MGR Online - ”รรท.อธิบดีดีเอสไอ“ เผย ”เฮียเก้า“ ปฏิเสธสวมสิทธิตีนไก่ส่งออกจีน ให้ประกันตัว 2 แสนบาท ห้ามยุ่งหลักฐาน ล่าสุดกรมศุลกากรส่งข้อมูลเพิ่มพบตู้เนื้อสัตว์เถื่อนเพิ่ม 90 ตู้
วันนี้ (23 ม.ค.) เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุม ชั้น 2 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ อาคารเอ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอ เป็นประธานการประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อนและคดีตีนไก่สวมสิทธิส่งออกประเทศจีน โดยมี พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน และคณะพนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาเตรียมเชิญข้าราชการหน่วยงานรัฐในการนำเข้าสินค้าเนื้อสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนสุกรแช่แข็ง เนื้อวัว ตีนไก่ ชิ้นส่วนไก่ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.64 จนถึงปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่การขยายผลหาผู้มีส่วนร่วมในการกระทำผิดเพิ่มเติม
พ.ต.ต.ยุทธนา เปิดเผยหลังการประชุมร่วม 1 ชั่วโมง และติดตามความคืบหน้าสวมสิทธิตีนไก่ส่งออกประเทศจีน ว่า สำหรับ “เฮียเก้า” ซึ่งผู้ต้องหาติดต่อขอมอบตัวให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนด้วยตัวเอง เบื้องต้นปฎิเสธทุกข้อกล่าวหา และขอนำเอกสารหลักฐานมาแก้ข้อกล่าวหาภายหลัง แต่ยอมรับว่ารู้จักกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ และข้าราชการในสังกัดในกระทรวงฯ เพราะประกอบธุรกิจส่งออกสินค้าทางการเกษตร แต่ไม่ได้เปิดเผยว่ารู้จักหรือสนิทกับบุคคลเหล่านี้ระดับไหน ซึ่งเป็นสิทธิ์ของผู้ต้องหาที่จะให้ปากคำ โดยพนักงานสอบสวนได้ให้ประกันตัวในวงเงิน 2 แสนบาท แต่กำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรและห้ามยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวอีกว่า เบื้องต้นคณะพนักงานสอบสวนอาจจะเชิญระดับรองอธิบดีกรมปศุสัตว์มาให้ปากคำในฐานะพยานก่อน ส่วนระยะเวลานัดหมายขึ้นอยู่กับดุลพินิจของพนักงานสอบสวน อีกทั้ง กรณีของนายกรินทร์ ปิยพรไพบูลย์ ลูกชายของเฮียเก้า ผู้ต้องหาในคดีสวมสิทธิ์ส่งออกตีนไก่ พนักงานสอบสวนยังไม่ได้รับการติดต่อขอเข้ามอบตัวแต่อย่างใด
ด้าน พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวว่า การประชุมวันนี้แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 กรณีของตู้คอนเทนเนอร์ที่ค้างท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี จำนวน 161 ตู้ ซึ่งแบ่งสำนวนเป็น 10 คดีพิเศษ ตอนนี้นำสำนวนส่ง ป.ป.ช.ไป 3 สำนวนแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการ 7 สำนวน กลุ่มที่ 2 กลุ่มนำเข้าและผ่านไปยังห้องเย็น จำนวน 2,388 ตู้ ขณะนี้ได้ข้อมูลใบ B/L (Bill of lading) หรือ ใบตราส่งสินค้าทางเรือ จากสายเรือมาแล้ว 1,400 ตู้ และจะนำมาตรวจสอบขยายผลต่อว่าชนิดสินค้าที่นำเข้ามาตรงกันหรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้พบว่าในใบ B/L ระบุว่าเป็นสินค้าแช่แข็ง (frozen product) แต่เมื่อเปิดตู้พบว่าเป็นชิ้นส่วนเนื้อหมู โดยสำหรับการสืบสวนดำเนินคดี ในกลุ่มที่ 1 และ 2 นั้น ประเมินว่าได้ดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 60
พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวอีกว่า ส่วนกลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มสวมสิทธิตีนไก่ ที่มีการออกหมายจับ 5 ราย คือ นายหลี่ เซิ่งเจียว หรือ “เฮียเก้า” , นายหยาง ยา ซุง , นายกรินทร์ ปิยพรไพบูลย์ (ลูกของเฮียเก้า) , น.ส.นวพร เชาว์วัย และ นายสมเกียรติ กอไพศาล หรือ “เฮียเกียรติ” ในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 , พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ความผิดฐานอั้งยี่ซ่องโจร และข้อหาร่วมกันฟอกเงิน โดยรับมอบตัวแล้ว 4 ราย เหลือเพียง นายกรินทร์ ปิยพรไพบูลย์ (บุตรชายของเฮียเก้า) ที่ยังไม่ประสานขอมอบตัว ขณะนี้อยู่ที่ฮ่องกง ซึ่งเฮียเก้ารับปากว่าจะช่วยประสานให้
พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวต่อว่า วานนี้ (22 ม.ค.) คณะพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำ นาน 6 ชั่วโมง ประเด็นเกี่ยวข้องกับกระบวนการส่งขายตีนไก่ไปจำหน่ายประเทศจีนและให้การเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี ซึ่งจะนัดหมายให้ “เฮียเก้า” เข้ามาให้ข้อมูลกับดีเอสไอ วันที่ 18 ก.พ.อีกครั้ง ส่วนเรื่องนามสกุล "ปิยพรไพบูลย์" ไม่ได้ใช้สอบปากคำ นอกจากนี้ ในสัปดาห์หน้าพนักงานสอบสวนจะมีการเรียกข้าราชการระดับ ผอ.กองในกรมปศุสัตว์ และสัตวแพทย์ประจำโรงงาน 4 แห่งที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในขั้นตอนและวิธีการการส่งออกและนำเข้าเนื้อสัตว์ ซึ่งในชั้นนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนที่จะเรียกบุคคลที่อยู่ในระดับกำหนดนโยบาย
พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนเรื่องภาพถ่ายกับนักการเมืองหรือข้าราชการระดับสูง หรือความสัมพันธ์กับบุคคลในสมาคมการค้าแลกเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยเอเชียคนอื่นๆ นั้นไม่ขอให้การ สำหรับความเกี่ยวข้องกับ นายเฉลิมชัย โดย “เฮียเก้า” ให้ข้อมูลว่าเดินทางมาประเทศไทย เมื่อ 28 ปีที่แล้ว เนื่องจากบรรพบุรุษ คือ รุ่นปู่เป็นญาติกันอยู่ที่เมืองจีน เลยมาตามหานายเฉลิมชัยเพื่อให้ช่วยหางานทำในไทย โดย ”เฮียเก้า“ มาทำงานอยู่ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก่อนที่จะออกมาทำธุรกิจของตนเอง ยืนยันว่าเป็นการรู้จักกันในฐานะที่บรรพบุรุษเป็นญาติกันเท่านั้น
”ล่าสุดได้รับข้อมูลจากกรมศุลกากรว่าพบตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุเนื้อหมูนำเข้า 16 ตู้ และตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุเนื้อวัวและไก่ รวมอีก 74 ตู้ ทั้งหมดเป็นการนำเข้ามาหลังจากที่ดำเนินคดีกับ 161 ตู้ไปก่อนหน้านี้ พบมีความเกี่ยวโยงกับชิปปิ้งที่ลักลอบนำเข้าเนื้อสัตว์เถื่อนทั้งกลุ่มใหม่และกลุ่มเก่า อยู่ระหว่างการขยายผลเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไม่แรงกดดันในการทำงานจากใคร ยังไม่มีอุปสรรคหรือข้อติดขัดใดในการทำงาน”