xs
xsm
sm
md
lg

"ราชทัณฑ์" แจงยิบเกณฑ์ปล่อยตัว “ทักษิณ” พักโทษกรณีพิเศษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - “กรมราชทัณฑ์” เผยขั้นตอนกรณีการปล่อยตัวพักการลงโทษกรณีพิเศษ "ทักษิณ ชินวัตร" จัดอยู่ในกลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไป-เจ็บป่วยร้ายแรง

วันนี้ (18 ก.พ.) กรมราชทัณฑ์ ขอแถลงกรณี การปล่อยตัวพักการลงโทษของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งกรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครได้รับตัวนายทักษิณฯ เข้ามาควบคุมตัวในเรือนจำฯ ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 โดยศาลฎีกามีคำพิพากษาตัดสินจำคุก 3 คดี รวมกำหนดโทษ 8 ปี ต่อมาได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ เหลือโทษจำคุก 1 ปี และนับตั้งแต่นายทักษิณฯ รับโทษจำคุก จนกระทั่งถึงปัจจุบัน วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นระยะเวลารวม 6 เดือน

ซึ่งตามแนวทางปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์เกี่ยวกับการพักการลงโทษ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครจะตรวจสอบคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ของนักโทษเด็ดขาดที่เข้าเกณฑ์เพื่อดำเนินการขอพักการลงโทษ โดยกรณีของนายทักษิณฯ จัดอยู่ในกลุ่มผู้มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป โดยมีคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ทั่วไปครบตามที่กำหนดไว้ในประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดเข้าโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ลงวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2563 คือ เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง ต้องโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า

การพิจารณาการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษดังกล่าวนี้ กรมราชทัณฑ์ ได้ดำเนินการตามระเบียบของทางราชการ โดยมีขั้นตอนการพิจารณา ดังนี้ 1. เรือนจำ/ทัณฑสถาน ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติของนักโทษเด็ดขาดที่เข้าตามหลักเกณฑ์ พร้อมประสานขอความร่วมมือกับสำนักงานคุมประพฤติในเขตพื้นที่ของผู้อุปการะ ดำเนินการสืบเสาะข้อเท็จจริงของนักโทษเด็ดขาด จากนั้นเรือนจำ/ทัณฑสถาน จะรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้อง จัดประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ โดยมีผู้บัญชาการเรือนจำ/ผู้อำนวยการทัณฑสถาน เป็นประธาน ร่วมกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้แทนคุมประพฤติ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันปราบปรามยาเสพติด ผู้แทนกรมการปกครอง ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ จากนั้นเสนอบัญชีรายชื่อไปยังกรมราชทัณฑ์ เพื่อเสนอต่อคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ ตามคุณสมบัติและหลักเกณฑ์การพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ

2. กรมราชทัณฑ์ ตรวจสอบเอกสารข้อมูลของนักโทษเด็ดขาดที่เรือนจำ/ทัณฑสถาน ให้มีความครบถ้วน ถูกต้อง เพื่อเสนอในที่ประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ ซึ่งโดยปกติจะมีการพิจารณาเป็นประจำเดือนละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ การพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ กรมราชทัณฑ์จะต้องเสนอบัญชีรายชื่อผู้ที่คณะอนุกรรมการฯ มีมติปล่อยตัว ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อพิจารณาอนุมัติการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ

3. เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมพิจารณาอนุมัติแล้ว กระทรวงยุติธรรมจะส่งหนังสือกลับมายัง   กรมราชทัณฑ์ เพื่อแจ้งผลการพิจารณาการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ ให้กับเรือนจำ/ทัณฑสถาน ดำเนินการตามมติคณะอนุกรรมการฯ ให้พักการลงโทษ โดยต้องมีเอกสารแจ้งให้ผู้ได้รับการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติและปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมประพฤติต่อไป

ทั้งนี้ ในเดือนมกราคม 2567 มีผู้ต้องขังทั่วประเทศอยู่ในหลักเกณฑ์เข้ารับการพิจารณาพักการลงโทษและได้รับอนุมัติให้ปล่อยตัวพักการลงโทษ ทั้งสิ้นจำนวน 930 ราย แบ่งเป็น การพักการลงโทษกรณีปกติ จำนวน 913 ราย การพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป จำนวน 8 ราย และการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ โครงการ “สร้างงาน สร้างอาชีพ ฝึกทักษะการทำงานในภาคอุตสาหกรรม” จำนวน 9 ราย

กรมราชทัณฑ์ จึงขอชี้แจงรายละเอียดการดำเนินงานในกรณีการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษของ นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง มาเพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่สาธารณชนต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น