“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤจิกายน 2566 ตอน ปัญหานักเรียนนักเลง ผู้ใหญ่มองไม่รอบด้าน เกาะกระแส-ล้อมคอก
ปัญหาเด็กนักเรียนตีกันถือเป็นปัญหาเรื้อรังมาหลายทศวรรษที่ไม่ว่าจะผ่านมากี่รัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการจะเปลี่ยนรัฐมนตรีมากี่คน ก็ยังไม่สามารถแก้ไขให้เกิดเป็นรูปธรรม
ทำให้ข่าวโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นให้เป็นระยะ และผู้สูญเสียในเหตุการณ์แต่ละครั้งล้วนแล้วแต่เป็นคนบริสุทธิ์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเหตุการณ์สูญเสียบุคลากรคุณภาพด้านการศึกษาอย่างนางสาวศิรดา สินประเสริฐ ครูสอนคอมพิวเตอร์โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ซึ่งโดนลูกหลงจากกลุ่มคนที่เข้ามาทำร้ายนักศึกษาอุเทนถวาย
หรือจะเป็นการก่อเหตุยิงนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคดุสิต สถาบันการอาชีวศึกษากรุงเทพมหานคร ปรากฏว่าในกรณีหลังตำรวจสามารถตามจับกุมคนร้ายได้
แม้หลายต่อหลายครั้งตำรวจจะตามจับกุมคนร้ายที่ลงมือสร้างความรุนแรงได้ แต่ก็ไม่เคยสามารถการันตีได้ว่าจะไม่มีการก่อเหตุในลักษณะเดียวกันซ้ำอีก
เพราะที่ผ่านมาก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ลำพังการใช้กำลังปราบปรามและจับนักเรียนนักเลงเหล่านี้ เป็นแค่การแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น
ถ้าถามว่าผู้ใหญ่ในวงการศึกษาตั้งแต่ระดับรัฐมนตรีไปจนถึงระดับผู้ปฎิบัติโดยเฉพาะด้านอาชีวศึกษารู้ถึงต้นตอของปัญหานี้หรือไม่ แน่นอนว่าย่อมรู้ดีอยู่แล้ว แต่เหตุใดถึงยังแก้ไขปัญหาไม่ได้เสียที??
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความต่อเนื่องในการลงมือแก้ไขปัญหา เพราะที่ผ่านมามักจะเห็นว่าเวลามีเหตุการณ์สลดขึ้นมาเมื่อใด ก็จะได้เห็นผู้มีอำนาจออกมาแสดงความคิดเห็นและสั่งการ แต่พอเวลาผ่านไปปัญหาก็ยังคาราคาซังเหมือนเดิม
ไม่เพียงเท่านี้ ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการหลายยุคที่ผ่านมา มองปัญหานักเรียนตีกันแบบผิวเผินเท่านั้น ทั้งที่จริงๆแล้วปัญหาของนักเรียนนักเลงมีรากลึกไปถึงระดับความเชื่อและอุดมคติเลยทีเดียว ซึ่งมีการปลูกฝังความเชื่อผิดจากรุ่นสู่รุ่น จนกลายเป็นการเป็นบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความรุนแรงเกิดขึ้น
ในทางกลับกัน จะให้ครูที่ทำหน้าที่ระดับปฏิบัติเข้าไปลงมือแก้ปัญหานี้ก็ทำได้ไม่เต็มที่ เพราะด้านหนึ่งมีภาระจากงานสอนจำนวนมากที่ต้องทำให้ได้ตามตัวชี้วัดของสถาบันการศึกษา เพื่อมุ่งสู่ความเจริญก้าวหน้าในอาชีพ ทำให้ไม่อยากเอาความก้าวหน้าไปแลกกับนักเรียนที่ถูกมองว่าเป็นพวกเกินเยียวยาเหล่านี้ ยิ่งนานวันเด็กกลุ่มนี้ก็ถูกผลักออกไปจากความดูแลของสถาบันการศึกษาไกลมากขึ้นไปอีก จนถูกครอบงำจากรุ่นพี่ในทางที่ผิด
มาถึงกระทรวงศึกษาธิการยุคพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ เป็นเจ้ากระทรวง ผู้คิดค้นนโยบาย 'เรียนดี มีความสุข' ก็ถูกตั้งความหวังว่าในฐานะอดีตนายพลตำรวจน่าจะเข้ามาแก้ปัญหานี้ให้ได้สักทีไมได้แค่วัวหายล้อมคอก ซึ่งล่าสุดได้มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา กำชับครูแต่ละสถาบันตรวจสอบจุดเสี่ยง การพกอาวุธและยาเสพติดเข้ามาในสถานศึกษา พร้อมกับหาแนวทางให้นักศึกษาต่างสถาบันมาทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อสร้างความสามัคคี
อย่างไรก็ตาม การจะแก้ปัญหานี้ได้คงมาหวังพึ่งเพียงกระทรวงศึกษาธิการฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะต้องมองปัญหาในเชิงระบบเป็นสำคัญ อาจถึงขั้นที่ต้องให้เรื่องนี้เป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติที่รัฐบาลจะเข้ามาแก้ปัญหาจริงจัง เพราะยิ่งปล่อยให้ยืดเยื้อต่อไป
ความสูญเสียอาจจะไม่หยุดแค่นี้ และระยะยาวอาจขาดแคลนบัณฑิตด้านอาชีวศึกษา เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้บุตรหลานตัวเองเข้าไปเสี่ยง จึงถึงเวลาแล้วที่ผู้มีอำนาจต้องเอาจริงเสียที
--------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android
สมัครสมาชิกได้แล้ววันนี้
รายเดือนเพียง เดือนละ 99 บาท
รายปี 990 บาท (10 เดือน แถม 2 เดือน )
ถ้ามีปัญหาการใช้งาน app หรือการสมัครสมาชิกใน app ติดต่อสอบถามได้ที่ Line id : @sondhitalk หรือ https://lin.ee/Skns1k1