ศาลอาญาสั่งปรับเงินแกนนำพันธมิตรฯ กับพวก รวม 13 ราย รายละ 2 หมื่นบาท คดีชุมนุมสนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-บุกรุก ยกฟ้องข้อหาก่อการร้าย,ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานฯ และข้อหาอื่น
วันนี้ (17 ม.ค.) ศาลอาญาพิพากษาปรับแกนนำพันธมิตรฯ ชุมนุมที่สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ “พล.ต.จำลอง” จำเลยที่ 1 กับพวกจำเลย 2-5 , จำเลยที่ 7-13 และ จำเลยที่ 31 ผิดฐานบุกรุก-ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปรับคนละ 2 หมื่นบาท โดยไม่มีความผิดฐานก่อการร้าย- ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน ส่วนจำเลยอื่นยกฟ้อง
ที่ห้องพิจารณาคดี 801 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.00 น วันนี้ (17 ม.ค.) ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีกลุ่มพันธมิตรฯ บุกสนามบินดอนเมืองหมายเลขดำ อ. 973/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ กับพวกรวม 28 คน ร่วมกันเป็นจำเลยในความผิด ฐานเป็นกบฏ ก่อการร้ายฯ
กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2551 พวกจำเลยได้ร่วมกันโฆษณาชักชวนให้ประชาชนมาร่วมกันชุมนุมใหญ่โดยกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ และปิดล้อมอาคารวีไอพี.ท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งอยู่ในความครอบครองของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นของบริษัทท่าอากาศยานไทยจำกัด(มหาชน)หรือ ทอท.ผู้เสียหายที่ 2 และทำลายทรัพย์สินเสียหายเป็นเงิน 627,080 บาท แล้วนำจานรับสัญญาณของพวกจำเลยไปติดตั้งใกล้เครื่องรับสัญญาณเรดาร์ ของ บริษัท วิทยุการ บินฯ ผู้เสียหายที่ 3 และทำการปิดกั้นสะพานกลับรถของกรมทางหลวงผู้เสียหายที่ 4 ตรวจค้นตัวเจ้าหน้าที่ของบริษัท การบินไทยฯ ผู้เสียหายที่ 5 ปิดกั้นการบริการสื่อสารบริษัท ไปรษณีย์ไทยฯ ผู้เสียหายที่ 6 และร่วมกันขู่เข็ญใช้กำลังประทุษร้ายบุคคลและทรัพย์สิน เพื่อกดดันให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ขณะนั้นลาออก เหตุเกิดที่แขวง-เขตดอนเมือง กทม. โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษพวกจำเลยตามความผิดด้วย พวกจำเลยให้การปฏิเสธ
โดยในวันนี้จำเลยเดินทางมาศาล เช่น นายสนธิ ลิ้มทองกุล ,นายสุริยะใส กตะศิลา ,นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นายพิภพ ธงไชย , นายรัชต์ชยุตม์ หรือ อมร ศิริโยธิน , นายพิชิต ไชยมงคล , น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก , นายสันธนะ ประยูรรัตน์ เเละจำเลยคนอื่น ๆ เดินทางมาศาล ส่วน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ยังรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลสินแพทย์กาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี ส่วนนายเทิดภูมิ ใจดี รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี
ขณะที่มีมวลชนกลุ่มพันธมิตรฯ จำนวนมากเดินทางมาให้กำลังใจจำเลยด้วย
เมื่อถึงเวลานัด ศาลได้พิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1-5 7-13 และ 31ประกอบด้วย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง จำเลยที่1 ,นายสนธิ ลิ้มทองกุล จำเลยที่2 , นายพิภพ ธงไชย จำเลยที่3 ,นายสมศักดิ์ โกศัยสุข จำเลยที่4 ,นายสุริยะใส กตะศิลา จำเลยที่5, นายศิริชัย ไม้งาม จำเลยที่7 ,นายสำราญ รอดเพชร จำเลยที่8 ,นางมาลีรัตน์ แก้วก่า จำเลยที่9 ,นายสาวิทย์ แก้วหวาน จำเลยที่10 ,นายสันธนะ ประยูรรัตน์ จำเลยที่ 11 ,นายชนะ ผาสุกสกุล จำเลยที่ 12 ,นายรัชต์ชยุตม์ หรืออมรเทพ หรืออมร ศิริโยธินภักดี หรืออมรรัตนานนท์ จำเลยที่13 และ บ.เอเอสทีวี (ประเทศไทย)จำกัด จำเลยที่ 31 มีความผิดฐานบุกรุกฯ และข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่เป็นบทหนักสุด ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1-5 7-13 และ 31 คนละ 20,000 บาท ยกฟ้องข้อหาก่อการร้าย,ข้อหาทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานฯ และข้อหาอื่น
