xs
xsm
sm
md
lg

ใบอนุญาตสอน - ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ : ใช้แทนกันไม่ได้ !

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

เชื่อว่าหลายคน ... คงเฝ้าคอยติดตามข่าวเกี่ยวกับการสอบครูผู้ช่วย ซึ่งมีการเปิดสอบอยู่เรื่อย ๆ
และทุกครั้งที่เปิดสอบก็จะมีคนมาสมัครเป็นหลักแสนทุกที เคยสงสัยกันไหมครับว่า ... ตำแหน่งครูผู้ช่วยนี้มีสถานะเป็นอะไรกันแน่ ลูกจ้าง พนักงานราชการ หรือข้าราชการ ? อันที่จริง ... ครูผู้ช่วยก็คือข้าราชการครูนี่แหละครับ เพียงแต่เป็นตำแหน่งเริ่มต้นของการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครู ทำนองเดียวกันกับอัยการผู้ช่วย

ครบเครื่องคดีปกครองวันนี้ ... ลุงก็ได้นำคดีที่เกี่ยวกับการบรรจุและแต่งตั้งครูผู้ช่วยมาฝาก
ซึ่งอาจใช้การดำเนินการสอบแข่งขันหรือการสอบคัดเลือกบุคคลก็ได้

โดยในคดีนี้เป็นกรณีการสอบคัดเลือกนิสิตนักศึกษาครูเข้าร่วมโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นซึ่งมีวัตถุประสงค์เฉพาะที่ต้องการผลิตครูระบบจำกัด ด้วยหลักสูตรและกระบวนการที่เน้นการปฏิบัติและการฝึกอบรมทำให้มีความรู้ทางวิชาการ เชี่ยวชาญทางวิชาชีพ และมีอุดมการณ์ในวิชาชีพครู ในรูปแบบการประกันการมีงานทำ เพื่อดึงดูดคนดีคนเก่งเข้ามาประกอบวิชาชีพครู

ผู้ที่ฟันฝ่าจนสำเร็จการศึกษาและผ่านการคัดเลือกในสาขาวิชาที่โครงการดังกล่าวกำหนดแล้วจะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครู ตำแหน่งครูผู้ช่วย ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในพื้นที่ภูมิลำเนาของผู้เรียน โดยในช่วงระยะเวลา

2 ปี ต่อจากนี้ จะมีการปฏิบัติงานและฝึกอบรมที่เข้มข้น ซึ่งหากผ่านตามเกณฑ์ก็จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูต่อไป ซึ่งจะทำให้ได้บุคลากรครูที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยพัฒนาการศึกษาในถิ่นฐานของตนเอง ลดปัญหาการขาดแคลนครู รวมทั้งลดการโยกย้ายภายหลังการบรรจุเข้ารับราชการด้วยครับ

สำหรับเรื่องราวของคดีดังกล่าวมีอยู่ว่า ... ในปี 2560 เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาธิการ สกอ.) ได้มีประกาศสอบคัดเลือกนิสิตนักศึกษาครู หลักสูตรระดับปริญญาตรี (5 ปี) ที่ศึกษาชั้นปีที่ 5 ปีการศึกษา 2559 เข้าร่วมโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น โดยน้องแก้วซึ่งเป็นนักศึกษาครู ชั้นปีที่ 5 ของศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งหนึ่ง (จัดการศึกษานอกที่ตั้ง) ได้สมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าวและผ่านการสอบข้อเขียน ต่อมา เลขาธิการ สกอ. ได้แจ้งรายชื่อไปยัง สพฐ. และมีการส่งรายชื่อต่อไปยังศึกษาธิการจังหวัดให้ดำเนินการสอบสัมภาษณ์ เพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครู ตำแหน่งครูผู้ช่วย ในพื้นที่ตามความต้องการของหน่วยงานผู้ใช้ต่อไป

แต่แล้วเรื่องที่น้องแก้วไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น โดยเมื่อผ่านการสอบสัมภาษณ์แล้ว ในวันที่มารายงานตัว ศึกษาธิการจังหวัดแจ้งว่า น้องแก้วไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูมายื่นเป็นหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่ได้ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 จึงมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามประกาศการสอบคัดเลือกฯ และถูกตัดสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ ทำให้
ไม่สามารถบรรจุและแต่งตั้งในตำแหน่งครูผู้ช่วยได้

น้องแก้วไม่เห็นด้วย เนื่องจากตนได้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรที่กำหนด แม้จะไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู แต่ก็ได้รับวุฒิบัตรการเทียบโอนความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพของคุรุสภา รวมทั้งมีใบอนุญาตปฏิบัติการสอนที่คุรุสภาออกให้ก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานตำแหน่งครูผู้ช่วย ที่ระบุคุณสมบัติเฉพาะของตำแหน่งไว้ว่า “มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูหรือหลักฐานที่ใช้แสดงในการประกอบวิชาชีพครูที่คุรสภาออกให้เพื่อปฏิบัติหน้าที่สอน ก่อนการบรรจุและแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา” จึงถือว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศดังกล่าวแล้ว

