xs
xsm
sm
md
lg

“กรมคุก” แจงรับตัว “ทักษิณ ชินวัตร” ทำประวัติ-จำแนกผู้ต้องขังสูงอายุ หากกลับไทย 10 ส.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - “อธิบดีกรมราชทัณฑ์” เผยกรณี “ทักษิณ ชินวัตร” เดินทางกลับไทย 10 ส.ค.นี้ ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทำประวัติผู้ต้องขัง ตรวจโรค แยกเกณ์ผู้สูงอายุ ตามขั้นตอนปกติ

จากกรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ “อุ๊งอิ๊ง” โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ชื่อ "Ing Shinawatra" พร้อมระบุข้อความถึง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และในฐานะบิดา สรุปใจความว่า “เนื่องในวันเกิดว่า 26 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันสำคัญของลูกเสมอ แต่ปีนี้ลูกยังไม่อยากเชื่อตัวเอง ในสิ่งที่ลูกกำลังจะพิมพ์ พ่อจะกลับมาแล้ว วันที่ 10 สิงหาคมนี้ ที่สนามบินดอนเมือง” จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อโซเชียลมีเดีย เนื่องจาก นายทักษิณ จะกลับประเทศไทยต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ยอมรับโทษจำคุกตามศาลฎีกาพิพากษาเพราะเหลือโทษยังไม่หมดอายุความ 3 คดี รวม 10 ปี

วันนี้ (26 ก.ค.) นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยกรณีดังกล่าว ว่า เบื้องต้นเมื่อเดินทางกลับเข้าประเทศไทย ขั้นตอนแรกจะเป็นในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ที่จะรับตัวและทำบันทึกการจับกุมต่างๆ ตามขั้นตอน ในส่วนของกรมราชทัณฑ์ต้องรอดูว่าจะมีคำสั่งหรือหมายศาลคดีใดแจ้งมายังกรมราชทัณฑ์เพื่อเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะได้เดินทางไปยังเขตพื้นที่ของศาลนั้นๆ จากนั้นเมื่อ นายทักษิณ เข้าสู่ขั้นตอนของศาลเสร็จสิ้น หากเป็นคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะควบคุมตัวคุณทักษิณมายังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แต่ ณ ขณะนี้ทางราชทัณฑ์ยังไม่ได้รับหมายศาลใดๆ

นายอายุตม์ เผยอีกว่า สำหรับกระบวนการจำแนกคัดกรองผู้ต้องขัง แม้จะเป็นกรณีของนายทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี ราชทัณฑ์ก็ดำเนินการตามขั้นตอนทั่วไป เป็นไปตามระเบียบการจำแนกลักษณะผู้ต้องขัง โดยจะมีการตรวจสอบประวัติ ทำทะเบียนประวัติ อย่างไรก็ตาม นายทักษิณถือเป็นผู้ต้องขังสูงอายุ หากเจ้าตัวมีโรคประจำตัวที่จะต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง ทางราชทัณฑ์จะมีแพทย์ประจำเรือนจำฯ ที่จะเป็นผู้ใช้ดุลพินิจในการจำแนกผู้ต้องขัง โดยจะนำตัวไปยังห้องกักโรคของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ทำการกักโรคเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ประมาณ 10 วัน ถัดไปจึงเข้าสู่กระบวนการรักษาโรค ย้ายไปยังหอผู้ป่วย คล้ายกรณีของนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ ส่วนกรอบระยะเวลาของการรักษาโรคไม่ได้มีกำหนดไว้ จะเป็นในส่วนของแพทย์ประจำเรือนจำที่จะเป็นผู้ประเมินอาการของผู้ต้องขัง
กำลังโหลดความคิดเห็น