นายประพันธุ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ภายหลังฟังคำพิพากษาว่า คดีนี้ตั้งแต่ปี 2551 จนวันนี้มีคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งคดีนี้อัยการฟ้องมาร่วม 20 ข้อกล่าวหา เช่น บุกรุก, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ,ข้อหาก่อการร้าย,ซ่องโจร ชุมนุมโดยก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง,ทำร้ายเจ้าพนักงาน,ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน,กักขังหน่วงเหนี่ยว มีรายละเอียดอยู่ในคำฟ้อง แต่สาระสำคัญประการแรกคือ การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯนั้นเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ
และไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้ ศาลพิเคราะห์ว่าการชุมนุมของพันธมิตรฯนั้น เป็นการชุมนุมที่สืบเนื่องเรื่อยมาโดยมีเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์เดียวกัน คือคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลนายสมัคร อดีตนายกรัฐมนตรี ประเด็นที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของนักการเมือง ที่เป็นประเด็นใหญ่ ประเด็นที่ 2 กลุ่มพันธมิตรเห็นว่าการขึ้นมานั่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นนอมินี ซึ่งศาลพิเคราะห์ว่า การที่ประชาชนออกมาชุมนุมในการคัดค้านรัฐบาลทักษิณ ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลนายสมัครและนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี มาจากที่ไม่เห็นด้วยกับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลทักษิณ
โดยผู้ชุมนุมได้พิสูจน์การนำสืบพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริงที่คณะกรรมการ คตส.ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและจากศาลฎีกาได้พิพากษาหลายคดีเกี่ยวกับคดีคอรัปชั่น จึงเห็นว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯนั้นเป็นการชุมนุมที่มีเหตุผลและมีเจตนารมณ์เพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง ส่วนการชุมนุมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จนกระทั่งมาชุมนุมที่สนามบินก็ยังเป็นการชุมนุมโดยสงบ
แม้ว่าจะเป็นการไปชุมนุมที่สนามบินดอนเมืองแต่ว่าพื้นที่ของสนามบินดอนเมืองแบ่งเป็น 2 พิ้นที่ พื้นที่แรกเรียกว่า พื้นที่แลนด์ไซด์ (Landside) ไม่เกี่ยวกับพื้นที่การบิน หมายถึงพื้นที่ด้านนอก เช่น หน้าอาคาร ห้องโถง ห้องเช็คอิน ร้านกาแฟ ร้านอาหารที่ประชาชนทั่วไปเข้าไปใช้บริการได้ ซึ่งตามพ.ร.บ.การบินฯจึงเรียกว่าพื้นที่เขตนอกการบิน หรือ แลนด์ไซด์ (Landside) เป็นพื้นที่สาธารณะ ส่วนพื้นที่แอร์ไซด์ (Airside) เป็นพื้นที่ด้านใน เริ่มตั้งแต่จุดตรวจทางเข้า ไปจนถึงบริเวณขึ้นเครื่องบิน ซึ่งพื้นที่ตรงนั้นห้ามเด็ดขาดไม่ให้ประชาชนเดินเข้าไป ผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯชุมนุมอยู่ที่พื้นที่ด้านนอก ไม่ได้เข้าไปชุมนุมในพื้นที่แอร์ไซด์ และไม่ได้ไปทำร้ายผู้โดยสารหรือเจ้าพนักงาน ชุมนุมโดยสงบ มีเวทีปราศรัยอยู่ด้านนอก ไม่มีผู้ใดพกพาอาวุธเข้าไปในที่ชุมนุม ไม่ได้ก่อความจลาจลวุ่นวายให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง แม้ว่าจะเกิดความไม่สะดวกแก่ผู้โดยสารหรือการจราจรบ้างก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาของการชุมนุมที่มีคนจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ศาลจึงเห็นว่าการชุมนุมโดยรวมของจำเลยทั้ง 31 คน เป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธและเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แล้วโยงมาถึงว่าการกระทำของจำเลยทั้ง 31 คน