ส่วนเหตุที่ตนไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูนั้น เนื่องมาจากมหาวิทยาลัยฯ ที่ตนศึกษาดำเนินการไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานระดับอุดมศึกษาที่กำหนด จึงยังไม่ผ่านการรับทราบจาก สกอ. และไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานปริญญาทางการศึกษาจากคุรุสภา จึงทำให้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาไม่สามารถขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้ทันในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 อันถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเลขาธิการ สกอ. และมหาวิทยาลัย ที่ไม่เร่งดำเนินการให้มีการรับรองหลักสูตรได้ทันก่อนที่นักศึกษาจะสำเร็จการศึกษา ซึ่งตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

น้องแก้วจึงยื่นฟ้องเลขาธิการ สกอ. มหาวิทยาลัยฯ และศึกษาธิการจังหวัด ต่อศาลปกครองชั้นต้น เพื่อขอให้เพิกถอนประกาศการสอบคัดเลือกฯ ข้อ 2 (3) ที่กำหนดให้ต้องสำเร็จการศึกษาพร้อมทั้งได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 และข้อ 2 (4) ที่กำหนดให้ต้องศึกษาตามหลักสูตรที่ผ่านการรับทราบจาก สกอ. รับรองปริญญาทางการศึกษาตามมาตรฐานวิชาชีพจากคุรุสภา และมาตรฐานคุณวุฒิจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งข้อ 16.5 ที่กำหนดให้ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 หากพ้นจากระยะเวลาที่กำหนด ถือว่าผู้ผ่านการคัดเลือกมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามประกาศฯ จะถูกตัดสิทธิการเข้าร่วมโครงการ และไม่ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการ นอกจากนี้ ขอให้บรรจุและแต่งตั้งตนเป็นข้าราชการครู ตำแหน่งครูผู้ช่วย และคืนสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับให้ด้วย

ต่อมา ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีเป็นฝ่ายชนะคดี เลขาธิการ สกอ. และศึกษาธิการจังหวัด ไม่เห็นด้วย จึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

คดีนี้มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า การที่เลขาธิการ สกอ. ออกประกาศสอบคัดเลือกเข้าร่วมโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ในส่วนที่กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครตามข้อ 2 (3) และ (4) และข้อ 16.5 ซึ่งเป็นประเด็นตามที่พิพาทกันนั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า ในกรณีนี้ศึกษาธิการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เป็นผู้มีอำนาจบรรจุแต่งตั้งผู้ผ่านการคัดเลือกเข้ารับราชการครู ตำแหน่งครูผู้ช่วย เมื่อโครงการดังกล่าวใช้วิธีการคัดเลือกบุคคลเฉพาะนักศึกษาครู ชั้นปีที่ 5 ปีการศึกษา 2559 ประกอบกับวัตถุประสงค์ของโครงการที่ผลิตครูระบบจำกัด ด้วยหลักสูตรและกระบวนการที่เน้นการปฏิบัติและการฝึกอบรมที่มีลักษณะเฉพาะ เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้เข้าร่วมโครงการที่จะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการครู ตำแหน่งครูผู้ช่วยได้ผ่านหลักสูตรที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพเหมาะสม อันแตกต่างจากการสอบแข่งขันทั่วไป ซึ่งคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้อนุมัติให้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครู ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการให้สอดคล้องกับคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งครูผู้ช่วย เพื่อให้ผู้ผ่านการคัดเลือกดังกล่าวสามารถบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการครู ตำแหน่งครูผู้ช่วย ได้

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามาตรฐานตำแหน่งของตำแหน่งครูผู้ช่วย ซึ่งกำหนดให้ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือหลักฐานที่ใช้แสดงในการประกอบวิชาชีพครูตามที่คุรุสภาออกให้เพื่อปฏิบัติหน้าที่สอน ก่อนการบรรจุและแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการครู ประกอบกับข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพพ.ศ. 2559 ได้นิยามคำว่า “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” หมายความว่า ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพซึ่งออกให้ผู้ปฏิบัติงานหรือผู้มีความประสงค์จะปฏิบัติงานในตำแหน่งครู และกำหนดคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูว่า มีวุฒิปริญญาทางการศึกษาหรือเทียบเท่า หรือมีคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง โดยผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี และผ่านเกณฑ์การประเมินปฏิบัติการสอนตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด ซึ่งใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูดังกล่าวมีอายุ 5 ปี และต้องต่ออายุใบอนุญาตทุก ๆ 5 ปี โดยต้องพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติตามที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด

ส่วนใบอนุญาตปฏิบัติการสอน เป็นหลักฐานที่คุรุสภาออกให้ผู้ที่มีเฉพาะความรู้วิชาชีพครูตามมาตรฐานที่คุรุสภากำหนด แต่ยังขาดประสบการณ์การปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการประกอบวิชาชีพครูได้ ซึ่งเมื่อได้ปฏิบัติการสอนโดยอยู่ในความควบคุมของผู้บริหารสถานศึกษาเป็นเวลาต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 1 ปี สามารถนำผลการประเมินการปฏิบัติการสอนจากสถานศึกษาและใบอนุญาตปฏิบัติการสอนมาขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้ โดยใบอนุญาตปฏิบัติการสอนจะมีอายุใช้งาน 2 ปี สามารถต่ออายุได้1 ครั้ง ใช้ได้อีก 2 ปี และไม่สามารถต่อได้อีก

