“นารี” อสส.ติวเข้มอัยการ พร้อมปฏิบัติตามกฎหมายอุ้มหายฯ “กุลธนิต” อธ.อัยการสอบสวน ระบุ คดีรีด 140 ล้าน อสส.เป็นคนมีอำนาจ ชี้ ขาดปมพนักงานสอบสวน ใครเป็นผู้รับผิดชอบคดี
วันนี้ (3 ก.ค.) ที่โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก น.ส. นารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด เป็นประธานพิธีเปิดโครงการฝึกอบรม “หลักสูตรการฝึกอบรมการปฏิบัติภารกิจตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย”
โดยมี นายโชคชัย ทิฐิกัจจธรรม อธิบดีอัยการ สำนักงานวิชาการ กล่าวรายงาน โดยมี นายอิทธิพร แก้วทิพย์ รองอัยการสูงสุด, นายโกวิท ศรีไพโรจน์ อธิบดีอัยการ สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการ, นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน, นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการการสอบสวน เเละคณะอัยการสำนักงานการสอบสวน เข้ามาร่วมเป็นวิทยากรหลักสูตร
ซึ่งการอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมการปฏิบัติภารกิจตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย จะมีการอบรมทั้งสิ้น 4 วัน ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมจะเป็นระดับผู้บริหารจากอัยการทั่วประเทศ อาทิเช่น อธิบดีอัยการภาค 1-9 หรือระดับอัยการพิเศษฝ่าย และอัยการจังหวัดทั่วประเทศที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องและต้องปฏิบัติเข้ารับการอบรม
ภายหลังพิธิเปิดโครงการ นายอิทธิพร รองอัยการสูงสุด ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ เป็นกฎหมายใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทางสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งมีภารกิจตามกฏหมายฉบับนี้ก็เลยได้จัดสัมมนาพนักงานอัยการและเจ้าหน้าที่ทั่วประเทศเพื่อวางแนวทางการปฏิบัติในการปฎิบัติหน้าที่ตามกฎหมายนี้ให้มีแนวทางปฏิบัติชัดเจนและสามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างเต็มที่ โดยแนวทางที่เราจะกำหนดในการปฎิบัติตามกฏหมายฉบับนี้ก็คือ นอกจากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ในเรื่องของการควบคุม ด้วยผู้ถูกควบคุมแล้ว เราอยากจะเปิดโอกาสและกำหนดช่องทางในการรับแจ้งจากประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้พนักงานอัยการสามารถลงไปคุ้มครองการจับกุมบุคคลและควบคุมตัวบุคคลไม่ให้ถูกกระทำซ้อมทรมานหรือไม่ให้เกิดการอุ้มหายเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและก็เต็มที่ ป้องกันไม่ให้ประชาชนทุกคนได้รับความเดือดร้อนซึ่งเรื่องนี้ น.ส.นารี อัยการสูงสุดเองได้กำหนดให้เป็นนโยบายอย่างชัดเจนแล้วว่าพนักงานอัยการจะต้องรับแจ้งจากประชาชนและพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบอย่างรวดเร็วและทันเวลา อันนี้คือหลักการที่เราจะสัมมนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งช่วงที่หลังกฎหมายบังคับใช้ ทางสำนักงานการสอบสวนก็ได้มีการเก็บสถิติคดีที่เราได้รับแจ้งไว้ รวมทั้งได้รับเรื่องร้องเรียนซึ่งทางอธิบดีอัยการสำนักงานสอบสวนก็เป็นผู้รวบรวมข้อมูลและสามารถให้ข้อมูลได้เป็นอย่างดี
เมื่อถามว่า คดีที่กล่าวหา จนท.ตำรวจรีดทรัพย์ผู้ต้องหา 140 ล้านบาท ซึ่งภายหลังกลุ่มตำรวจที่ตกเป็นผู้ต้องหามาร้อง อัยการสอบสวนว่าคดีที่โดนกล่าวหาเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ขั้นตอนต่อไปเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้ควบคุมการสอบสวนคดีนี้
