xs
xsm
sm
md
lg

โศรยา ฤทธิอร่าม ผอ.ทัณฑสถานหญิงกลาง “นารีหลังม่านเหล็ก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



              “สมัยก่อนข้าราชการผู้หญิงมีโอกาสเติบโตเป็นผู้นำหน่วยค่อนข้างยากเพราะถูกจำกัดด้านเพศ แต่เราเป็นคนตั้งใจทำงาน กระทั่งเมื่อสังคมเปิดกว้างและให้ความเสมอภาคเท่าเทียมทั้งเพศหญิงชายก็ได้รับมอบหมายงานสำคัญ พร้อมปฏิบัติงานจนเป็นที่ยอมรับว่าสามารถทำหน้าที่ได้เช่นกัน”

              น.ส.โศรยา ฤทธิอร่าม ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลาง บอกเล่านิสัยในการทำงานเป็นคนค่อนข้างเจ้าระเบียบ รักษาความสะอาดสะอ้าน เข้มงวดกวดขันจนบางครั้งผู้ใต้บังคับบัญชาอาจรู้สึกกลัว นั่นเป็นเพราะต้องรับผิดชอบหากเกิดความเสียหายขึ้นมาต่อองค์กร มองว่าแต่ละคนมีรูปแบบการบริหารจัดการภาพรวมแตกต่างกันไป

นำองค์กรสิทธิต่างๆ ตรวจเยี่ยมเรือนจำดูมาตรฐานโภชนาการ
              ดั้งเดิมครอบครัวเป็นชาว จ.ปราจีนบุรี ทำอาชีพค้าขาย ก่อนย้ายมาเรียนกรุงเทพฯ ตั้งแต่เด็กและตามประสาความฝันอยากทำงานที่ได้เดินทางบ่อยๆ คิดว่าการรับราชการคงเหมาะสมกับเรา เมื่อศึกษาจบปริญญาโท คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ปี 2531 ก็สมัครสอบบรรจุได้ทันทีในปีถัดมา เจ้าพนักงาน กรมการปกครอง ระดับ 3 ถูกส่งมาในพื้นที่ อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น ฝ่ายกองทะเบียนราษฎร ส่วนตัวชอบชีวิตในต่างจังหวัดเพราะสงบร่มรื่น อากาศบริสุทธิ์ ไม่วุ่นวาย รถไม่ติด ใกล้ชิดชาวบ้านชุมชน แต่มองถึงความก้าวหน้า ณ ขณะนั้นที่ยังไม่มีนโยบายให้ผู้หญิงเป็นปลัดอำเภอ จึงอยากลองเปลี่ยนสายงานตามคำแนะนำคนรู้จัก

              ปี 2534 ขอโอนย้ายมา “กรมราชทัณฑ์” ตอนแรกยังบอกกับตัวเองคิดถูกหรือคิดผิดที่ย้ายแห่งนี้ นึกว่าจะเป็นนักวิชาการ ซึ่งความจริงไม่ใช่เลยแต่เมื่อเลือกทางเดินแล้วก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดและมาอยู่กรมราชทัณฑ์ ส่วนกลาง ตั้งบริเวณริมคลองหลอด สังกัดกระทรวงมหาดไทย (ปี 2545 ออกมาสร้างกรมราชทัณฑ์แห่งใหม่ที่ จ.นนทบุรี เปลี่ยนมาอยู่กระทรวงยุติธรรม) ตำแหน่งนักทัณฑวิทยา รับผิดชอบงานเอกสาร เรื่องการอภัยโทษที่เรือนจำต่างๆ ส่งมาเพื่อกลั่นกรองและรายงานตามขั้นตอน

ห้องอ่านหนังสือสำหรับผู้ต้องขัง
              ผอ.คุกหญิงกลาง เล่าว่า ช่วงปี 2536 ย้ายมาเรือนจำกลางจังหวัดฉะเชิงเทรา เริ่มเข้าไปข้างในแดนสนธยาบ้างตามผู้บังคับบัญชาตรวจเยี่ยม โดยในฐานะผู้หญิงก็ต้องระมัดระวังความปลอดภัยเป็นหลัก จากนั้นอีกหนึ่งปี มาอยู่ทัณฑสถานหญิงชลบุรี (ผู้ต้องขังหญิงล้วน) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายปกครอง ดูแลความเรียบร้อยทั้งหมด

