MGR Online - ดีเอสไอ บุกค้นสถานพยาบาล 3 แห่ง จับขบวนการลักลอบจัดหาหญิงไทยเพื่อรับจ้างตั้งครรภ์แทน (อุ้มบุญ) ก่อนส่งเด็กออกนอกประเทศให้ผู้ว่าจ้าง
วันนี้ (1 ก.ย.) เวลา 11.00 น. ที่ห้องแถลงข่าว ชั้น 2 อาคารเอ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายอัษฎาวุธ ศรีปิตา ผู้ช่วยโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และ ร.ต.อ.ทินวุฒิ สีละพัฒน์ ผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ แถลงความคืบหน้าในการดำเนินคดีพิเศษที่ 236/2565 กรณี ขบวนการลักลอบจัดหาหญิงไทยเพื่อรับจ้างตั้งครรภ์แทน (อุ้มบุญ) ให้กับผู้ว่าจ้างชาวต่างประเทศที่มีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติในจังหวัดหนองคาย กรณี เด็กชายแทนไท (นามสมมติ)
ร.ต.อ.ทินวุฒิ กล่าวว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับแจ้วเบาะแสจาก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ว่า มีขบวนการรับจ้างแม่อุ้มบุญผิดกฎหมายที่ จ.หนองคาย จึงประสานตำรวจท้องที่เข้าช่วยเหลือทารก 9 เดือน จำนวน 2 ราย พร้อมรวบรวมพยานหลักฐานอนุมัติเป็นคดีพิเศษ ต่อมาได้เข้าตรวจค้นสถานพยาบาล 3 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา ตามหมายค้นศาลอาญาที่ 995-997/2566 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ได้แก่ 1. สถานพยาบาลย่านถนนงามวงศ์วาน เขตจตุจักร ซึ่งพบว่ามีนายแพทย์ผู้ให้บริการเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์มีส่วนเกี่ยวข้อง และเป็นแพทย์ประจำศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากในสถานพยาบาลดังกล่าว โดยได้ทำการตรวจร่างกายก่อนตั้งครรภ์และรับฝากครรภ์และเป็นสถานที่คลอดบุตรแก่หญิงอุ้มบุญผิดกฎหมาย ในช่วงระหว่างปี 2561-2563 ผลการตรวจค้นพบประวัติ หญิงอุ้มบุญผิดกฎหมายจำนวนหลายราย
ร.ต.อ.ทินวุฒิ กล่าวอีกว่า 2. สถานพยาบาลย่านถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ พบมีแพทย์ผู้ให้บริการเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องในคดีนี้เข้าไปทำงานพาร์ตไทม์ (Part time) ในสถานพยาบาลดังกล่าว ผลการตรวจค้นพบเอกสารข้อมูลไข่และตัวอ่อนในการดูแลของแพทย์ผู้ให้บริการในคดี และ 3. สถานพยาบาลย่านถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบความเชื่อมโยงกับนายแพทย์ที่เกี่ยวข้องในคดี และมีหญิงอุ้มบุญมาตรวจร่างกายก่อนมีการไปฉีดตัวอ่อนที่ประเทศกัมพูชา ผลการตรวจค้นพบหนังสือเดินทางของหญิงอุ้มบุญและเด็กที่ถูกอุ้มบุญ และสถานบริการแห่งนี้ยังไม่ได้รับอนุญาตรับรองมาตรฐานให้บริการด้านเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ทั้งนี้ แพทย์ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการดังกล่าวอยู่ระหว่างสืบสวนสอบสวนว่าจะมีส่วนรู้เห็นด้วยหรือไม่
ร.ต.อ.ทินวุฒิ เผยอีกว่า ต่อมา ในวันที่ 28 ส.ค. 66 มีการขยายผลจับกุม นายสุเนตร จอมศรี อายุ 60 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญาที่ 2643/2566 ในข้อหา “มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและร่วมกันดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า” และได้ทำการตรวจค้นบ้านพักของผู้ต้องหา ในพื้นที่ จ.หนองคาย โดยอาศัยอำนาจตามหมายค้นศาลจังหวัดหนองคาย ที่ ค.106/2566 พบบัญชีรายชื่อหญิงที่รับจ้างอุ้มบุญผิดกฎหมายและบัญชีรายได้จากการเป็นนายหน้าจัดหาหญิงมาทำหน้าที่อุ้มบุญ ซึ่งนายสุเนตร เป็นหนึ่งในขบวนการจ้างอุ้มบุญข้ามชาติที่มีหน้าที่จัดหาหญิงชาวไทยมารับจ้างอุ้มบุญให้ชาวต่างชาติ จนมีทรัพย์สินเป็นที่ดินกว่า 100 ไร่
