xs
xsm
sm
md
lg

“ราชทัณฑ์” ยัน “ทักษิณ” ยังไม่ยื่นขอพักโทษ แจงมี คกก.พิจารณาหลักเกณฑ์อยู่แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - “โฆษกราชทัณฑ์“ เผย ยังไม่มีการยื่นเรื่องขอพักโทษจาก “ทักษิณ” ต้องติดคุก 1 ใน 3 ก่อน สิ้นสุดเดือน ก.พ. 67 ยันมี คกก. ตรวจสอบคุณสมบัติผู้ต้องขังที่เข้าเกณฑ์ทุกราย

วันนี้ (18 ก.ย.) นายสิทธิ สุธีวงศ์ โฆษกกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และในฐานะผู้ต้องขังเด็ดขาด ดำเนินการยื่นเอกสารต่อเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ขอเข้าโครงการพักการลงโทษ กรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ว่า ยืนยันว่า นายทักษิณ หรือครอบครัว ยังไม่ได้มีการยื่นขอพักโทษแต่อย่างใด และทางราชทัณฑ์ยังไม่ได้รับทราบการยื่นเอกสารดังกล่าว ส่วนกระบวนการขอพักโทษนั้น จะเป็นกระบวนการที่เรือนจำจะเป็นผู้พิจารณายื่นเรื่องให้กรมราชทัณฑ์พิจารณา ซึ่งทางเรือนจำจะสามารถยื่นรายชื่อบุคคลที่จะดำเนินการพักโทษได้ จะต้องพิจารณาจากคุณสมบัติของนักโทษรายนั้นๆ โดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1. แบบปกติ นักโทษรายนั้นๆ จะต้องโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 ของโทษจำคุกที่ได้รับ และ 2. แบบพิเศษ มีเกณฑ์แยกย่อย 3 ข้อ คือ จะต้องเป็นนักโทษที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป, มีภาวะป่วยชราภาพ และต้องโทษไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษจำคุก หรือต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งในกรณีของนายทักษิณ สามารถเข้าเกณฑ์ได้ทั้งแบบปกติและแบบพิเศษก็ได้ เพราะนายทักษิณเองถือเป็นผู้ต้องขังสูงอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไปและป่วยร่วมด้วย

นายสิทธิ เผยอีกว่า สำหรับขั้นตอนแรกในโครงการพักการลงโทษนั้น จะเป็นทางเรือนจำที่ทำหน้าที่สำรวจรายชื่อผู้ต้องขังที่เข้าเกณฑ์ และพิจารณาจากคุณสมบัติของนักโทษรายนั้นว่าเข้าเกณฑ์แบบปกติหรือแบบพิเศษ ปัจจุบันนายทักษิณได้รับการอภัยลดโทษ เหลือจำคุกเพียง 1 ปี ดังนั้น 1 ใน 3 ที่นี้ก็คือ 4 เดือน แต่ตามกฎหมายมีการระบุว่าหรือ 6 เดือน อย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่า ซึ่งหมายความว่า นายทักษิณ จะต้องจำคุกมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือน การยื่นมาก่อนก็ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้เพราะยังไม่เข้าเกณฑ์ จึงทำให้กรณีของนายทักษิณ โทษจำคุกจะไปสิ้นสุดอยู่ที่ห้วงเดือน ก.พ. 67 อย่างไรก็ตาม นายทักษิณจะถูกพิจารณาพร้อมกับผู้ต้องขังเด็ดขาดรายอื่นๆ เนื่องจากทางเรือนจำจะมีการเสนอเรื่องขึ้นมาแล้วจึงจะมีการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการพักการลงโทษของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งจะเกิดขึ้นเดือนละ 1 ครั้ง

“หากนายทักษิณเข้าเกณฑ์ได้รับการพักการลงโทษ ทางเรือนจำก็จะมีการแจ้งไปยังทนายความประจำตัวของผู้ต้องขัง รวมถึงผู้ต้องขังเองด้วย เพื่อแจ้งเงื่อนไขให้ทราบว่า นักโทษจะต้องรู้คุณสมบัติของตัวเอง แล้วก็ต้องเตรียมเอกสาร อีกทั้งจะมีการสัมภาษณ์ เพราะผู้ต้องขังเด็ดขาดแต่ละรายที่ผ่านเกณฑ์จะต้องเข้าให้การสัมภาษณ์กับทางเรือนจำ เพื่อทางเรือนจำได้ดูตัวและสอบถามพูดคุยว่าครบเกณฑ์หรือไม่และยังมีกระบวนการอื่นๆ อีกมาก”

โฆษกราชทัณฑ์ เผยว่า เมื่อใกล้ครบ 30 วัน ทางโรงพยาบาลตำรวจจะต้องส่งผลประเมินเรื่องสุขภาพนายทักษิณ มายังเรือนจำ และกรมราชทัณฑ์ก็จะพิจารณาจากความเห็นของแพทย์ และอาจจะไม่ได้มีการประชุมร่วมกันกับนายแพทย์ใหญ่อย่างเป็นทางการขนาดนั้น ซึ่งถ้าหากนายทักษิณยังคงมีอาการไม่ทุเลาดีขึ้น หรือแพทย์มีความเห็นให้มีความจำเป็นจะต้องรับการรักษาเฉพาะทางต่อเนื่อง เรือนจำฯ ก็จะพิจารณาจากความเห็นของแพทย์ดังกล่าว และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ก็จะอนุญาตให้พักรักษาตัวภายนอกเรือนจำต่อได้
กำลังโหลดความคิดเห็น