กรณีจึงเห็นว่า ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูกับใบอนุญาตปฏิบัติการสอน แม้จะสามารถใช้สำหรับสมัครสอบแข่งขันหรือสมัครเข้ารับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครู ตำแหน่งครูผู้ช่วย ได้เหมือนกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันในสาระสำคัญที่ไม่อาจเทียบเคียงหรือแทนกันได้

อีกทั้งเมื่อพิจารณาวัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องการผลิตครูระบบจำกัด ด้วยหลักสูตรและกระบวนการที่เน้นการปฏิบัติและการฝึกอบรม ทำให้มีความรู้ทางวิชาการ เชี่ยวชาญทางวิชาชีพ และมีอุดมการณ์ในวิชาชีพครู และเมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูในสังกัดของสพฐ. สอศ. กศน. และ กทม. การที่เลขาธิการ สกอ. กำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการว่า ต้องสำเร็จการศึกษาพร้อมทั้งได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 และกำหนดเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการว่า ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 หากพ้นจากระยะเวลาที่กำหนด จะถือว่าผู้ผ่านการคัดเลือกมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามประกาศฯ จะถูกตัดสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการ และไม่ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการ จึงเป็นการกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการและเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการดังกล่าวและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ทั้งยังเป็นไปตามมาตรฐานตำแหน่งครูผู้ช่วยที่ ก.ค.ศ. กำหนด

การตัดสิทธิผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูภายในเวลา
ที่กำหนด จึงชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น การที่ศึกษาธิการจังหวัดไม่ดำเนินการพิจารณาบรรจุและแต่งตั้งผู้ฟ้องคดี
เข้ารับราชการตำแหน่งครูผู้ช่วย จึงมิได้เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติแต่อย่างใด
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ยกฟ้อง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อบ. 133/2566)

สรุปได้ว่า … น้อง ๆ ที่มีความฝันอยากจะรับราชการครู ซึ่งเริ่มต้นจากตำแหน่งครูผู้ช่วย
หากสนใจเข้าร่วมโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นฯ โดยเป็นโครงการที่จะมีจนถึงปี 2572 (ปัจจุบันสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นหน่วยงานที่คัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการแทน สกอ.) จะต้องเตรียมความพร้อมและศึกษารายละเอียดของโครงการกันให้ดีนะครับ เพราะโครงการนี้เป็นการคัดเลือกกรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ซึ่งมีหลักเกณฑ์เงื่อนไขแตกต่างจากการสอบแข่งขันทั่ว ๆ ไป โดยผู้สมัครคัดเลือกต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพที่คุรุสภา (สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา) ออกให้ มาใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการบรรจุแต่งตั้งภายในเวลาที่ประกาศฯ กำหนด และแม้ว่ามาตรฐานตำแหน่งของตำแหน่งครูผู้ช่วย จะกำหนดให้ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือหลักฐานที่ใช้แสดงในการประกอบวิชาชีพครูตามที่คุรุสภาออกให้เพื่อปฏิบัติหน้าที่สอน ก่อนการบรรจุและแต่งตั้งก็ตาม แต่เนื่องจากใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเป็นใบอนุญาตประกอบวิชาชีพซึ่งออกให้ผู้มีความประสงค์จะปฏิบัติงานในตำแหน่งครูซึ่งผ่านการปฏิบัติการสอนตามเวลาที่กำหนดและผ่านการประเมินมาแล้ว ส่วนใบอนุญาตปฏิบัติการสอนเป็นหลักฐานที่คุรุสภาออกให้ผู้ที่มีเฉพาะความรู้วิชาชีพครูตามมาตรฐานที่คุรุสภากำหนด แต่ยังขาดประสบการณ์การปฏิบัติการสอน โดยเมื่อสอนครบตามเวลาที่กำหนดจึงจะขอรับใบประกอบวิชาชีพครูได้ เอกสารทั้งสองดังกล่าวจึงมีความแตกต่างกันในสาระสำคัญเมื่อประกาศพิพาทกำหนดไว้แต่แรกแล้วว่าต้องใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู กรณีจึงไม่อาจใช้ใบอนุญาตปฏิบัติการสอนมาเป็นเอกสารประกอบการบรรจุแต่งตั้งในตำแหน่งครูผู้ช่วยแทนได้ ... นั่นเองครับ

สุดท้ายนี้ ... ลุงขออวยพรให้น้อง ๆ ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเข้ารับราชการครู เตรียมตัวให้พร้อม และประสบความสำเร็จดังตั้งใจ เพื่อกลับไปพัฒนาท้องถิ่น สมดังความมุ่งหมายของโครงการฯ ดังกล่าว



(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสืบค้นเรื่องอื่น ๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)
กำลังโหลดความคิดเห็น