ศาลอาญาสั่งจำคุก “ทนายนกเขา” 5 ปี 9 เดือน ปรับ 2 แสน ส่วน “ตั๊น-จิตภัสร์” จำคุก 9 เดือน ปรับ 4 หมื่นบาท - คดีม็อบ กปปส.ชุมนุมไล่ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ปี 57 แต่ให้รอลงอาญา ยกฟ้องข้อหากบฏ
เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (1 ธ.ค.) ที่ห้องพิจารณา 801 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดี กปปส. ชุดเล็ก 7 คนร่วมกันกบฏ ก่อการร้าย หมายเลขดำ อ.2732/2562 ที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ฟ้อง นายนัสเซอร์ ยีหมะ การ์ดคปท., นายอุทัย ยอดมณี แกนนำ คปท., นายนิติธร ล้ำเหลือ หรือ ทนายนกเขา แกนนำ คปท.น.ส.จิตภัสร์ หรือ ตั๊น กฤดากร, นายพานสุวรรณ ณ แก้ว, นายประกอบกิจ อินทร์ทอง และ นายกิตติศักดิ์ ปรกติ นักวิชาการ ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-7 ในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุม เป็นกบฏสมคบกันใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ
จากกรณีเมื่อช่วงวันที่ 23 พ.ย. 2556 - 1 พ.ค. 2557 จำเลยกับพวกซึ่งเป็นแกนนำกลุ่ม กปปส.ได้ร่วมกันชุมนุม ต่อต้านการบริหารราชการแผ่นดินและขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้พ้นจากตำแหน่ง ยุยง ปลุกระดม ให้ประชาชนกระด้างกระเดื่อง
จำเลยทุกคนให้การปฏิเสธ และได้รับการประกันตัว
วันนี้จำเลยทั้งหมดทยอยเดินทางมาศาล รวมถึง นายจตุพร พรหมพันธุ์ และคนใกล้ชิดที่เดินทางมาให้กำลังใจ
ศาลพิจารณาพยานหลักฐานคู่ความทั้งสองที่เบิกความตรงกัน เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยว่าการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนเเปลงการปกครองทำให้เกิดความเเตกเเยกในบ้านเมืองพฤติการณ์ไม่ใช่การทำกบฏให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง 7 ในข้อหากบฎฯ ส่วนข้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมข้อหาอื่นๆ อาทิเช่น ทำให้เกิดความวุ่นวายและทรัพย์สินเสียหาย ยุยงให้มีการหยุดงาน รวมถึงขัดขวางการเลือกตั้ง ศาลลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละรายแตกต่างกัน
พิพากษาว่า นายนัสเซอร์ ยีหมะ จำเลยที่ 1
มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตราที่ 117 วรรคสอง, 215 วรรคหนึ่งฐานเข้า มีส่วนให้เกิดการร่วมกันหยุดงานเพื่อบังคับรัฐบาลและฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปกระทำการให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้บทลงโทษที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ฐานเข้ามีส่วน ให้เกิดการร่วมกันหยุดงานเพื่อบังคับรัฐบาลจำคุก6 เดือนและปรับ 20,000 บาท
พิพากษาว่า น.ส.จิตภัสร์ หรือ ตั๊น จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 117 วรรคหนึ่ง, 215 วรรคหนึ่งฐานร่วมกันยุยงให้เกิดการหยุดงานเพื่อบังคับรัฐบาลและฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ สิบคนขึ้นไป กระทำการให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดอกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ฐานร่วมกันยุยงให้เกิดการหยุดงานเพื่อบังคับรัฐบาลจำคุก 9 เดือน และปรับ 40,000 บาทไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน
