“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันพุธที่ 13 ธันวาคม 2566 ตอน ‘ทักษิณ’ กลับบ้าน? ระเบียบราชทัณฑ์ กุญแจเปิดคุกสู่ ‘จันทร์ส่องหล้า’
เป็นของร้อนขึ้นมาทันที ภายหลังกรมราชทัณฑ์ออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 ซึ่งประกาศบังคับใช้ไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ที่ผ่านมา พร้อมกับมีหนังสือบันทึกข้อความถึงผู้บัญชาการเรือนจำ ผู้อำนวยการทัณฑสถาน ผู้อำนวยการสถานกักขัง ผู้อำนวยการสถานกักกัน ให้ทราบ
เรื่องนี้จะไม่กลายเป็นประเด็นเลยหากประเทศไทยไม่ได้มีนักโทษชายที่ชื่อ 'ทักษิณ ชินวัตร' อดีตนายกรัฐมนตรี หนีคดีอาญาทุจริต ซึ่งเป็นการทำผิดในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในช่วงปี2544-2549
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่22ดือนสิงหาคม2566ที่นายทักษิณ เดินทางกลับมารับโทษจำคุกตามคำพิพากษา ถือว่าเวลานั้นได้รับเสียงสนับสนุนพอสมควร เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่าอดีตนายกฯรายนี้ยอมรับกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย
แต่พอเวลาผ่านไป กระแสกลับตีกลับ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลายฝ่ายเริ่มตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดโรงพยาบาลตำรวจ จึงกลายเป็นรังนอนหลักของนักโทษชายรายนี้ แทนที่จะต้องเป็นเรือนจำเพื่อให้สมกับโทษจำคุกที่ได้รับ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงยุติธรรม โรงพยาบาลตำรวจ หรือแม้แต่คนในครอบครัวชินวัตร พยายามบ่ายเบี่ยงที่จะตอบคำถามสังคมว่าทำไมนายทักษิณในวัย 70 ที่มักแสดงตัวมาตลอดว่าสุขภาพแข็งแรง แต่พอกลับมาที่ประเทศไทยกลับกลายสภาพเป็นคนป่วยต้องรักษาตัวอยู่ที่ 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ
ทั้งนี้ คำตอบที่มักจะได้รับมีเพียงแค่การบอกว่านายทักษิณป่วยจริง เมื่อคำถามถึงสถานะความเป็นนักโทษเริ่มดังขึ้น ก็ปรากฏภาพนายทักษิณนอนบนเตียงผู้ป่วยเมื่อเดือนตุลาคม ก่อนที่ในเวลาต่อมากรมราชทัณฑ์ได้เห็นชอบให้นายทักษิณพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจได้ต่อไปหลังจากรักษาตัวโรงพยาบาลภายนอกครบ 60 วัน โดยอ้างความเห็นของแพทย์ที่ทำการรักษา
ขณะที่ อีกไม่กี่วันข้างหน้านายทักษิณกำลังจะรักษาตัวนอกโรงพยาบาลครบ 120 วัน ในวันที่ 22 ธันวาคม ซึ่งถือตัวเลข 120 และ 22 มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากกฎกระทรวงว่าด้วยการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ระบุว่า ในกรณีการพักรักษาตัวเกินกว่า 120 วัน นอกจากจะต้องให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ให้ความเห็นชอบ พร้อมกับแนบความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาแล้ว
ยังต้องรายงานให้รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมทราบด้วย ซึ่งก็คือ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เจ้ากระทรวงคนปัจจุบัน
เรียกได้ว่าเผือกร้อนมาตกอยู่ที่นายตำรวจเจ้ากระทรวงยุติธรรมรายนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าตัวยืนยันมาตลอดว่าจะยึดตามความเห็นของแพทย์เป็นสำคัญ แต่ทำไปทำมารัฐมนตรีอาจไม่ต้องลงนามในกรณีนี้ตามกฎกระทรวง เพราะด้วยระเบียบระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 อาจทำให้นายทักษิณ ได้ออกจากโรงพยาบาลและไปที่บ้านทันที โดยไม่ต้องใช้ชีวิตในเรือนจำเลยแม้แต่น้อย
หัวใจสำคัญที่จะเป็นจุดชี้ขาดของเรื่องนี้อยู่ที่ การพิจารณาของ 'คณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง' เพราะมีอำนาจว่าจะให้ผู้ต้องขังรายใดสามารถอยู่ในสถานที่คุมขังที่ใช่เรือนจำได้บ้าง
โดยคุณสมบัติของผู้ต้องขังที่จะได้รับสิทธินี้ ประกอบด้วย 1. เป็นผู้ต้องขังตามกฎหมายราชทัณฑ์ 2.ผ่านการจำแนกลักษณะของผู้ต้องขัง 3.มีคุณสมบัติเฉพาะและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนด
ถ้ามองไปที่ตัวของนายทักษิณแล้วอย่างน้อยก็เข้าองค์ประกอบแล้วหนึ่งข้อ คือ การเป็นผู้ต้องขังตามกฎหมายราชทัณฑ์ แต่สำหรับนายทักษิณแล้วปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีน้ำหนักมากกว่านั้น เป็นเพราะนายทักษิณ กำลังใกล้ครบเงื่อนไขของการมีสิทธิได้พักโทษด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเป็นนักโทษที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป มีภาวะป่วยชราภาพ และรับโทษไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษจำคุก
โดยเวลาจำนวน 1 ใน 3 ของนายทักษิณนั้น ถ้านับจากโทษที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 8 ปีเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ประกอบกับการได้รับพระราชทานอภัยลดโทษให้เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี ส่งผลให้นายทักษิณจะรับโทษครบ1ใน3 ช่วงประมาณเดือนธันวาคม ด้วยเหตุนี้อาจทำให้มีความเป็นไปได้ว่าคณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขังอาจให้ความสำคัญกับประเด็นนี้พอสมควร
ดังนั้น ตลอดทั้งเดือนนี้ซึ่งเป็นเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เรื่องนี้คงจะทวีความเดือดอีกหลายระลอกอย่างแน่นอน
--------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android