ปอท. เปิดปฏิบัติการ “CIB Anti Online Scam” ปราบเครือข่ายแอพเงินกู้เงินออนไลน์ดอกเบี้ยโหด พบเงินหมุนเวียนกว่า 500 ล้านบาท
วันนี้ (15 พ.ย.) ที่ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พร้อมด้วย พล.ต.ต.อธิป พงษ์ศิวาภัย ผบก.ปอท. พ.ต.อ.พิเชษฐ์ คำภีรานนท์ ผกก.3 บก.ปอท. พ.ต.อ.ภาดล จันทร์ดอน ,พ.ต.อ.สัณห์เพ็ชร หนูทอง ผกก.(สอบสวน) บก.ปอท. พ.ต.ท.เสริมศักดิ์ น้อยหัวหาด รอง ผกก.3 บก.ปอท. ร่วมแถลงผลปฏิบัติการ “CIB Anti Online Scam” ปราบเครือข่ายหลอกกู้เงินออนไลน์ เข้าตรวจค้นเป้าหมาย 23 จุด ในพื้นที่ 10 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ นนทบุรี ชลบุรี ปทุมธานี นครราชสีมา ปราจีนบุรี อยุธยา สมุทรปราการ ชุมพร และตรัง
จากปฏิบัติการดังกล่าว สามารถจับกุม ผู้ต้องหาขบวนการดังกล่าวได้จำนวน 13 ราย แล่งเป็นผู้ต้องหาระดับสั่งการ 2 ราย คือ น.ส.ยุวธิดา อายุ 37 ปี นายวีรยุทธ อายุ 37 ปี ตามหมายจับศาลอาญา ข้อหา “ร่วมกันทุจริตหรือหลอกลวงโดยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ, ร่วมกันประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต, เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด, ร่วมกันทวงถามหนี้ในลักษณะข่มขู่ใช้ความรุนแรง และ ความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ” ส่วนที่เหลืออีก 11 รายเป็นผู้ต้องหาในกลุ่มบัญชีม้า นอกจากนี้ยังได้ตรวจยึดของกลาง จำพวก สมุดบัญชีธนาคารต่างๆ โทรศัพท์มือถือ โน้ตบุ๊ค, แท็ปเล็ต, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ รวม 52 รายการ
พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวว่า เนื่องจากสืบทราบว่า ผู้ต้องหากลุ่มนี้ มีพฤติกรรมลักลอบปล่อยสินเชื่อหรือเงินกู้นอกระบบผ่านแอปพลิเคชันออนไลน์ต่างๆที่จัดทำขึ้นมา ซึ่งผู้ที่สนใจจะกู้เงิน จะต้องลงทะเบียนเปิดใช้งานแอปพลิเคชัน ยอมให้เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวในโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะเป็น รายชื่อเบอร์โทรศัพท์, รูปภาพ, กล้อง, ตำแหน่งที่ตั้ง (GPS) และไมโครโฟน รวมถึงต้องกรอกข้อมูลชื่อสกุล, ที่อยู่, ที่มารายได้, ชื่อผู้ติดต่อ, เลขที่บัญชีเงินฝาก, ภาพบัตรประชาชนคู่กับใบหน้า รวมถึงเบอร์โทรศัพท์เพื่อรอรับรหัสยืนยัน (OTP) ให้กับผู้ต้องหากลุ่มนี้ จึงจะสามารถทำเรื่องยื่นขอเงินกู้ได้
พล.ต.ต.อธิป กล่าวว่า เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการลงทะเบียนยื่นเรื่องกู้เงินแล้วนั้น ลูกหนี้จะได้รับเงินเพียงร้อยละ 55 ของยอดเงินกู้ทั้งหมด แต่จะต้องคืนเงินเต็มจำนวนของยอดกู้ภายในระยะเวลา 6 วัน หากคำนวนเป็นอัตราดอกเบี้ยแล้ว คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อวันหรือ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 225 ต่อเดือน หรืออัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2,737.5 ต่อปี นอกจากนี้ยังมีบางรายมียอดเงินที่ตนเองไม่กู้ ถูกโอนเข้ามาในบัญชีแล้วถูกบังคับให้ต้องชำระยอดเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยในส่วนนี้เพิ่มอีกด้วย