นายกุลธนิต อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน กล่าวว่า คดีนี้มีกลุ่มตำรวจซึ่งเป็นกลุ่มผู้ต้องหามาร้องว่าในพฤติการณ์กระทำความผิดนั้นที่พนักงานสอบสวนสอบสวนดำเนินคดีผู้กระทำความผิด มีลักษณะเข้าข่ายเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ
ซึ่งความผิดตามกฏหมายฉบับนี้ถ้าหากมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นมันจะมีผลทางกฎหมายคือจะทำให้เกิดหน่วยงานที่มีอำนาจในการสอบสวนคดีนี้ได้ที่กฎหมายกำหนดไว้มีอยู่ 4 หน่วยงาน ได้แก่ 1. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2. กรมการปกครอง 3. กรมสอบสวนคดีพิเศษ และ 4. สำนักงานอัยการสูงสุด
ในขณะเดียวกัน นอกจากกฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดอำนาจหน้าที่พนักงานสอบสวนแล้ว ยังกำหนดต่อไปว่ากรณีที่มีการสอบสวนดำเนินคดีความผิดประเภทนี้ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ถ้าเป็นการดำเนินการโดยพนักงานสอบสวน ซึ่งไม่ใช่พนักงานอัยการ กฎหมายกำหนดว่าให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบที่กระทำการสอบสวนต้องแจ้งเหตุแห่งคดีให้พนักงานอัยการทราบเพื่อเข้าไปตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวนในทันที
เหตุที่กลุ่มผู้ต้องหาที่เป็นตำรวจมาร้องก็เป็นกรณีที่ว่า ความผิดคดีมันเข้าข่ายลักษณะความผิดฐานนี้แล้ว เเต่พนักงานสอบสวนที่ทำการสอบสวนยังไม่ได้มีการส่งเรื่องหรือมาแจ้งเหตุแห่งคดีให้พนักงานอัยการเพื่อเข้าไปตรวจสอบกำกับการสอบสวน ส่วนการตรวจสอบหลังจากที่ตนรับเรื่องร้องเรียนของตำรวจกลุ่มนี้แล้วเราต้องมาตรวจสอบอีกทีว่าเข้าเงื่อนไข เข้าหลักเกณฑ์หรือไม่ว่าพฤติการณ์แห่งการกระทำในคดีว่ามันเข้าข่ายลักษณะเป็นความผิด ตรงนี้ต้องค่อยๆ ให้ข้อเท็จจริงยุติในส่วนนี้ก่อนจึงจะพิจารณาถ้าหากว่ามันมีพฤติการณ์การกระทำผิดเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้แล้ว ทางพนักงานสอบสวนก็ต้องมีหน้าที่แจ้งให้กับพนักงานอัยการ แต่ถ้าหากมันไม่เข้าเงื่อนไขโดยการกระทำหรือข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานต่างๆ ไม่เป็นความผิดในความผิดตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้แล้วอำนาจการสอบสวนก็อยู่ที่พนักงานสอบสวน
เมื่อถามว่า กรณีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่กฎหมายให้อำนาจไว้เห็นไม่ตรงกันใครจะเป็นผู้ชี้ขาดเรื่องพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ
นายกุลธนิต กล่าวว่า เรื่องการชี้ขาดว่าใครจะเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ต้องรอการตรวจสอบรายละเอียด ถ้าเราตรวจสอบได้จากการที่มีการร้องเข้ามา ถ้าพฤติการณ์มันเข้าข่ายตาม พรบ.อุ้มหายฯพนักงานอัยการต้องแจ้งให้กับพนักงานสอบสวนทราบตอนนี้เรื่องอยู่ระหว่างรอตรวจสอบ
“กรณีนี้เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้พนักงานสอบสวนทั้ง 4 หน่วยงาน มีอำนาจสอบสวนมันจะเกิดการชี้ขาดขึ้นก็ต่อเมื่อการกรณีมีการมีหลายหน่วยงานสอบสวนพร้อมในคดีเดียวกัน ถ้ามีหลายหน่วยงานสอบแล้วมันจะต้องมีความจำเป็นที่จะต้องชี้ขาดเรื่องพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบอันนี้จะเป็นอำนาจของอัยการสูงสุดจะเป็นผู้ชี้ขาดตามมาตรา 31” อธิบดีอัยการสอบสวน ระบุ