xs
xsm
sm
md
lg

บัตรเข้าอุทยานสูญหายหรือจำหน่ายแต่ไม่ส่งเงิน ! หัวหน้าหน่วยต้องรับผิดเพียงใด ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความงามตามธรรมชาติของหาดทราย ท้องทะเล ภูเขา น้ำตก รวมไปถึง วัดวาอาราม ล้วนเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศจากทั่วทุกมุมโลกให้มาเยือนดินแดนแห่งรอยยิ้ม หรือสยามเมืองยิ้มแห่งนี้ …

ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า “อุทยานแห่งชาติ” ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสวยงามตามธรรมชาติ แถมยังราคาไม่สูงมากหากเทียบกับการพักผ่อนในสถานที่หรือในรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่แพงกว่า โดยอุทยานแห่งชาติจะเสียเพียงค่าธรรมเนียมเข้าชมหรือเข้าพักเท่านั้น ส่วนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ก็ขึ้นอยู่กับงบในกระเป๋าของแต่ละท่านนั่นเองครับ ...

เคยสงสัยกันไหมครับว่า ... อุทยานแห่งชาติก็มีงบประมาณของรัฐที่สนับสนุนอยู่แล้ว เหตุใดจึงต้องจ่าย “ค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติ” อีกเล่า เปิดให้เข้าชมฟรี ๆ ไม่ได้เหรอ ?

ความจริงแล้ว ... รัฐก็มีงบประมาณที่จัดสรรสำหรับการดูแลรักษาอุทยานแห่งชาติต่าง ๆอยู่แล้วตามที่ว่ามาครับ แต่ด้วยจำนวนของอุทยานที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสถานที่ ค่าแรงเจ้าหน้าที่ ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ หากอาศัยเงินจากงบประมาณเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ การเก็บค่าธรรมเนียมจึงเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนอุทยานฯ ในการบริหารจัดการและเป็นการช่วยรักษาผืนป่าหรือธรรมชาติ อันเป็นสมบัติของชาติไว้ให้ลูกหลานได้เที่ยวชมต่อไปด้วยครับ ...

สำหรับคดีปกครองที่น่าสนใจวันนี้... เป็นเรื่องเกี่ยวกับบัตรค่าธรรมเนียมหรือบัตรเข้าชมอุทยานแห่งชาติแห่งหนึ่งที่เกิดปัญหาสูญหายไปถึง 30 เล่ม หากคิดเป็นเงินในกรณีจำหน่ายบัตรฯ ทั้งหมดก็คือ 6 แสนบาท จนเป็นที่สงสัยว่าอาจจะมีการจำหน่ายบัตรฯ ไปแล้ว แต่ไม่มีการนำส่งเงินรายได้หรือไม่ ! เช่นนี้ ... หัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแห่งนั้น จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในกรณีดังกล่าวหรือไม่ ? เพียงใด ? ไปดูกันเลยครับ ...

เหตุเดือดร้อนของผู้ฟ้องคดีเกิดจาก ... ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่เกิดเหตุ ถูกตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด กรณีหน่วยตรวจสอบภายในตรวจพบว่า บัตรค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติหายไปจำนวน 30 เล่ม โดยผลการสอบข้อเท็จจริงเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ควบคุม กํากับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิด ทําให้บัตรค่าธรรมเนียมสูญหายโดยไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าหายไปเมื่อใด และสูญหายไปอย่างไร และยังเห็นว่าน่าจะเป็นการจำหน่ายบัตรฯ ไปแล้วโดยไม่ส่งเงิน เพราะบัตรฯเล่มอื่น ๆ ที่มาในคราวเดียวกัน (ทั้งหมด 50 เล่ม) ยังมีการจำหน่ายตามปกติโดยมิได้สูญหาย อันเป็นเหตุให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จึงรายงานผลการสอบไปยังกระทรวงการคลัง

ต่อมา กรมบัญชีกลางได้แจ้งว่า พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จึงให้รับผิดในอัตราร้อยละ 50 ของความเสียหายทั้งหมด คิดเป็นเงิน 300,000 บาท

กรมอุทยานแห่งชาติ ฯ ได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบ พร้อมทั้งแจ้งสิทธิในการโต้แย้ง ซึ่งผู้ฟ้องคดี
มีหนังสือชี้แจงหรือโต้แย้งแล้ว และต่อมาอธิบดีกรมอุทยานฯ ได้มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้เงินจำนวน 300,000 บาท

ผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว โดยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาแล้วให้ยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้ชดใช้เงิน โดยโต้แย้งว่า
ตนมีภารกิจงานมาก ในหน่วยมีเพียงข้าราชการคือตนเพียงคนเดียวที่เหลือเป็นลูกจ้าง และตนได้ดำเนินการ
ตามแนวทางปฏิบัติเดิมเหมือนที่ผ่านมา

คดีนี้ ... ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด

ประเด็นปัญหาที่ศาลพิจารณาคือ ... คำสั่งของอธิบดีกรมอุทยานฯ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ที่ให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 300,000 บาท และคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ? โดยต้องพิจารณาให้ได้ความว่าผู้ฟ้องคดีได้กระทำละเมิดต่อกรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ ?

