ผบ.ตร. ฝากผลงานก่อนเกษียณ ตามนโยบายเข้าถึงประชาชน กำหนดตำแหน่ง สว.ทำหน้าที่ชุมชนสัมพันธ์ในสถานีตำรวจ 487 ตำแหน่งทั่วประเทศ เพื่อเชื่อมตำรวจกับชุมชน ขับเคลื่อนนโยบายป้องกันอาชญากรรม ยาเสพติด ภัยออนไลน์ การป้องกันลดอุบัติเหตุ สร้างภาพลักษณ์องค์กร เริ่มใช้วาระแต่งตั้งปี 66 นี้
วันนี้ (28 ก.ย.) พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามนโยบาย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. มุ่งเน้นการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ภัยออนไลน์ ยาเสพติด การป้องกันและลดอุบัติเหตุ จากการประเมินผลการปฏิบัติในห้วงที่ผ่านมาพบว่า ความสำเร็จส่วนหนึ่งเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเกิดจากการทำหน้าที่ของตำรวจในหน้างานชุมชนสัมพันธ์ ในการบูรณาการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน
ผบ.ตร. ได้เล็งเห็นความสำคัญกับการปฎิบัติงานด้านชุมชนสัมพันธ์ในสถานีตำรวจ จึงได้ลงนามอนุมัติหลักเกณฑ์และวิธีการประเมิน เพื่อแต่งตั้งข้าราชการตำรวจทำหน้าที่ชุมชนสัมพันธ์ให้กับสถานีตำรวจทั่วประเทศ ตามที่ อ.ก.ตร.บริหารทรัพยากรบุคคลเสนอ รวมทั้งสิ้น 1,938 ตำแหน่ง แบ่งเป็น สว.(ป้องกันปราบปราม) ทำหน้าที่ชุมชนสัมพันธ์ หรือ สวป.(ชส.) 487 ตำแหน่ง ในสถานีตำรวจขนาดใหญ่จำนวน 437 สถานี และสถานีตำรวจขนาดกลางในพื้นที่ตำรวจนครบาล อีก 50 สถานี และรอง สว.(ป้องกันปราบปราม) ทำหน้าที่ชุมชนสัมพันธ์ หรือ รอง สวป.(ชส.) 1,451 ตำแหน่ง สำหรับสถานีตำรวจขนาดกลางและเล็กในสังกัด ภ.1-9
โดยการกำหนดตำแหน่งข้าราชการตำรวจทำหน้าที่ชุมชนสัมพันธ์ในสถานีตำรวจเพื่อเป็นแม่งานหลักในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยใช้งานด้านชุมชนสัมพันธ์ ประสานงานชุมชน ทุกภาคส่วน เข้าไปร่วมแก้ไข นำข้อมูล มาให้สายงานที่รับผิดชอบไปดำเนินการเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด อาชญากรรมออนไลน์ ตลอดจนการป้องกันและลดอุบัติเหตุ รวมถึงโครงการสำคัญ เช่น ชุมชนยั่งยืน การประสานท้องถิ่นติดกล้องวงจรปิด เป็นต้น
สำหรับหลักเกณฑ์การแต่งตั้งบุคคลมาดำรงตำแหน่งชุมชนสัมพันธ์จะต้องพิจารณาบุคคลกากรที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์และผลการปฏิบัติด้านชุมชนสัมพันธ์ การแสวงหาความร่วมมือกับภาคประชาชน ชุมชน องค์กรต่างๆอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะตำแหน่ง สว.(ป้องกันปราบปราม) ทำหน้าที่ชุมชนสัมพันธ์ หรือ สวป.(ชส.) จำนวน 487 ตำแหน่ง ต้องมีการประเมินเพื่อแต่งตั้งบุคคลที่มีความรู้ความสามารถจริงๆ โดยประเมินจากคุณสมบัติบุคคล คุณลักษณะของบุคคล และมีผลการประเมินด้านชุมชนมวลชนสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วมของประชาชนตามโครงการที่สำคัญต่างๆ เช่น การปฏิบัติงานชุมชนสัมพันธ์ในสถานีตำรวจ การดำเนินการตามโครงการชุมชนยั่งยืน การทำหน้าที่ครูตำรวจแดร์ งานชุมชนสัมพันธ์อื่นๆ การแสวงหาความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ การประสานงานกับ กต.ตร. นอกจากนี้ ต้องมีผลการทดสอบความรู้ในงานมวลชนสัมพันธ์ผ่านเกณฑ์ตามที่ ตร.กำหนดด้วย
ทั้งนี้ จะมีคณะกรรมการประเมินการปฏิบัติงานชุมชนสัมพันธ์ 2 ส่วน คือ คณะกรรมการประเมินระดับสถานีตำรวจ และระดับกองบังคับการ ซึ่งหลักเกณฑ์การคัดเลือก ประเมินดังกล่าว จะนำมาใช้ในการแต่งตั้งบุคลากรเข้าสู่ตำแหน่งได้ในวาระการแต่งตั้งประจำปี 2566 นี้ เพื่อคัดเอาคนที่มีความรู้ความสามารถ เหมาะสมจริงๆ ซึ่งเชื่อว่าตำแหน่ง สว. ทำหน้าที่ชุมชนสัมพันธ์ นอกจากจะช่วยในมิติงานป้องกันปราบปราม งานยาเสพติด งานอาชญากรรมออนไลน์ และการป้องกันลดอุบัติเหตุแล้ว ยังจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไปด้วย