ผอ.สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน แจงข้อมูลโครงการจัดซื้อเครื่องใหม่ 9.8 พันล้าน จับตาสภาพัฒน์ พิจารณาความคุ้มค่า กมธ.อว.เล็งเชิญ ดร.สาโรช-สศช.ก่อนนำเสนอ ครม.อีกรอบ
วันนี้ ( 13 พ.ย.) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กมธ.อว.) สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ( องค์การมหาชน ) และคณะทำงาน เข้าชี้แจงต่อ กมธ.อว. เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมากรณีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ( อว. ) จะเสนอโครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องใหม่ หรือ “แสงสยาม 2” งบประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท ให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ การชี้แจงครั้งนี้ทางกมธ.อว.ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาก
“การชี้แจงของ รศ.ดร.สาโรช ทำให้ทราบว่าเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องแรก หรือ แสงสยาม 1 ตั้งอยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา เป็นเครื่องที่ได้รับสนับสนุนเครื่องฯ จากประเทศญี่ปุ่น ขนาดระดับพลังงาน 1.2 พันล้านอิเล็กตรอนโวลต์ หรือ GeV ( Gigaelectron Volt ) ได้รับมาตั้งแต่ปี 2541 จนถึงวันนี้อายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี ส่วนเครื่องที่ 2 ขนาดระดับพลังงาน 3 GeV มีแผนจัดสร้างในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จังหวัดระยอง หรืออีอีซี (Economic Corridor Development) นายฐากรกล่าว
นายฐากร กล่าวว่า ทางสถาบันฯ ขออนุมัติจัดตั้งงบประมาณในการจัดสร้างทั้งระบบ 9,753 ล้านบาท โดยเสนอผ่านสำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ( สศช. ) พิจารณาเบื้องต้นว่าโครงการนี้ต้องใช้งบประมาณจากเงินกู้ และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น ( Japan International Cooperation Agency – JICA ) เสนอให้กู้ อย่างไรก็ตามขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอให้สภาพัฒน์พิจารณาในรายละเอียด ความคุ้มค่าของโครงการฯ ก่อนเสนอ ครม.พิจารณาอีกครั้ง
นายฐากร กล่าวด้วยว่า กมธ.อว.ได้ข้อมูลเบื้องต้น และมีความเห็นตรงกันว่าเมื่อโครงการนี้ผ่านการพิจารณาของสภาพัฒน์แล้ว มีข้อพิจารณาออกมาอย่างไร ทางกมธ.อว.จะเชิญสถาบันวิจัยแสงชินโครตรอนฯ และสภาพัฒน์ มาให้ข้อมูลอีกครั้ง ทั้งนี้เพื่อให้การลงทุนพัฒนาด้านวิจัย และนวัตกรรมของไทยเป็นไปอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวมมากที่สุด