              ระยะหลังประเทศไทยเริ่มเปิดโอกาสความก้าวหน้าให้เพศหญิงขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูงก็ได้รับโอกาสนั่ง
ผอ.สถานกักขังกลางจังหวัดตราด ช่วง ธ.ค.2551 – ก.พ.2553 แม้อาจเป็นสถานที่เล็กๆ แต่มีบทบาทแสดงความสามารถมากขึ้น สำหรับสถานกักขังลักษณะคล้ายกับการควบคุมตัวในเรือนจำ (โทษทางอาญา5 แบบ1.จำคุก2.กักขัง3.ปรับ4.ยึดทรัพย์5.ประหาร) ต่างกันตรงเมื่อตรวจประวัติการทำงานจะไม่พบว่าบุคคลนั้นเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนและเป็นโทษเบากว่า ส่วนใหญ่เป็นคดีเล็กๆ เช่น ลักทรัพย์ เมาขับ ละเมิดลิขสิทธิ์ ฯลฯ เป็นการกักขังแทนถ้าไม่มีเงินเสียค่าปรับ

สอนการฝึกอาชีพพัฒนาตัวเองหลังพ้นโทษ
              ชีวิตรับราชการก็เหมือนการเดินทางและการโยกย้ายก็เป็นเรื่องปกติ พร้อมภาระหน้าที่ต้องใหญ่ขึ้น ทั้ง เป็น ผบ.เรือนจำอำเภอกบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี , ผบ.เรือนจำจังหวัดนครนายก ผอ.ทัณฑสถานวัยหนุ่มพระนครศรีอยุธยา เรือนจำนี้เป็นเด็กชายวัยรุ่นจากหลายๆ ที่มารวมกันเป็นกลุ่มของตัวเองมักมีเหตุตีกันบ่อยแต่เจ้าหน้าที่มีวิธีการควบคุมอยู่ และก็อบรมให้การเรียนการสอนไปด้วย , ผบ.เรือนจำจังหวัดพิษณุโลก , ผบ.เรือนจำกลางกำแพงเพชร , ผบ.เรือนจำกลางนครสวรรค์

ให้สัมภาษณ์ นำผลิตภัณฑ์ฝีมือผู้ต้องขังมาจัดจำหน่าย
              กระทั่ง ปี 2563 ถึงปัจจุบัน มาอยู่ ทัณฑสถานหญิงกลาง และจะเกษียณราชการในปี 2566 เป็นเรือนจำหญิงมีจำนวนกว่า 3,700 คน ส่วนคนท้องจะมีพื้นที่จัดสรรแบ่งชัดเจน ดูแลการรักษาพยาบาล เมื่อถึงช่วงใกล้คลอดจะส่งไปโรงพยาบาลใกล้เคียงเพราะต้องทำประวัติเด็ก ระบุสถานที่คลอดเป็นโรงพยาบาล และเด็กจะมาอยู่กับแม่จนหย่านมและรีบเอาออกไปอยู่กับญาติ หรือถ้าไม่มีญาติก็ส่งหน่วยงานรัฐรับเลี้ยงเด็กหรือสถานที่รับเลี้ยงเด็กตามกระบวนการ นอกจากนี้มี โครงการราชทัณฑ์ปันสุข โครงการกำลังใจ ฝึกอาชีพผู้ต้องขังเพื่อพ้นโทษไปแล้วไม่หวนกลับมากระทำผิดซ้ำอีก

              นโยบายจากที่ผ่านมา เป็นคนชอบทำอาคารสถานที่หรือเรือนจำให้สะอาด ดูแลเรื่องสวัสดิการผู้ต้องขัง เพราะงานเรือนจำเกินครึ่งเป็นงานแม่บ้าน มีความต้องการปัจจัยพื้นฐานทั้งผู้ชายและผู้หญิง เช่น ข้าวปลาอาหาร ที่หลับที่นอน ห้องน้ำถูกสุขลักษณะ ยารักษาโรค รวมถึง ปรับปรุงสถานที่ห้องพักเวร ห้องรับประทานอาหารของเจ้าหน้าที่ด้วย ส่วนตัวชอบจะเน้นใช้โทนสีเทา-ขาว เป็นสีสุภาพ ในการทาปรับปรุงสถานที่และเคยได้รางวัลเรือนจำสะอาด สมัยอยู่ที่เรือนจำจังหวัดพิษณุโลกและเรือนจำกลางกำแพงเพชร

เปิดโครงการ เรือนจำต้นแบบ โคก หนอง นา โมเดล
              “ชีวิตรับราชการหลังกำแพงสูงถือว่าพอใจกับการทำงานของตัวเอง หลังเกษียณคงถึงเวลาต้องพักผ่อน ส่งไม้ต่อให้บุคลากรคนใหม่รับช่วงสานเจตนารมณ์งานราชทัณฑ์ต่อไป”

"จิบชาตราชั่ง"


กำลังโหลดความคิดเห็น