นักกฎหมาย ชี้ ระบบยุติธรรมปั่นป่วนแน่ เมื่อบิ๊กตำรวจไม่ยอมรับหมายเรียก ขณะพนักงานสอบสวนก็ไม่กล้าออกหมายจับ เพราะกลัวตกหลุมพราง ถูกฟ้อง 157 ผู้ต้องหาจะอ้างว่ายังไม่ได้รับหมายเรียกขอออกหมายจับไม่ได้ เป็นตัวอย่างให้ผู้ต้องหารายอื่นยื้อคดี คาด คงออกหมายเรียกไปเรื่อยๆ ชี้ ควรมีสำนึก ศาลเคยให้เกียรติไม่อนุมัติหมายจับให้ออกหมายเรียกก่อน
จากกรณีเมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนนำหมายเรียกครั้งที่ 2 จาก สน.เตาปูน ไปแจ้งผู้ต้องหาที่เป็นนายตำรวจระดับสูง ไปรับทราบข้อหาสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันฟอกเงิน ในวันที่ 26 มี.ค. 2567 เวลา 10.00 น. โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการจัดส่งไปยังสถานที่ต่างๆ ตามกฎหมายเกินกว่า 2 แห่ง แล้ว แต่ก็ไม่สามารถส่งหมายถึงนายตำรวจคนดังกล่าวได้ และเมื่อครบกำหนดในหมายเรียกก็ไม่ปรากฏว่านายตำรวจคนดังมารายงานตัว
แหล่งข่าวระดับสูงในกระบวนการยุติธรรม ให้ความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงกรณีการส่งหมายไม่ได้ ว่า เรื่องนี้กำลังเป็นประเด็นน่าสนใจในประวัติศาสตร์กระบวนการยุติธรรม โดยนายตำรวจใหญ่สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำลังก่อให้เกิดปัญหาการบังคับใช้กฎหมายเสียเอง
“เพราะจริงๆ แล้ว เรื่องการออกหมายเรียก ถือเป็นเรื่องเล็กน้อยมากในขั้นตอนการสอบสวน แต่เพราะเรื่องเล็กเกิดกับคนใหญ่ ปัญหาจึงเกิด” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในหลักกฎหมายเกี่ยวกับประเด็นนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 55, 56 และระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีลักษณะที่ 5 บทที่ 1 หมายเรียก ข้อ 99, 100 ในหลักกฎหมายและการปฏิบัติ คือ ต้องส่งให้เจ้าตัว หรือสามี ภริยา ญาติ หรือผู้ปกครอง และถ้าส่งหมายต่างท้องที่ก็ต้องให้ตำรวจในท้องที่ดำเนินการ ซึ่งขณะนี้มีนักกฎหมายทุกแขนงออกมาอธิบายในแนวทางเดียวกันคือสุดท้ายแล้ว ถ้าเจ้าตัวไม่มาพบพนักงานสอบสวน ก็ต้องขอศาลออกหมายจับ
“ขอให้ความเห็นแนวทางในการออกหมายจับ ที่จะเป็นขั้นตอนต่อไปว่า แนวโน้มที่คนขอออกหมายจับจะถูกร้องฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ ตาม ป.อาญา มาตรา 157 ได้ค่อนข้างชัดเจน เหตุเพราะผู้รับ จะอ้างว่าไม่ได้หนี แต่ที่ไม่ได้รับ (หมาย) เพราะไม่อยู่ ไม่เจอ ไม่ว่าง หรือทุกอย่าง ตามที่เป็นเหตุให้ไม่ได้รับหมาย แล้วทำไมตำรวจจึงมาขอออกหมายจับข้าราชการผู้ใหญ่ได้อย่างไร ทำไมไม่ออกหมายเรียกไปเรื่อยๆ เหตุใดพนักงานสอบสวนจึงต้องขอหมายจับอีก พนักงานสอบสวนมีเจตนากลั่นแกล้ง เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สุดท้ายพนักงานสอบสวนเองก็อาจถูกดำเนินคดี
“ซึ่งตรงนี้อาจเป็นหลุมพรางที่ถูกขุดขึ้นให้ตำรวจที่ขอออกหมายกระโดดลงไป โดยอ้างว่า ตำรวจไม่มีอำนาจขอศาลออกหมายจับ ถือว่าคดีนี้ผู้รับหมายยังไม่ได้รับ แถมหลุมที่ขุดนี้อาจกว้างไปถึงกระบวนการยุติธรรมอื่น เพราะแนวโน้มคดีอื่นที่อาจเกิดขึ้นคือ ถ้าศาลอนุญาตให้ออกหมายจับได้ แต่ถ้าคนถูกออกหมายจับไม่ได้น้อมรับดุลพินิจศาล ผู้ต้องหาก็อาจจะสามารถร้องขอเพิกถอนหมายจับ เเละร้องศาลให้ไต่สวน เเละมีแนวโน้มว่าต่อไปเรื่องเหล่านี้จะเป็นคดีในศาล เนื่องจากเป็นกลยุทธ์ทั่วไปที่นักกฎหมายหลายคนใช้เป็นแนวทางแนะนำคู่ความในเรื่องของการบอกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม”
แหล่งข่าวยังให้ความเห็นอีกว่า ครั้งก่อนหน้านี้ที่มีการขอหมายจับนายตำรวจระดับสูงกับพวกเเละที่ศาลออกหมายจับ ยกเว้นไว้คนเดียว เพราะเห็นว่าเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ จึงให้ออกหมายเรียกก่อนนั้น ย่อมถือเป็นดุลพินิจศาลที่ให้เกียรติแก่บุคลากรผู้ใหญ่ในหน่วยงานกระบวนการยุติธรรม เป็นการให้โอกาส เป็นการให้เกียรติที่น้อยคนนักจะได้รับ
“ก็ต้องอยู่ที่ว่าผู้ได้โอกาสไปครั้งหนึ่งแล้ว จะทำให้ไม่เหลือโอกาสในครั้งต่อไปอีกแล้วหรือไม่ เพราะอาจเป็นการทำตนเป็นต้นแบบให้ผู้ต้องหาอื่นนำไปใช้เป็นแนวทาง ข้ออ้างในลักษณะเดียวกันได้อีก และต้องมั่นใจในคำสั่งศาลในครั้งแรกว่าเหตุที่ไม่ออกหมายจับเพราะอะไร ระหว่างให้ออกหมายเรียกก่อน หรือให้รับหมายเรียกก่อน อันนี้สำคัญ เพราะการออกกับการรับความหมายมันแตกต่างกันอย่างชัดเจน และพนักงานสอบสวนได้ทำตามเงื่อนไขนั้นครบถ้วนหรือยัง อย่าลืมว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาเองเป็นผู้รักษากฎหมาย ที่ต้องรู้ว่าต้องทำอย่างไร เพราะดูเเล้วทางนครบาลเองก็ทำตามกฎหมายระเบียบเต็มที่ จึงคาดว่า ทางพนักงานสอบสวนเองคงอดทนออกหมายไปเรื่อยๆ แม้สังคมจะประณาม เพื่อป้องกันหลุมพรางที่อาจตกไปเป็นคดีให้รกโรงรกศาลอีก เพราะคดีที่โดนฟ้องอยู่ จากการปฏิบัติหน้าที่เพราะจากการจับกุมเว็บพนันชุดนี้ก็ยังมีอีกจำนวนมาก” แหล่งข่าวกล่าว