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาว่า เมื่อหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ผู้ฟ้องคดีดูแลไม่ได้นําบัตรค่าธรรมเนียมที่รับมาจากอุทยานแห่งชาติฯ ไปลงทะเบียนรับและจ่ายบัตร ฯ ไว้เป็นหลักฐาน คงมีแต่การมอบหมายภายในว่ากรณีผู้ฟ้องคดีไม่อยู่หรือปฏิบัติหน้าที่อื่นนอกหน่วย ให้นางสาว ม. ซึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราวไปรับบัตรฯ รวมทั้งจำหน่ายบัตรฯ และนำส่งเงินเพียงผู้เดียว อันเป็นช่องที่ทำให้เกิดการทุจริตได้ง่าย อีกทั้งผู้ฟ้องคดีซึ่งทำหน้าที่หัวหน้าหน่วยงาน ตามวิสัยและพฤติการณ์ย่อมรู้ถึงความสำคัญของบัตรค่าธรรมเนียม จึงสมควรต้องวางมาตรการในการตรวจสอบ เก็บรักษาเงิน ตลอดจนนำส่งต้นขั้วบัตรค่าธรรมเนียมให้ถูกต้องการที่ไม่ควบคุมกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิด ทำให้บัตรค่าธรรมเนียมสูญหาย และเมื่อเกิดการสูญหายแล้วผู้ฟ้องคดีกลับไม่รายงานให้ผู้บังคับบัญชาของตนทราบ อันถือเป็นพฤติการณ์ที่ไม่เอาใจใส่ในการดูแลรักษาทรัพย์สินของทางราชการ และเป็นการกระทำที่ปราศจากความระมัดระวังเช่นวิญญูชนพึงมี จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงและต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประกอบกับมาตรา 8 วรรคหนึ่ง และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 โดยรับผิดร่วมกับนางสาว ม.ตามจำนวนความเสียหายทั้งหมด คือ 600,000 บาท

ในส่วนจำนวนความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีต้องเป็นผู้รับผิดนั้น ศาลเห็นว่า เมื่อในช่วงเวลาที่เกิดเหตุผู้ฟ้องคดีมีภารกิจที่ต้องปฏิบัติหลายหน้าที่ รวมถึงการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามทางทะเล การบริการ การท่องเที่ยวและหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้ควบคุมงานตามโครงการพัฒนาเกาะและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งถือเป็นงานในหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติเป็นลำดับแรก ประกอบกับหน่วยดังกล่าวมีผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการเพียงคนเดียว ดังนั้น มูลเหตุที่บัตรค่าธรรมเนียมสูญหายส่วนหนึ่ง จึงเกิดจากการขาดแคลนบุคลากร ทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องปฏิบัติงานหลายหน้าที่ส่งผลให้ไม่อาจใช้ความละเอียดรอบคอบในการควบคุมตรวจสอบการจำหน่ายบัตรและการนำส่งเงินพร้อมต้นขั้วบัตรค่าธรรมเนียมได้เท่าที่ควร อันถือเป็นความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยงานหรือระบบการดำเนินงานส่วนรวมของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ด้วยส่วนหนึ่ง

ศาลจึงเห็นควรหักส่วนความบกพร่องของกรมอุทยานแห่งชาติฯ หรือระบบการดำเนินงานส่วนรวมออกร้อยละ 25 ของความเสียหายทั้งหมด คงเหลือค่าเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีและนางสาว ม. ต้องร่วมกันชดใช้เป็นเงิน 450,000 บาท โดยเห็นควรให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ร้อยละ 50 ของค่าเสียหายดังกล่าว คิดเป็นเงิน 225,000 บาท ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเป็นให้เพิกถอนคำสั่งพิพาทเฉพาะในส่วนที่ให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่า 225,000 บาท (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 223/2566)

คดีนี้ ... ศาลท่านได้วินิจฉัยให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับพฤติการณ์ของผู้บังคับบัญชาที่ถือว่าประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง กรณีไม่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิด ทำให้บัตรค่าธรรมเนียมสูญหาย และเมื่อทราบเรื่องแล้วไม่รายงานต่อผู้บังคับบัญชาของตน อันเป็นพฤติการณ์ที่ไม่เอาใจใส่ดูแลรักษาทรัพย์สินของทางราชการ ถือเป็นกระทำละเมิดที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยมีเหตุที่ควรหักส่วนความรับผิดในความบกพร่องของหน่วยงานออก เนื่องจากเหตุที่บัตรดังกล่าวสูญหายส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดแคลนบุคลากร ทำให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นข้าราชการเพียงคนเดียวต้องปฏิบัติงานหลายหน้าที่ ย่อมส่งผลต่อความละเอียดรอบคอบในการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชา

ประการสำคัญ ยังเป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการของผู้บังคับบัญชาที่ควรต้องกำหนดมาตรการต่าง ๆ ในการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับการเงิน เพื่อป้องกันมิให้เกิดช่องว่างให้มีการกระทำทุจริตหรือเกิดความเสียหายแก่หน่วยงานได้ครับ ...

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่ สายด่วนศาลปกครอง 1355)

โดยลุงถูกต้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น