พล.ต.ต.อธิป กล่าวต่ออีกว่า หากลูกหนี้รายใด ไม่สามารถชำระเงินกู้ที่กู้ยืมไว้ได้ จะถูกโทรศัพท์ข่มขู่ ด่าทอด้วยถ้อยคำหยาบคาย หรือมีโทรศัพท์ติดต่อไปยังพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนร่วมงาน พร้อมส่งข้อความทาง SMS แนบรูปภาพตัดต่อใบหน้าของผู้เสียหายไปให้ เพื่อทำให้เข้าใจว่าผู้เสียหายเป็นผู้จำหน่ายเสพติด หรือค้าประเวณี สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้เสียหายเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมามีผู้ตกเป็นเหยื่อหลายราย ก่อนมีการรวมกลุ่มเข้าร้องขอความช่วยเหลือกับทาง กก.3 บก.ปอท. จนมีการสืบสวนตรวจสอบข้อเท็จจริง
พ.ต.อ.พิเชษฐ์ กล่าวว่า จากการสืบสวนพบว่ามีการทำกันเป็นขบวนการ อีกทั้งยังพบว่า ระบบของแอปฯ เหล่านี้ จะมีการโฆษณาเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงมีการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ มีการกำหนดการผ่อนชำระเงินกู้ในลักษณะที่เป็นการบิดเบือนและอำพราง เพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ แต่มนความเป็นจริงแล้วจะเป็นการคิดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
ผกก.3 บก.ปอท. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่ามีบัญชีธนาคารที่ถูกใช้ในการโอนเงินกู้ให้ผู้เสียหายจำนวน 6 บัญชี และมีบัญชีธนาคารที่ใช้รับโอนเงินคืนจากผู้เสียหาย จำนวน 6 บัญชี ซึ่งเงินในบัญชีเหล่านี้จะถูกโอนต่อไปยังบัญชีอื่นๆ อีกกว่า 100 บัญชี หลังจากนั้นจะมีการถ่ายโอนเงินไปให้กับผู้รับผลประโยชน์รายใหญ่ จำนวน 2 ราย คือ น.ส.ยุวธิดา กับ นายวีรยุทธ โดยเงินจะถูกหมุนเวียนในบัญชีธนาคารต่างๆ ภายใต้ชื่อเดียวกันกว่า 30 บัญชี และจะมีการโอนเงินไปยังบัญชีต่างๆ ของธนาคารในประเทศไทยกว่า 50 บัญชี โดยใช้ชื่อบัญชีเป็นชาวรัสเซีย, เมียนมา, จีน และไทย เป็นต้น ซึ่งจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินของขบวนการหลอกลวงให้กู้เงินออนไลน์ทั้งขบวนการนี้ พบว่ามียอดเงินหมุนเวียนกว่า 500 ล้านบาท จึงรวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลออกหมายจับ จนนำมาสู่การเปิดปฏิบัติการเข้าตรวจค้นจับกุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 รายดังกล่าว
พ.ต.อ.สัณห์เพ็ชร กล่าวว่า จากการสอบสวน ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธ แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่ปักใจเชื่อ เบื้องต้นจะนำตัวผู้ต้องหาทั้งหมด ส่งพนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอท. ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป
พ.ต.อ.ภาดล กล่าวว่า สำหรับแพลตฟอร์มแอปพลิเคชันเงินกู้ต่างๆเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นแอปสำเร็จรูป พัฒนาและสร้างขึ้นมาจากประเทศจีนในลักษณะของแอปเถื่อนผิดกฎหมาย นายทุนเหล่านี้จึงมักสั่งซื้อมาเพื่อนำมาเปิดใช้เป็นแพลตฟอร์มของตนเอง