xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : 'ทักษิณ-ฮุนเซน' ทั้งรักทั้งเกลียด สายสัมพันธ์บนผลประโยชน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APPสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูปNEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจNEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันพฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ตอน 'ทักษิณ-ฮุนเซน' ทั้งรักทั้งเกลียด สายสัมพันธ์บนผลประโยชน์



สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซน อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา กลายเป็นคนนอกครอบครัวชินวัตรคนแรกที่มีโอกาสได้เข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถึงบ้านจันทร์ส่องหล้า เป็นการตอกย้ำว่าอดีตผู้นำของทั้งสองประเทศนี้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันแค่ไหน

แต่ถ้ามองภูมิหลังย้อนกลับไปมากกว่า 30 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองคนอยู่บนพื้นฐานที่เรียกว่า 'ทั้งรักและทั้งเกลียด' ในเวลาเดียวกัน

ครั้งหนึ่งในช่วงปี 2535-2540 ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศกัมพูชา แม้จะมีการเลือกตั้งตามกระบวนการสันติภาพหลังสิ้นอำนาจของกลุ่มเขมรแดง และ พรรคฟุนซินเปกของเจ้ารณฤทธิ์ จะชนะการเลือกตั้ง แต่ฮุนเซน ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง

ทำให้เวลานั้นกัมพูชาอยู่ในสภาพการมีนายกรัฐมนตรีถึงสองคน ซึ่งการครองอำนาจแบบสองผู้นำ ก็อยู่ได้ไม่นานสุดท้ายเกิดการรัฐประหาร และฮุนเซนก็ขึ้นเป็นนายกฯแต่เพียงผู้เดียว

ท่ามกลางการครองอำนาจของฮุนเซน ครอบครัวชินวัตรได้ลงทุนทำธุรกิจ โดยเฉพาะเคเบิลทีวี ซึ่งได้รับสัมปทานยาวนานถึง 99 ปี ก่อนที่จะมีการลดอายุสัมปทานเหลือ 30 ปี แต่ถูกเคลือบแคลงจากฮุนเซนว่ากลุ่มทุนชินวัตรเข้าไปสนับสนุนฝ่ายตรงข้ามเพื่อโค่นล้มรัฐบาลกัมพูชาในช่วงปี 2540

และเมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์เผาสถานทูตไทยในกัมพูชา ปี 2546 ที่ทำให้ทักษิณในฐานะนายกฯเวลานั้นโกรธมากถึงขั้นแจ้งไปยังสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาในประเทศไทยว่า “ถ้าภายใน 1 ชั่วโมง เหตุการณ์ไม่เรียบร้อย ผมจะส่งหน่วยคอมมานโดเข้าไปในจุดเกิดเหตุ ขณะนี้ได้สั่งการให้เตรียมพร้อมแล้ว” ซึ่งเหตุการณ์จลาจลในครั้งนั้นพบว่าบริษัทชินวัตร เทเลคอมมูนิเคชั่น สาขาพนมเปญ โดนลูกหลงไปด้วย

แต่เมื่อเวลาผ่านไปความสัมพันธ์ก็แปรเปลี่ยนจากเกลียดกันมาเป็นรักกันอย่างแน่นแฟ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังทักษิณถูกรัฐประหารในปี 2549 ถึงขนาดได้รับการแต่งตั้งจากผู้นำกัมพูชา ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาส่วนตัวและที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลกัมพูชาเมื่อปี 2552 ถือเป็นการตบหน้ารัฐบาลไทยที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี อย่างจัง เพราะรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์มีความพยายามจะขอให้กัมพูชาส่งตัวทักษิณให้มารับโทษในประเทศไทย แต่ถูกรัฐบาลกัมพูชาปฏิเสธ จนนายอภิสิทธิ์ ถึงกับประกาศว่าจะขอทบทวนความร่วมมือของทั้งสองประเทศบางประการ

กัมพูชา ถือเป็นประเทศหนึ่งที่ทักษิณแวะมาพำนักมากที่สุด โดยปี 2555 ภายหลังรัฐบาลพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ทักษิณได้มาร่วมกิจกรรมและพบกับมวลขนคนเสื้อแดงที่เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา พร้อมกับร้องเพลงการร้องเพลง Let It Be ของวง The Beatle ซึ่งมีการแสดงถึงนัยบางประการผ่านตำพูดที่ว่า "There will be an answer, ช่างแม่มัน (let it be)ช่างแม่มัน ช่างแม่มัน ช่างแม่มัน ช่างแม่มัน จะเป็นจะตายก็ช่างแม่มัน…ช่างแม่มัน"

ผ่านไปอีกประมาณหนึ่งทศวรรษ 'ฮุน เซน' ในวัย 71 ปี ประกาศวางมือทางการเมือง ส่งไม้ต่อให้กับพล.อ.ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา บุตรชาย และ 'ทักษิณ' ในวัย 74 ปี ประกาศจะกลับประเทศไทย ทั้งสองคนต่างได้มาพบกันในงานฉลองวันเกิดของฮุน เซน เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ก่อนที่ทักษิณกลับคืนสู่มาตุภูมิในปีเดียวกัน

จากความสัมพันธ์อันยาวนานมากกว่า 3 ทศวรรษ การพบกันของอดีตผู้นำประเทศทั้งสองคนที่บ้านทักษิณ จะเป็นเพียงการถามถึงสารทุกข์สุขดิบกันธรรมดาหรือไม่ ไม่มีใครรู้ แต่ดันมาบังเอิญกับจังหวะที่ไทยและกัมพูชา กำลังพยายามยุติข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (overlapping claims areas –OCA) ซึ่งเป็นปัญหาคาราคาซังมายาวนาน

ดังนั้น ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นที่บ้านจันทร์ส่องหล้า จึงไม่อาจมองข้าม

------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android


กำลังโหลดความคิดเห็น