รายการ “ถอนหมุดข่าว” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 วันพุธที่ 15 พฤศจิกายน 2566 นำเสนอรายงานพิเศษ ปลดล็อกเครื่องเป่าแอลกอฮอล์ รับนโยบายเปิดผับตี 4
ขณะนี้ดูเหมือนว่ารัฐบาลพยายามงัดทุกกระบวนท่าเพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้มากที่สุด โดยระหว่างท่าไม้ตายอย่างเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ถูกตั้งความหวังว่าจะช่วยสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจยังไม่สามารถนำออกมาใช้ได้ ทำให้ตอนนี้ต้องเดินหน้าด้วยแผนสำรองเพื่อประคองสถานการณ์ไปก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว
ภาคการท่องเที่ยว ถือว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งมากที่สุด แต่ต้องสลบไปด้วยการแพร่ระบาดของโรคโควิด 2019 ดังนั้น เมื่อโรคโควิดไม่ได้เป็นภัยต่อมนุษยชาติอีกต่อไปแล้ว รัฐบาลก็หวังว่าจะใช้การท่องเที่ยวฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง
จึงเป็นเหตุผลที่ต้องจัดโซนนิ่งให้สถานบันเทิงสามารถเปิดให้บริการได้ถึงเวลาสี่นาฬิกา
เดิมทีแนวความคิดนี้ถูกต่อต้านจากภาคประชาสังคมที่รณรงค์เรื่องการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พอสมควร เพราะมีความกังวลจะทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับเพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงการก่ออาชญากรรมในรูปแบบอื่น
ซึ่งจากเสียงเรียกร้องดังกล่าว ทำให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยอมถอยออกมาหนึ่งก้าวด้วยจำกัดพื้นที่เฉพาะสถานบันเทิงที่ตั้งอยู่ในโซนนิ่งที่อุดมไปด้วยแหล่งสถานบันเทิงเท่านั้น
ไม่เพียงเท่านี้ กระทรวงสาธารณสุขในฐานะหน่วยงานหลักที่บังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็เตรียมสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุด้วยการเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวสามารถพกเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจได้เป็นการทั่วไป
ในประเด็นนี้ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า มอบหมายให้คณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. พิจารณาความเป็นไปได้ในการปลดล็อคให้เครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ไม่เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ดังกล่าวได้มากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อไปในระยะยาว
แต่ยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุขยังคงยืนยันในหลักการเดิม คือ รณรงค์เรื่องการดื่มไม่ขับ อย่างเข้มงวด
มูลนิธิเมาไม่ขับ รวบรวมสถิติตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนตลอดทั้งปีพบว่ามียอดสะสมจนถึงเดือนพฤศจิกายน จำนวน 11,706 ราย ซึ่งส่วนใหญเกิดการไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร โดยปัจจุบันพระราชบัญญัติตราจรทางบก กำหนดโทษสำหรับผู้เมาแล้วขับต้องถูกจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5000-20,000 บาท สั่งพักหรือยกเลิกใบขับขี่ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี
แต่หากเป็นการเมาแล้วขับที่ก่ออุบัติเหตุทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บหรือชีวิต จะมีโทษจำคุกระหว่าง 1-10 ปี โทษปรับสูงสุด 200,000 บาท และยกเลิกใบขับขี่
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าแม้บทลงโทษของการเมาแล้วขับค่อนข้างสูง แต่ดูเหมือนว่านักดื่มที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคมยังคงปรากฏให้เห็นต่อเนื่อง รวมไปถึงการตั้งคำถามไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงการบังคับใช้กฎหมายว่ามีความยุติธรรมหรือไม่
โดยเฉพาะกรณีที่มีผู้ก่อเหตุบางคนสามารถปฏิเสธเข้ารับการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ หรือ ถูกวัดปริมาณแอลกอฮอล์ภายหลังก่อเหตุเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นการท้าทายต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างยิ่ง
ดังนั้น การเดินหน้าปลดเครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์ให้พ้นจากฐานะเครื่องมือทางการแพทย์อาจจะเป็นเครื่องมือของการแก้ไขปัญหานี้ แต่ถ้าจะให้ดีต้องกวดขันการบังคับใช้กฎหมายให้มีความเข้มงวดเป็นสำคัญ
*************************
**หมายเหตุ
แอป Sondhi App ดาวโหลดได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android
สมัครสมาชิกได้แล้ววันนี้
รายเดือนเพียง เดือนละ 99 บาท
รายปี 990 บาท (10 เดือน แถม 2 เดือน )
ถ้ามีปัญหาการใช้งาน app หรือการสมัครสมาชิกใน app ติดต่อสอบถามได้ที่ Line id : @sondhitalk หรือ https://lin.ee/Skns1k1