในปี พ.ศ.2565 หลังจากนั้น มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากทำให้มีการเครมประกันโควิดเป็นจำนวนล้านกรมธรรม์ ทำให้บริษัทประกันต้องจ่ายค่าเครมประกันโควิดจ่ายเป็น 10 เท่าตัว ไม่สามารถแบกรับภาระได้ทำให้บริษัทประกันล้มละลายและปิดกิจการไป ได้แก่ บริษัทประกัน 4 บริษัท บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด, บริษัท เดอะวันประกันภัย จำกัด, บริษัท เอเชียประกันภัย จำกัด, บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด ได้ปิดกิจการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด อยู่ว่าจะดำเนินไปฟื้นฟู ซึ่งทั้ง 4 บริษัทปิดตัวตั้งแต่ พ.ศ. 2565 ทำให้ภาระเงินที่จะต้องจ่ายเจ้าหนี้ประกันโควิด มาอยู่ที่ กองทุนประกันภัย วินาศภัย (กปว.) ซึ่งมีเงินอยู่ในกองทุนแค่พันกว่าล้านบาท เลยไม่พอที่จะจ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้ประกันโควิด-19 ทำให้ประชาชนรอเงินเครมประกันโควิดมาเป็นระยะ 2 ปี และคาดการณ์ว่าจะรอเงินยาวนานถึง 80 ปี เนื่องจากกองทุนวินาศภัยอนุมัติจ่าย ปีละ 2 ครั้งต่อปี ต้องรอเงินสมทบจากบริษัทเอกชนถึงจะมีเงินจ่ายให้กับผู้เครมประกันเป็นประกันโควิด-19 เจอ-จ่าย-จบ


แต่จนถึงปัจจุบันประชาชนที่ซื้อกรมธรรม์ประกันภัย รอเงินเป็นระยะเวลา 2 ปีกว่าแล้ว ที่เครมไปแล้วยังไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทนโควิด-19 คิดเป็นมูลหนี้ 7-8 หมื่นล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริม การประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่เป็นผู้ควบคุมบริษัท ยังไม่ล้มละลายแต่ไม่มีความชัดเจนให้กับประชาชน ที่ผ่านมา ตัวแทนเจ้าหนี้เครมประกันโควิด-19 ได้ยื่นหนังสือให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวช่วยแก้ไขดำเนินการแล้ว ได้แก่ กระทรวงการคลัง,ปลัดกระทรวงการคลัง หน่วยงานกรรมาธิการการปกครอง วันนี้จึงขอความอนุเคราะห์ นายกสภาทนายความช่วยเหลือดำเนินการทางกฎหมายให้กับพี่น้องประชาชนนำเรื่องให้ช่วยร่งรัดช่วยเหลือประชาชนที่ซื้อ ประกันภัยโควิด-19 เคลมประกันภัยแล้วยังไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทนโควิด-19 โดยเฉพาะกรณีผู้เสียชีวิต ผ่านมา 3 ปีแล้ว ทางครอบครัวก็ยังไม่ได้รับเงินเยียวยา 

นายกสภาทนายความฯ ยื่นมือให้ความช่วยเหลือ
ดร.วิเชียร นายกสภาทนายความ กล่าวว่า ตนพร้อมจะให้คำปรึกษาและรับเรื่องช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยต้องขอสอบถามข้อเท็จจริงเบื้องต้นอย่างละเอียดก่อนดำเนินการขั้นต่อไป เเละเราจะดูว่าเราควรไปเจรจากับหน่วยงานไหนบ้าง เท่าที่ท่าบบริษัทประกันภัยอยู่ในฐานะไม่มีเงินชดใช้ซึ่งเราก็ต้องไปดูอีกว่าหน่วยงานของรัฐหน่วยใดมีหน้าที่เข้ามารับผิดชอบเเทนผู้เสียหาย ไม่ว่าจะเป็นกองทุนวินาศภัย ตนอยากเรียกร้องให้รัฐบาลลงมาเเก้ไขอย่างจริงจัง ตนเชื่อว่า คนที่ได้รับผลกระทบเกือบ 1 ล้านคน พร้อมเจรจากับทุกหน่วยงาน และบริษัทประกันเพื่อหาข้อยุติด้วยกัน แต่ถ้าไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จก็ต้องใช้สิทธิทางศาล โดยสามารถฟ้องเป็นคดีเเบบกลุ่มต่อศาลแพ่งได้ เเต่ก็ต้องดูว่าถ้าฟ้องเเล้วจะได้หรือเสียมากกว่า เพราะถ้าฟ้องบริษัทประกันต่อศาลแล้วตัวแทนหน่วยงานรัฐจะพ้นความรับผิดหรือไม่ต้องดูดีๆ