จึงไม่เป็นความผิดฐานชุมนุมโดยก่อความชุลมุนวุ่นวาย หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนแต่อย่างใด รวมทั้งไม่เป็นอั้งยี่ซ่องโจร ไม่สมคบกันเพื่อกระทำความผิดทางอาญาร้ายแรง ส่วนความผิดฐานก่อการร้ายก็ไม่ได้เป็นการชุมนุมกันโดยมีอาวุธไม่ได้ทำร้ายเจ้าหน้าที่เจ้าพนักงาน ไม่ได้ไปทำลายการคมนาคมขนส่ง ไม่ได้ทำลายอากาศยานหรือทำลายสนามบินจึงไม่เข้าข่ายความผิดฐานก่อการร้ายด้วย ส่วนความผิดประเด็นอื่นว่าการไปชุมนุมที่สนามบินเป็นการบุกรุกหรือไม่ ศาลท่านวินิจฉัยว่า เนื่องจากสนามบินดอนเมืองเป็นพื้นที่ซึ่งรัฐบาลสมัยนายสมชายนั้น ได้ใช้จัดประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. (เป็นการชั่วคราว) ซึ่งกลุ่มพันธมิตรฯ เคลื่อนขบวนเข้าไป มีผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งขอเข้าไปดูห้องประชุมของคณะรัฐมนตรีดังกล่าวและอาจจะมีมวลชนเข้าไปในอาคารนั้น แต่ไม่ได้เข้าไปในพื้นที่แอร์ไซด์ แม้ว่าจะได้ขออนุญาตแล้วก็ตาม แต่ศาลมองว่าเป็นพื้นที่ปฏิบัติการของครม.ที่ใช้เป็นที่ทำงาน และการเข้าไปพักนอนบริเวณนั้น อาจเป็นการรบกวนผู้โดยสาร ศาลมองว่าเป็นความผิดฐานรบกวนการครองครองอสังหาริมทรัพย์ของท่าอากาศยานจึงลงโทษความผิดฐานบุกรุก เฉพาะจำเลยที่ 1-5 ที่เป็นแกนนำ จำเลยที่ 7-13 และจำเลยที่ 31
ส่วนจำเลยอื่นที่เป็นผู้ไปปราศรัยก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่จะเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว จึงไม่เป็นความผิด ขณะเดียวกันระหว่างการชุมนุมก็มีการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯโดยมีการออกข้อกำหนดห้ามเข้าพื้นที่ ห้ามไปชุมนุม ศาลท่านมองว่าการที่จำเลยที่ 1-5 ซึ่งเป็นแกนนำ จำเลยที่ 7-13 และจำเลยที่ 31 เหล่านี้มารวมตัวกันระหว่างที่มีประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯก็เป็นความผิดฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯด้วยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษข้อหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดังนั้นจึงลงโทษปรับ จำเลยดังกล่าวข้างต้นรายละ 2 หมื่นบาท ส่วนจำเลยอื่นให้ยกฟ้อง โดยรวมเราเคารพและพิใจที่ศาลเข้าใจความเป็นธรรมและวินิจฉัยคดีโดยละเอียดทุกประเด็น ส่วนเหตุอื่นๆที่มีการชกต่อยกัน ตรวจอาวุธคนเดินทาง ไม่มีคนพบเห็นว่าจำเลยในคดีเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง จึงไม่มีพยานหลักฐานในส่วนนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ พล.ต.จำลอง จำเลยที่ 1 และ นายเทิดภูมิ จำเลยที่ 15 ป่วยรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ศาลอาญาจึงได้อ่านคำพิพากษาโดยใช้วิธีประชุมผ่านระบบจอภาพไปยังโรงพยาบาลดังกล่าว
สำหรับรายชื่อจำเลยทั้ง 31 รายประกอบด้วย
1) พล.ต.จำลอง ศรีเมือง
2) นายสนธิ ลิ้มทองกุล
3) นายพิภพ ธงไชย
4) นายสมศักดิ์ โกศัยสุข
5) นายสุริยะใส กตะศิลา
6) นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ (เสียชีวิต)
7) นายศิริชัย ไม้งาม
8) นายสำราญ รอดเพชร
9) นางมาลีรัตน์ แก้วก่า
10) นายสาวิทย์ แก้วหวาน
11) นายสันธนะ ประยูรรัตน์
12) นายชนะ ผาสุกสกุล
13) นายรัชต์ชยุตม์ หรืออมรเทพ หรืออมร ศิริโยธินภักดี หรืออมรรัตนานนท์
14) นายประพันธุ์ คูณมี (วุฒิสมาชิก)
15) นายเทิดภูมิ หรือเกิดภูมิไท ใจดี
16) น.ส.อัญชะลี หรือปอง ไพรีรัก
17) นายพิชิต ไชยมงคล
18) นายบรรจง นะแส
19) นายสุมิตร นวลมณี
20) นายพิเชฏฐ พัฒนโชติ
21) นายสมบูรณ์ ทองบุราณ
22) นายอธิวัฒน์ บุญชาติ
23) นายจำรูญ ณ ระนอง
24) นายแสงธรรม หรืออาร์ท ชุนชฎาธาร
25) นายไทกร พลสุวรรณ
26) นายสุชาติ ศรีสังข์
27) นายอำนาจ พละมี
28) พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ
29)นายกิตติชัย หรือจอร์ส ใสสะอาด
30)นายเกรียงศักดิ์ หลิวจันทร์พัฒนา
31)บ.เอเอสทีวี (ประเทศไทย) จำกัด