xs
xsm
sm
md
lg

“บังคับคดี-กยศ.” ชวนลูกหนี้เข้าระบบ แก้ปัญหาปรับโครงสร้างหนี้ “ผู้ค้ำ” เฮหลุดพ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - ยธ. เดินหน้า Quick Win แก้ปัญหาหนี้ กยศ. เน้นบังคับคดีเชิงรุก พัฒนากลไกการบังคับใช้กฎหมายในคดีแพ่ง วอนลูกหนี้เข้าติดต่อบังคับคดี

วันนี้ (30 ต.ค.) เวลา 14.00 น. ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 2 อาคารกระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายเสกสรร สุขแสง ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมบังคับคดี และ ดร.ขจร ธนะแพสย์ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าว เรื่อง “กระทรวงยุติธรรม กับการแก้ไขปัญหาหนี้ กยศ.”

นายสมบูรณ์ กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรม ได้กำหนดโครงการ Quick Win ของแต่ละหน่วยงาน โดยกรมบังคับคดีดำเนินการในเรื่อง แก้ไขปัญหาหนี้สิน พัฒนากลไกการบังคับใช้กฎหมายในคดีแพ่ง ซึ่งการแก้ไขปัญหาหนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นหนึ่งในภารกิจที่ต้องเร่งดำเนินการ เนื่องจาก พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.66 และอาจให้ผ่อนผันการชำระหนี้ ระยะเวลา การลดหย่อนหนี้ การชำระคืน ตลอดจนการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ และมีผลต่อลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี หรือมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด หรืออยู่ในระหว่างการบังคับคดี ตามมาตรา 44 พ.ร.บ.กองทุนฯ (ฉบับที่ 2) โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวคณะกรรมการ กองทุนฯ ต้องออกหลักเกณฑ์กำหนด และอยู่ระหว่างดำเนินการของกองทุนฯ

นายสมบูรณ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน กรมบังคับคดี มีลูกหนี้กองทุนฯ ที่อยู่ระหว่างการบังคับคดี จำนวน 46,004 ราย ทุนทรัพย์ 6,633 ล้านบาท แบ่งเป็น คดียึดทรัพย์ 22,312 ราย ทุนทรัพย์ 3,156 ล้านบาท , คดีอายัด 23,692 ราย ทุนทรัพย์ 3,476 ล้านบาท ซึ่งประโยชน์จาก พ.ร.บ. กองทุนฯ (ฉบับที่ 2) จะคำนวณหักค่าชำระหนี้เงินต้นก่อน ในส่วนที่เหลือค่อยหักเป็นเบี้ยปรับที่ลดลงเหลือ 0.5 ต่อปี และดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี (ตาม พ.ร.บ.กองทุนฯ ฉบับเดิม คิดอัตราเบี้ยปรับ ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1 ต่อปี)

ด้าน นายเสกสรร เผยว่า กรมบังคับคดี ได้เร่งดำเนินการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ กองทุนฯ ตาม พ.ร.บ.กองทุนฯ (ฉบับที่ 2) และเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนี้ 1.คดีที่อยู่ระหว่างยึดทรัพย์ประกาศขายทอดตลาด ของดการขายทอดตลาดไว้ 2.คดีที่อายัดทรัพย์สิน ให้รอการทำบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายเงินไว้ก่อน ตรวจสอบและแจ้งยอดหนี้ 3.คดีที่มีการขายทอดตลาด หรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกันไปแล้วทั้งก่อนและหลัง วันที่ 20 มี.ค.66 กรมบังคับคดีได้ชะลอการจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายไว้ก่อน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับลูกหนี้ในเรื่องอัตราดอกเบี้ย และเบี้ยปรับตามที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา 4.การดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ระหว่างกองทุนฯ กับลูกหนี้ เมื่อได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้วจะมีผลให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากหนี้ และงดการบังคับคดีตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ และ 5.ในกรณีที่กองทุนฯ จำเป็นต้องบังคับคดีเนื่องจากจะพ้นระยะเวลาการบังคับคดี และลูกหนี้ยังไม่ได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับกองทุนฯ ก่อนการบังคับคดีกองทุนฯ ต้องแถลงภาระหนี้ตาม พ.ร.บ.กองทุนฯ (ฉบับที่ 2)

“นอกจากนี้ จากการหารือร่วมกับกองทุนฯ ซึ่งได้รับแจ้งว่า ภายในวันที่ 1 พ.ย.66 กองทุนฯ สามารถออกข้อบังคับ หลักเกณฑ์วิธีการ เงื่อนไขตาม พ.ร.บ.กองทุนฯ (ฉบับที่ 2) ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับลูกหนี้กองทุนฯเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา กรมบังคับคดี ได้ส่งหนังสือยังผู้กู้ตามที่อยู่ภูมิลำเนาแล้ว จำนวน 46,004 ราย แต่ติดต่อมาเพียง 109 ราย สาเหตุอ้างยังไม่เข้าใจถึงการปรับโครงสร้างหนี้”

ส่วนทาง ดร.ขจร ระบุว่า ปัญหาหนี้ กยศ. เกี่ยวข้องกับประชาชน 6.4 ล้านคน คือ ผู้กู้ 3.6 ล้านคน แบ่งเป็นอยู่ระหว่างผ่อนชำระหนี้และยังไม่ได้ฟ้อง 2.4 ล้านคน , พิพากษาแล้ว อยู่ระหว่างบังคับคดี 1.2 ล้านคน และผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านคน ถ้ามองย้อนกลับไปในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา หนี้ กยศ. เป็นหนี้ที่มีอัตราหนี้เสียสูงสุดมากกว่าช่วงยุคต้มยำกุ้ง โดยกลุ่มแรกที่จะเข้าไปคำนวณยอดหนี้ใหม่ งดบังคับคดี คือ กลุ่มจำนวน 46,004 ราย ส่วนผู้ที่ผิดนัดชำระหนี้แล้วนั้นจะพิจารณาในขั้นต่อไป

ดร.ขจร เผยอีกว่า ยกตัวอย่าง ที่ผ่านมา บางรายเคยเป็นผู้กู้หนี้ 2.6 แสนบาท จ่ายมาแล้ว 1.8 แสนบาท แต่นำไปตัดดอกเบี้ยและเบี้ยค่าปรับก่อน ทำให้ค้างเงินต้น 2.1 แสนบาท แต่ตามกฎหมายใหม่จะนำไปหักเงินต้นก่อน จากนั้นค่อยคำนวณยอดหนี้ใหม่อีกครั้ง

ทั้งนี้ สำหรับลูกหนี้ต้องยื่นหนังสือยินยอมให้งดการบังคับคดี เพื่อให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในช่องทางต่าง ๆ ดังนี้ website : led.go.th > banner กยศ , ติดต่อที่กรมบังคับคดี สายด่วน 1111 กด 79 หรือติดต่อสำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ หรือ หนังสือยินยอมให้งดการบังคับคดี ทาง e- mail ของสำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ



กำลังโหลดความคิดเห็น