ตร.ใช้แผนพิทักษ์เลือกตั้ง 66 ดูแลความปลอดภัย รักษาความสงบเรียบร้อยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา วางกำลัง 2 พันดูแล มั่นใจไร้เหตุป่วน สั่งตำรวจไซเบอร์เฝ้าระวังการกระทำผิดทางโซเชียลฯ พร้อมกำชับตำรวจวางตัวเป็นกลาง
วันนี้ (17 พ.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ศูนย์ปฎิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้การเตรียมการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ในภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สุจริตและเที่ยงธรรม
พล.ต.ท.กรไชย กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มอบหมายให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล, ตำรวจภูธรภาค 1-9 ประสานกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. พื้นที่ เพื่อขอทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการเตรียมการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา และข้อมูลที่เกี่ยวข้องอื่นๆ รวมทั้งความต้องการของ กกต.พื้นที่ ในการขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นอกเหนือจากการจัดกำลังตามแผนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนการจัดกำลังในภาพรวมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และให้ถือปฏิบัติตามแผนรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (พิทักษ์เลือกตั้ง/66) โดยเคร่งครัด รวมทั้งให้จัดทำแผนรองรับการปฏิบัติตามแผนฯ ในวันรับสมัคร และวันเลือกสมาชิกวุฒิสภาแต่ละระดับ และภารกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น การรักษาความปลอดภัยสถานที่พิมพ์บัตร การขนส่งบัตรและอุปกรณ์ฯลฯ
ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวว่า ตำรวจจะใช้กำลังพลทั้งหมดในการเลือกตั้งประมาณ 1,800-2,000 นาย เผื่อไว้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภัยพิบัติหรือมีเหตุไม่สงบ ส่วนการเคลื่อนย้ายก็จะมีตำรวจทางหลวงและไปรษณีย์ ซึ่งจะประจำการทุกครั้งโดยมีการควบคุมเส้น เพื่อไม่ให้ออกนอกเส้นทาง รถทุกคันก็จะมี GPS ในระยะทางสั้นจะให้วิ่งรวดเดียว แต่ถ้าระยะทางยาวจะมีการประสานงานกันในพื้นที่ เช่น เชียงใหม่ อาจจะต้องแวะระหว่างทาง ก็จะมีตำรวจที่คอยรักษาความปลอดภัยคอยดูแล เมื่อไปถึงจุดเลือกตั้งแล้วก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการเลือกตั้งของในพื้นที่นั้นจะเป็นผู้กำหนด ตำรวจมีหน้าที่รักษาความปลอดภัย
“ตำรวจจะมีการประสานงานตลอดไม่ว่าจะทางด้านไซเบอร์ ที่คอยเฝ้าติดตามในช่องทางต่างๆ เผื่อจะมีการเล่นงานด้วยการใช้โซเชียลฯ ในการหาเสียงทางอ้อม แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับ IP นั้นด้วยว่าสรุปคนหาเสียงจะกลั่นแกล้งกันหรือเปล่า อาจจะไม่ใช่คนที่ต้องการเสียงจริง แต่กลายเป็นว่ากลั่นแกล้งกันว่ามีการซื้อเสียง ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเป็นเรื่องของกฎหมายและพยานหลักฐาน” พล.ต.ท.กรไชย กล่าว
ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวว่า นอกเหนือจากแนวทางดังกล่าวแล้ว ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานในสังกัดวางตัวเป็นกลางทางการเมือง ไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย หากพบการกระทำความผิดกฎหมายให้ดำเนินการอย่างเคร่งครัด เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจะต้องคำนึงถึงอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ โดยเฉพาะในเรื่องการรักษาความปลอดภัยและการรักษาความสงบในทุกขั้นตอนของการปฏิบัติ ในส่วนของผู้บังคับบัญชาจะต้องชี้แจงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ผู้ใต้บังคับบัญชาผู้มีหน้าที่ปฏิบัติทราบ โดยเฉพาะพนักงานสอบสวนควรต้องศึกษาทำความเข้าใจข้อกฎหมายเกี่ยวกับการวิธีการรับสมัครและการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาดังกล่าวไว้ โดยให้ประสาน กกต. พื้นที่ เพื่อจัดฝึกอบรมข้าราชการตำรวจในการปฏิบัติหน้าที่ สำหรับภารกิจการสนับสนุนการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ตามระเบียบ กฎหมาย ส่วนกรณีมีเหตุหรือมีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้ง หรือที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตการเลือกตั้งและมีโทษทางอาญาที่เกิดขึ้นในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ให้รายงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผ่าน ศปก.ตร. โดยทันที
นอกจากนี้ให้เปิดศูนย์อำนวยการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ศลต.) ทุกระดับ ตั้งแต่วันที่ 1-30 มิ.ย.2567 และจัดกำลังรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา โดยให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล และตำรวจภูธรทุกจังหวัด เป็นหน่วยรับผิดชอบ ทั้งในห้วงการรับสมัครการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ณ เขต/อำเภอ วันที่ 20-24 พ.ค.2567, การเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับเขต/อำเภอ ในวันที่ 9 มิ.ย.2567 การเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับจังหวัด ในวันที่ 16 มิ.ย.2567 และการเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับประเทศ ในวันที่ 26 มิ.ย.2567 พร้อมให้ระดมกวาดล้างอาชญากรรมในห้วงที่มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีอิทธิพล มือปืนรับจ้าง และอาวุธสงคราม