"อัยการธนกฤต"ชี้ปมผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มติสภาโหวตเลือกนายกฯ ศาลสั่งยุติได้ไม่เกิน 60 วัน
วันนี้ (25 ก.ค.) ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด และอาจารย์ผู้บรรยายวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความและกฎหมายพยานหลักฐาน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,ม.รามคำแหง,สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)และม.แม่ฟ้าหลวง ให้ความเห็นทางกฎหมายว่า ประเด็นในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และเหตุตามกฎหมายในการสั่งยุติการเลือกนายกรัฐมนตรี
ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย โดยผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า การกระทำของรัฐสภาที่ลงมติวินิจฉัยว่า การเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นญัตติ ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 นั้น เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ร้องเรียน ซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภาและประชาชน และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุติการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในเรื่องนี้ ตามคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินดังกล่าว น่าจะมีประเด็นต่าง ๆ ที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาและวินิจฉัย ดังนี้
1. การกระทำของรัฐสภาในการลงมติดังกล่าว ต้องไม่ใช่กรณีที่ต้องห้ามใช้สิทธิยื่นคำร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 47
2. คำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินดังกล่าว เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัยหรือไม่ ตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 46 วรรค 3
3. ผู้ร้องเรียนเป็นผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองหรือไม่
4. การกระทำของรัฐสภาในการลงมติดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และเป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องเรียนที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง หรือไม่
5. มีเหตุที่จะต้องกำหนดมาตรการชั่วคราวก่อนมีคำวินิจฉัย ด้วยการมีคำสั่งให้รัฐสภายุติการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย หรือไม่
ซึ่งในการพิจารณาว่ามีเหตุที่จะต้องกำหนดมาตรการชั่วคราวดังกล่าวก่อนมีคำวินิจฉัยหรือไม่ ตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 71 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาดังนี้
1. มีเหตุที่จะต้องป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง หรือเพื่อป้องกันความรุนแรงอันใกล้จะถึง หรือไม่ และ
2. คําร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินมีเหตุอันมีน้ำหนักที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้เป็นไปตามคําร้อง หรือไม่
นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่า หากศาลรัฐธรรมนูญสั่งกำหนดมาตรการชั่วคราว มาตรการนี้จะมีผลใช้บังคับได้เพียงไม่เกิน 60 วัน นับจากวันที่ศาลกำหนดมาตรการชั่วคราวเท่านั้น