พิพากษาว่า นายอุทัย ยอดมณี,นายนิติธร ล้ำเหลือจำเลยที่ 2-3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116(2), 117 วรรคหนึ่ง, 215 วรรคหนึ่ง 216, 358, 362 ประกอบ 365(2) พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา 36, 152 การกระทำของจำเลยที่ 6 และจำเลยที่ 3 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรม ต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตาม ป.อ.91 กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่ จะก่อความไม่สงบในราชอาณาจักรจำคุกคนละ 2 ปี และปรับคนละ 100,000 บาทฐานขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไป ณ ที่เลือกตั้ง จำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 20,000 บาท ฐานร่วมกันทำให้เสียซับจำคุกคนละ 1 ปี ปรับ 20,000 บาท ฐานร่วมกันบุกรุกโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปจำคุกคนละ 1 ปีปรับคนละ 20,000 บาท ฐานร่วมกันยุยงให้เกิดการหยุดงานเพื่อบังคับรัฐบาลและฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป กระทำการให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้บทลงโทษที่มีบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ฐานร่วมกันยุยงให้เกิดการหยุดงานเพื่อบังคับรัฐบาลจำคุกคนละ 9 เดือนปรับคนละ 40,000 บาทรวมห้ากระทงจำคุกคนละ 5 ปี 9 เดือน ปรับคนละ 200,000 บาท
พิพากษาว่า นายพานสุวรรณ ณ แก้ว, นายประกอบกิจ อินทร์ทอง จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (2), 117 วรรคหนึ่ง, 215 วรรคหนึ่ง, 216, 358 ,362 ประกอบ 365(2) กรานกระทำของจำเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันจึงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตาม ป.อ .91 ฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาเพื่อก่อให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่ จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรจำคุก 2 ปี ปรับ 100,000 บาท ฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์สินจำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 20,000 บาท ฐานร่วมกันยุยงให้เกิดการหยุดงานเพื่อบังคับรัฐบาลและฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบททำให้ลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ฐานร่วมกันยุยงให้เกิดการหยุดงานเพื่อบังคับรัฐบาลจำคุกคนละ 9 เดือน ปรับ 40,000 บาทรวมจำคุกคนละ 4 ปี 9 เดือน ปรับคนละ 180,000 บาท
จำเลยทั้งหมดกระทำความผิดสืบเนื่องจากมีข้อมูลถึงการกระทำที่ไม่ชอบของนักการเมืองจำเลยทั้งหมด จึงมีเจตนารมณ์และเป็นการแสดงออกเพื่อต่อสู้ให้เกิดความชอบธรรมตามหลักนิติรัฐนิติธรรมเป็นสำคัญ มิใช่เป็นการกระทำเพื่อตนเองจำเลยทั้งหมดมอบตัวและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วยความกล้าหาญไม่เคยมี พฤติการณ์หลบหนีเห็นสมควรให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56(2) สำหรับจำเลยที่ 1 และมาตรา 56(1) ข้อหาและคำขออื่นให้ยก
ยกฟ้อง นายกิตติศักดิ์ ปรกติ จำเลยที่ 7 เนื่องจากเป็นการขึ้นปราศรัยโดยให้ความเห็นทางรัฐธรรมนูญในการเรียกสิทธิ
ภายหลังการฟังคำพิพากษานายนัสเซอร์ ยีหมะ จำเลยที่ 1 ในคดี ได้เปิดเผยว่า ศาลอ่านคำพิพากษาว่าจะไม่รอลงอาญาตนเพราะเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จากนั้นตนและทนายได้เข้าไปปรึกษาข้อกฎหมายกับทางศาล ว่า คดีอื่นที่ตนเคยโดนโทษจำคุก 6 เดือนมาก่อนแต่ว่าเวลาผ่ายไปนานกว่า 5 ปีแล้ว ตามกฎหมายในส่วนของตนจึงสามารถรอลงอาญาได้ แต่ต้องเสียค่าปรับ 20,000 บาทแทนเเละยื่นร้องต่อศาล
ต่อมาศาลได้ตรวจสอบเท็จจริงเเล้วพบข้อผิดหลงจึงเเก้ไขคำพิพากษาเป็นว่าให้รอลงอาญา
ขณะที่ น.ส.จิตภัสร์ หรือตั๊น ได้เดินทางกลับทันที เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อหรือไม่ น.ส.จิตภัสร์ ไม่ได้ตอบเเต่พยักหน้า