นอกจากนี้ วันเดียวกัน ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ นายสมพร ดำพริก กรรมการสภาทนายความ นพ.อรรถพล สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง แพทย์จาก รพ.จุฬาลงกรณ์ พร้อมด้วย กลุ่มแพทย์และจิตอาสาคนไทยพิทักษ์สิทธิร่วมแถลงเรียกร้องให้สภาทนายความดำเนินคดีเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะเกี่ยวกับการอนุญาตผลิตยาในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยการนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด-19 จนเป็นเหตุให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนได้รับผลกระทบเสียชีวิตพิการและเจ็บป่วยจำนวนมาก

นพ.อรรถพล กล่าวว่า อย่างที่ทราบว่าตัววัคซีน เป็นวัคซีนเร่งด่วน ซึ่งมีการพัฒนายังรีบเร่ง และกระบวนการอนุญาตก็เป็นกระบวนการอนุญาตฉุกเฉิน สิ่งที่อยากให้สภาทนายความช่วยเหลือคือ การอนุญาตให้นำเข้ามาถูกต้องหรือไม่ ผู้ที่ลงนามในประกาศนี้ลงนามถูกต้องหรือเปล่ามีอำนาจหรือไม่ และขอให้ทางสภาทนายความช่วยดูเรื่องสัญญา เพราะที่ทราบมาสัญญากับบริษัทผลิตยา นั้นไม่เป็นธรรม และไม่ให้เปิดเผยข้อมูล และไม่ให้เปิดเผยการชดเชยค่าเสียหาย แต่ขณะนี้มีหลายประเทศที่สามารถเปิดเผยเรื่องสัญญากับบริษัทผลิตยาวัคซีนแล้ว ทำให้ทางประเทศไทยสามารถอนุมานได้ว่าในสัญญาของไทยเอง น่าจะคล้ายคลึงกันในแนวเดียวกัน

ตอนนี้หลายประเทศได้นำขึ้นมาสืบสวนสอบสวน ว่าเรื่องดังกล่าวอาจจะไม่ใช่การแพร่ระบาดตามปกติ และไม่ใช่เชื้อที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ ชดเชยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวัคซีน ไปแล้ว 2,000 ล้านบาท ซึ่งตอนที่เราไปซื้อเราจ่ายเงินภาษี และไปกู้เงินมาจากต่างประเทศ เพื่อนำมาซื้อวัคซีน แต่ปรากฏว่า เมื่อเกิดผลข้างเคียง รัฐบาลกับใช้ภาษี มาจ่ายเยียวยากับประชาชน แต่บริษัทผลิตยานั้นไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เป็นเรื่องที่ไม่ชอบธรรมอย่างมาก

ดร.วิเชียร กล่าวว่า ในเบื้องต้นเนื่องจากเราเพิ่งได้รับเรื่อง จึงจะต้องสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม และตั้งคณะทำงาน เพื่อทำการศึกษาแนวทางที่จะดำเนินการ การที่เราจะขอดูสัญญา ซึ่งเป็นความลับนั้นโดยหลักแล้ว หน่วยงานของรัฐคงไม่ให้เราดู แต่ถ้ามีความจำเป็นจริงๆ เราคงต้องดำเนินคดี และขออำนาจศาลในการเรียกสัญญาเหล่านั้นมาดู เบื้องต้นเท่าที่ฟังข้อมูลมานั้นจะมี 2 แนวทาง ประเด็นแรก การอนุญาตให้ผลิตภัณฑ์ยาในสถานการณ์ฉุกเฉิน คนที่มีอำนาจในการออกคำสั่งนั้นเป็นใคร ที่ผ่านมาใครเป็นคนอนุญาตให้มีการขายยาในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งในกฎหมายมีเขียนไว้อยู่ แต่เราต้องไปศึกษาว่า รายละเอียดว่าคนที่ลงนามเป็นใคร ถ้าเห็นว่าคนที่ลงนามไม่มีอำนาจในการลงนาม เราต้องพิจารณาดูอีกว่าเข้าหลักผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นๆหรือไม่ ส่วนประการที่ 2 การนำวัคซีนเข้ามาและมาฉีดให้กับประชาชน จนมีพี่น้องประชาชนบางส่วนได้รับผลกระทบ วัคซีนเหล่านี้ ต้องดูว่าในสัญญาของทางรัฐที่ทำกับบริษัทยานั้น มีเงื่อนงำอะไรหรือเปล่า ข้อมูลเบื้องต้นทราบว่ามีผู้เสียหายที่ฉีดวัคซีนแล้ว ได้รับผลกระทบเป็นพิการ สมรรถนะร่างกายถดถอยต้องรักษาต่อเนื่อง มีจำนวนมาก ที่จะเดินทางมาขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความ เราต้องไปศึกษาว่า จะใช้ทางการแพทย์พิสูจน์ว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นทางร่างกาย กับผู้ได้รับวัคซีน คิดว่าในเร็วๆนี้จะมีการจัดเสวนา เรื่องผลกระทบจากวัคซีน และจะจัดหา ผู้ที่รับผลกระทบมา ร่วมหารือ รวมทั้งคุณหมอและนักวิชาการ จิตอาสา


กำลังโหลดความคิดเห็น