xs
xsm
sm
md
lg

ค้นร้านจำหน่าย “แบลงก์กัน-บีบีกัน” ยึดของกลางเพียบ โพสต์ขายออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - ปคบ. ขอหมายค้นร้านอาวุธปืน “แบลงก์กัน-บีบีกัน” พื้นที่ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ยึดของกลางหลายรายการ โพสต์ขายในโซเชียล ตามคำสั่งสินค้าควบคุม หลังเกิดเหตุในห้างดัง

วันนี้ (12 ต.ค.) พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. พร้อม พ.ต.อ.ไกรวิศท์ แสนทวีสุข ผกก.1 บก.ปคบ., พ.ต.ท.ไพรัช พรมวงศ์, พ.ต.ท.เอก มหาสวัสดิ์ รอง ผกก.1 บก.ปคบ. สั่งการให้ พ.ต.ท.วิศรุต บางน้ำเค็ม สว.กก.1 บก.ปคบ. และเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการที่ 1 กก.1 บก.ปคบ. เข้าตรวจค้น บ้านเลขที่ 89/28 หมู่บ้านวินนารา 2 หมู่ 4 ต.ท่าล้อ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี สามารถยึดของกลางเป็น อาวุธปืน บีบี กัน จำนวน 40 กระบอก, อาวุธปืนแบลงค์กันจำนวน 3 กระบอก, กระสุนปืน บีบีกัน และแบลงก์กัน จำนวนหลายรายการ เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 66 ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลากฉบับที่ 32 (พ.ศ. 2554) เรื่องให้ปืนอัดลมเบาที่จำลองเลียนแบบอาวุธปืนจริงเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก

สืบเนื่องจากเมื่อต้นเดือน ต.ค. 2566 เกิดเหตุเด็กชาย อายุ 14 ปี ใช้ปืนแบลงก์กันดัดแปลง บุกยิงภายในห้างชื่อดัง มีผู้เสียชีวิต 2 ราย จึงให้สายลับร่วมกันสืบสวนการลักลอบขายอาวุธปืนแบลงก์กันทางช่องทางออนไลน์ พบว่า แอปพลิเคชันเฟซบุ๊กชื่อ อาฟู่ แบลงค์ มีการโพสต์โฆษณาสินค้าอาวุธปืนแบลงก์กันที่เลียนแบบอาวุธปืนจริง ซึ่งเป็นสินค้าควบคุมฉลาก และมีการเชิญชวนให้เข้าชมสินค้าในไลน์ โดยจัดส่งสินค้าทางไปรษณีย์และมีผู้สั่งซื้อเป็นจำนวนมาก รวมถึงไม่มีการตรวจสอบประวัติผู้ซื้อ จึงเป็นที่นิยมในกลุ่มที่นำปืนแบลงค์กันมาดัดแปลง เพื่อใช้กับกระสุนจริง ถือว่าเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490

ต่อมา เจ้าหน้าที่ทำการล่อซื้ออาวุธปืนแบลงก์กัน จากกลุ่มไลน์ดังกล่าว โดยมี นายอาทิตย์ (สงวนนามสกุล) หรือ อาฟู่ ขายให้ โดยตกลงซื้ออาวุธปืนแบลงก์กัน พร้อมลูกกระสุน ในราคา 5,800 บาท โดยชำระผ่านธนาคาร จึงทราบว่า อาวุธปืนแบลงก์กัน ถูกส่งมาจาก พื้นที่ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี และบุคคลที่มาส่งสินค้า คือ น.ส.ตั๊ก (สงวนนามสกุล) ซึ่งเป็นเจ้าของร้านปืน บีบีกัน ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี ก่อนดำเนินการขอหมายค้นต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเข้าตรวจค้นสถานที่ดังกล่าว พร้อมตรวจยึดของกลางทั้งหมด และนำส่งพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ปคบ. เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ การชื้อขายอาวุธปืนแบลงก์กัน และ บีบีกัน เข้าข่ายเป็นความผิด พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490, พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560




กำลังโหลดความคิดเห็น