xs
xsm
sm
md
lg

“รองปลัด ยธ.” ยังไม่ได้รับรายงานเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษจาก “ทักษิณ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - “สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์” รองปลัด ยธ. ระบุ “ทักษิณ” ยังไม่ได้ทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษมายัง ก.ยุติธรรม ส่วนเอกสารต้องแนบประกอบให้ครบ

วันนี้ (29 ส.ค.) นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยความคืบหน้ากรณีส่งตัว นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ต้องขังในเรือนจำฯ เข้ารักษาโรงพยาบาลตำรวจ โดยเริ่มให้มีการเข้าเยี่ยมญาติ เมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังครบกักตัว 5 วัน ว่า สำหรับขั้นตอนการเยี่ยมญาติจะทยอยเข้าเยี่ยมตามลำดับการลงทะเบียนถือเป็นสิทธิของผู้ต้องขัง โดยต้องมีการระบุวันที่และลงเวลาการเข้าเยี่ยมเพื่อเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบว่าวันที่เวลาดังกล่าวตรงกับของบุคคลอื่นหรือไม่ ซึ่งยึดตามเวลาการเปิดทำการของโรงพยาบาลตำรวจ และให้สอดคล้องไปกับระเบียบของกรมราชทัณฑ์ คือ ตั้งแต่เวลา 10.00-16.00 น. รวมทั้งห้ามผู้ได้รับการอนุญาตเข้าเยี่ยมนำเครื่องมือสื่อสารหรืออุปกรณ์โทรศัพท์มือถือเข้าไปภายในห้องผู้ป่วยเด็ดขาด เพื่อป้องกันการบันทึกภาพและเสียง และต้องสวมหน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด

นายสหการณ์ เผยว่า ส่วนการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษของนายทักษิณ ตนยังไม่ได้รับรายงานการสอบถามเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว แต่ถ้ามีความประสงค์จะยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ทางครอบครัวโดยสายเลือดหรือผู้ต้องขังเองจะติดต่อยังเรือนจำ ส่วนเอกสารที่จะต้องใช้ประกอบการยื่นฎีกา ยกตัวอย่างเช่น เอกสารคำพิพากษาของศาลเกี่ยวกับรายคดีของเจ้าตัว เอกสารรายงานคุณงามความดี ข้อมูลประวัติการรักษาอาการเจ็บป่วย และหลักฐานอื่นๆส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องขัง รวมถึงผู้ต้องขังที่ประสงค์ยื่นขอทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา จะต้องมีการกรอกข้อมูลตามแบบคำร้องบังคับของทางเรือนจำฯ ซึ่งจะมีรูปแบบตัวคำร้องนี้อยู่ อีกทั้งจะต้องมีการเขียนพรรณนาถึงสาเหตุการทูลเกล้าฯถวายฎีกาในครั้งนี้ให้ครบถ้วน

นายสหการณ์ เผยอีกว่า การยื่นขอพระราชทานอภัยโทษของผู้ต้องขัง หากรายใดดำเนินการเรื่องเอกสารเสร็จสิ้นก่อนก็ยื่นให้กับทางเจ้าพนักงานเรือนจำได้ทันที เนื่องจากทางกรมราชทัณฑ์ไม่ได้มีการกำหนดถึงการยื่นฎีกาว่าจะต้องมีการรวบรวมรายละเอียด เอกสารของผู้ต้องขังเป็นกลุ่มแต่อย่างใด แต่ว่าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็ต้องดำเนินการต่อเนื่องเป็นไปตามขั้นตอนปกติ ส่วนเรื่องของผลฎีกาภายหลังมีการยื่นทูลเกล้าฯ จะเป็นในส่วนของพระราชอำนาจ ที่จะทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยแจ้งมายังเรือนจำ ราชทัณฑ์ ซึ่งถ้าผลปรากฏว่ายกฎีกา ตามขั้นตอนของกฎหมายก็ได้มีการกำหนดไว้ว่าจะต้องรออีก 2 ปี เพื่อดำเนินการยื่นขอทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาใหม่อีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น