“สำหรับขั้นตอนการว่าจ้างอุ้มบุญ จุดเริ่มต้นจากผู้ว่าจ้างเป็นชาวต่างชาติ ประสบภาวะมีบุตรยาก จึงติดต่อนายหน้าทั้งประเทศต้นทางและประเทศไทย จัดหาหญิงสาวที่มีสุขภาพแข็งแรงในวัยเจริญพันธุ์ พร้อมประสานบุคลากรทางการแพทย์ สถานพยาบาล จากนั้น จะพาหญิงสาวอุ้มบุญบินไปประเทศกัมพูชาเพื่อฉีดตัวอ่อนอสุจิเข้าผนังมดลูก ดูอาการประมาณ 7 วัน ถ้าไม่มีปัญหาจะบินกลับไทย ฝากครรภ์กลับสถานพยาบาลและมีแพทย์คอยดูแลตามขั้นตอน เมื่อกำหนดคลอดให้เด็กอยู่ไทยจนแข็งแรง และจะพาเด็กออกไปประเทศปลายทางของผู้ว่าจ้าง ซึ่งเด็กส่วนใหญ่จะพบอยู่ภาคอีสานและกรุงเทพฯ โดยช่วงสถานการณ์โควิดระบาด ทำให้เด็กอุ้มบุญไม่สามารถเดินทางได้ จึงมีการจับกุมเกิดขึ้น ปัจจุบันพบว่า มีผู้ว่าจ้างอุ้มบุญ กว่า 10 ประเทศ นอกเหนือจากประเทศจีน”
ร.ต.อ.ทินวุฒิ เผยต่อว่า ส่วนค่าจ้างเฉพาะแม่อุ้มบุญ ปนะมาณ 5 แสนบาทต่อเด็กหนึ่งคน แต่ถ้ารวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด ตั้งแต่บุคลากรทางการแพทย์ นายหน้า และอื่นๆ คาดว่า ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท ต่อเด็กหนึ่งคน ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ว่าจ้าง อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น ได้ออกหมายจับผู้ต้องหา 10 ราย แบ่งเป็น นายหน้า 3 ราย จับกุมได้แล้ว 1 ราย คือ นายสุเนตร ส่วน 2 รายหลบหนีอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน นางนริศรา กับ นายพิเชษฐ์ และเป็นหญิงแม่อุ้มบุญ อีก 7 ราย ขณะนี้ทยอยเรียกมาแจ้งข้อกล่าวหา นอกจากนี้ กำลังขยายผลสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับขบวนการทำพาสปอร์ตผิดกฎหมายเพราะเกี่ยวข้องกับสูติบัตรและทะเบียนราษฎร
ทั้งนี้ การอุ้มบุญสามารถทำได้หากได้รับการอนุญาตตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งมีเงื่อนไขเพื่อคนที่มีบุตรยากตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 แต่ห้ามไม่ให้ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า หากฝ่าฝืน ทั้งตัวคนสั่งจ้าง นายหน้า นายแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ หญิงอุ้มบุญและผู้เกี่ยวข้องในขบวนการ ย่อมมีความผิดทางอาญาและต้องรับผิดตามกฎหมาย
ปัญหาการอุ้มบุญผิดกฎหมายก่อให้เกิดปัญหาสังคมหลายอย่างตามมา ทั้งการเป็นตลาดการค้ามนุษย์ ซึ่งปลายทางของเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญ อาจถูกนำไปค้าอวัยวะ ค้าประเวณี หรืออุตสาหกรรมทางเพศ ในหลายกรณีที่เด็กเกิดมามีความบกพร่องทางร่างกาย ก็จะถูกทอดทิ้ง อย่างไร้มนุษยธรรม ล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำที่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง กรมสอบสวนคดีพิเศษมุ่งมั่นกระทำการตามกรอบอำนาจหน้าที่เพื่อต่อต้านขบวนการอุ้มบุญที่ผิดกฎหมายและดำเนินการกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิดอย่างเด็ดขาด