รายการ “ถอนหมุดข่าว” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 วันอังคารที่ 5 ธันวาคม 2566 นำเสนอรายงานพิเศษ กรมอุทยานฯกลับลำ ไปต่อ E-Ticket ลักปิดลักเปิดช่องโกง
เพิ่งประกาศยกเลิกระบบจำหน่ายตั๋วเข้าอุทยานอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Ticket ได้เพียงไม่กี่วัน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ก็กลับลำ เดินหน้าใช้ E-Ticket ต่อเสียแล้ว
ปัญหาอย่างหนึ่งของกรมอุทยานฯ ปัจจุบัน คือปัญหาภาพลักษณ์ มีเรื่องทุจริตคอรัปชั่นฉาวโฉ่ ประชาชนไม่ค่อยไว้วางใจ
พลันที่มีแผนการจะยุบทิ้ง E-Ticket ในช่วงเวลาไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว อันเป็นช่วงเวลากอบโกยเงินเข้ากรม
ต่อให้สิ่งที่กรมอุทยานฯ ชี้แจงเป็นความจริง ว่าระบบ E-Ticket มันมีปัญหาหลายอย่าง ที่ต้องแก้ไขปรับปรุงขนานใหญ่
แต่หลายๆ คน ก็ไม่วายคิดอกุศล ว่าผู้บริหารกรมอุทยานฯ ไล่ไปถึงระดับผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำลังสมคบกัน วางแผนทำอะไรกันอยู่หรือไม่?
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีข่าวฉาวโฉ่ในกรมอุทยานฯ เรื่องการซื้อขายเก้าอี้หัวหน้าอุทยานฯ เกรดเอ โกยเงินเข้ากระเป๋าส่วนตัว และส่งส่วยต่อถึงผู้ใหญ่กันอู้ฟู่
ลือกันว่า ตั๋วเข้าอุทยานฯ พิมพ์ด้วยกระดาษ ที่ใช้ระบบ “ฉีกด้วยมือ” เต็มไปด้วยช่องโหว่ มีการพิมพ์ตั๋วผีเติมเข้าไปในระบบกันเป็นล่ำเป็นสัน
รายได้อุทยานฯ เกรดเอบางแห่ง ที่เคยเก็บได้น้อยนิด ไม่สอดรับกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่คึกคัก พอมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ก็กลับมามีผลประกอบการสูงลิบในพริบตา
ตามหลักการแล้ว การใช้ระบบ E-Ticket มีจุดแข็งหลายอย่าง จะช่วยให้เกิดความโปร่งใส ต่อต้านการทุจริต และช่วยอำนวยความสะดวกในการควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยว
จำเป็นต้องพัฒนาสิ่งนี้ให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้นไป โดยเฉพาะในเมื่อยุคนี้เป็นยุค 5G แล้วด้วย ถือว่าเทคโนโลยีมาพร้อมแล้ว
เพียงแต่น่าสงสัยว่า กระบวนการจัดหาบริษัทรับเหมา มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน ถึงได้บริษัทที่วางระบบ E-Ticket ได้ไม่ดีพอ ไม่ดีถึงขนาด กรมอุทยานฯ คิดจะยกเลิก E-Ticket แล้วประมูลหาบริษัทใหม่ไปเลย
6 อุทยานนำร่องระบบ E-Ticket ล้วนแต่เป็นอุทยานเกรดเอที่ทำรายได้อันดับต้นๆ ของประเทศ คือ 1.อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 2.อุทยานแห่งชาติเอราวัณ 3.อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา 4.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน 5.อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี และ 6.อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
รายได้ของอุทยานตัวท็อปทั้ง 6 แห่งนี้ หากการจัดเก็บรายได้เกิดรั่วไหล ยอดความเสียหายจะไม่แค่นิดหน่อย แต่อาจขึ้นไปถึงหลักพันล้านบาท ได้เลยทีเดียว
ปัญหาของ E-Ticket ที่เกิดขึ้นกับอุทยานนำร่องทั้งหก มีตั้งแต่การออกแบบระบบไม่ดีพอ หรือปัญหาอินเตอร์เน็ตตามอุทยานเหล่านี้ อืดเกินไปที่จะรองรับการทำ E-Ticket เพราะบางแห่ง มีที่ตั้งอยู่ตามพื้นที่ห่างไกล
ซึ่งทุกอย่าง สามารถแก้ไขได้ โดยไม่จำเป็นต้องระงับระบบไปเลยแต่อย่างใด หากแต่สามารถให้บริการไป พัฒนาไปควบคู่กันได้
มากกว่านั้น ในเมื่อหลักการของ E-Ticket คือความโปร่งใสถูกต้อง ก็ยิ่งต้องเดินหน้านำมาใช้กับอุทยานอื่นๆ ที่เหลือด้วย
การปฏิเสธระบบอันโปร่งใส อาจทำให้ประชาชนแอบคิด ว่ากรมอุทยานฯ อยากได้ระบบที่ไม่โปร่งใสกลับคืนมา
ซึ่งนับว่ากรมอุทยานฯ ตัดสินถูกต้อง โดยในการประชุมล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่มี ป.ป.ช. ร่วมประชุมด้วย มีมติให้คงระบบ E-Ticket ไว้ต่อไป เป็นเวลา 3 เดือน นับธ.ค 2566 ถึง ก.พ. 2567 พร้อมกับขยายอุทยานนำร่องระยะ 2 ไปอีก 31 แห่ง
รายงานข่าวจากกรมอุทยานฯ ระบุว่า ข้ออ้างเรื่องระบบบกพร่อง ล่าสุด ได้รับการแก้ไขเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว คงเหลือแต่ปัญหาอินเตอร์เน็ตที่ไม่มีความเสถียร ในพื้นที่เกาะ เช่นเกาะพีพี
ซึ่งอันนี้ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่แต่อย่างใด แค่ทางอุทยานฯ ประสานขอความช่วยเหลือไปยังผู้บริการโทรศัพท์ ให้เพิ่มความแรงของอินเตอร์เน็ต ก็น่าจะได้รับการตอบสนองอย่างดี
ปัญหาไม่มีบอกว่ามีปัญหา มันเลยเป็นปัญหาให้กรมอุทยานฯต้องรีบกลับลำ ที่ตั้งท่า เปิดช่องทางเก่าที่คุมเงินรั่วไหลไม่ได้แต่เห็นกระแสไปต่อไม่ไหว เลยต้องรีบถอย ใช่หรือไม่
--------------------------------
**หมายเหตุ
แอป Sondhi App ดาวโหลดได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android
สมัครสมาชิกได้แล้ววันนี้
รายเดือนเพียง เดือนละ 99 บาท
รายปี 990 บาท (10 เดือน แถม 2 เดือน )
ถ้ามีปัญหาการใช้งาน app หรือการสมัครสมาชิกใน app ติดต่อสอบถามได้ที่ Line id : @sondhitalk หรือ https://lin.ee/Skns1k1