พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ที่ผ่านมามีประชาชนหลายรายตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพจากการที่ได้รับข้อความสั้น (SMS) หรือได้รับสายโทรศัพท์แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ โดยมิจฉาชีพได้ปลอมช่องทางติดต่อสื่อสารกับผู้เสียหายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันไลน์ทางการปลอม เพจเฟซบุ๊กปลอม และเว็บไซต์ปลอมของหน่วยงานที่แอบอ้างนั้นๆ เพื่อพูดคุยสร้างความน่าเชื่อถือ สร้างเรื่องราวออกอุบายต่างๆ ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ กรอกข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงิน และสุดท้ายถูกหลอกให้กดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันของหน่วยงานปลอมเหล่านั้น มีการให้ทำตามขั้นตอน ตั้งค่าให้สิทธิการเข้าถึง และให้สิทธิควบคุมโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้เสียหายใช้งาน หลอกลวงให้กรอกรหัส PIN 6 หลัก เป็นเหตุให้เงินของผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพโอนออกไปจนหมดบัญชี ทั้งนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่มีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทรศัพท์ไปหลอกลวงประชาชนให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม อ้างว่าเพื่อเป็นการอัปเดตข้อมูลนิติบุคคล นั้น
จากการตรวจสอบพบว่าการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวมีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันในหลายท้องที่ มีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการอำนวยความยุติธรรให้แก่ประชาชน และเพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ จึงได้มีคำสั่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ระดับกองบัญชาการ เป็นผู้รับผิดชอบ ต่อมาจากการสืบสวนสอบสวนทราบว่ามีผู้เสียหายกว่า 33 ราย ความเสียหายรวมกว่า 16 ล้านบาท และจากการตรวจสอบเส้นทางธุรกรรมทางการเงินพบว่ามีการโอนเงินไปยังบัญชีนาคารต่างๆ หลายบัญชี ซึ่งเป็นบัญชีม้าที่รับจ้างเปิดรอไว้รับเงินจากผู้เสียหายเป็นทอดๆ ต่อมาคณะพนักงานสอบสวนได้ทำการรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องขอศาลอนุมัติออกหมายจับผู้ต้องหากว่า 25 ราย แบ่งเป็นสัญชาติไทย 20 ราย สัญชาติกัมพูชา 5 ในข้อหา “ร่วมกันลักทรัพย์ตั้งแต่สองคนขึ้นไป (โดยใช้กลอุบาย), ร่วมกันใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน, เข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน, สมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันและร่วมกันฟอกเงิน" ซึ่งสามารถทำการจับกุมตัวผู้ต้องหาตามหมายจับได้แล้ว 21 ราย อยู่ระหว่างติดตามตัวมาดำเนินคดีอีก 4 ราย กระทั่งเมื่อ 2 มิ.ย.66 คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนได้สรุปสำนวนการสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาเสนอไปยังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาตามกฎหมายต่อไปแล้ว
ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อประชาชนจากภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแอบอ้างเป็นหน่วยงานต่างๆ หลอกลวงให้ประชาชนติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมเอาทรัพย์สินของประชาชน สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง โดยได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนและปราบปรามการกระทำความผิด บังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง เพื่อเป็นการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล และแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ซึ่งรับผิดชอบในด้านงานป้องกันปราบปราม ได้กำชับไปยัง พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดทำการสืบสวนสอบสวน ขยายผลหาความเชื่อมโยงในดดี ปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในทุกรูปแบบ มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
โฆษก บช.สอท. กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา บช.สอท. ได้เร่งระดมกวาดล้างจับกุมผู้กระทำความผิด ตัดวงจรการก่ออาชญากรรมที่เป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน รวมถึงเร่งรัดการสอบสวนและการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ด้วยความรอบคอบและรัดกุม รวมถึงขยายผลไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้แล้วฝากเตือนไปยังประชาชนให้ระมัดระวังการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว เมื่อท่านได้รับข้อความสั้น (SMS) แนบลิงก์อ้างว่ามาจากหน่วยงานต่างๆ ให้ตรวจสอบให้ดีเสียก่อน อย่าหลงเชื่อเพียงเพราะเป็นข้อความที่ถูกส่งไปยังกล่องข้อความเดียวกับหน่วยงานจริงนั้นๆ เนื่องจากมิจฉาชีพสามารถปลอมแปลงชื่อผู้ส่งได้ ทั้งนี้ในปัจจุบันทุกธนาคารได้ยกเลิกการส่งข้อความสั้น (SMS) แนบลิงก์ไปยังประชาชนแล้ว หากท่านได้รับข้อความใดๆ เชื่อได้ว่าเป็นมิจฉาชีพอย่างแน่นอน และไม่ว่ามิจฉาชีพจะมาในรูปแบบใดก็ตาม ให้ระมัดระวังและมีสติอยู่เสมอ โดยหากพบเห็นข้อความสั้น (SMS) แนบลิงก์เข้ามาในลักษณะดังกล่าวให้แจ้งเตือนไปยังบุคคลใกล้ชิด และหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานนั้นๆ ให้ช่วยตรวจสอบทันที เพื่อลดการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ทั้งนี้ ขอฝากประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงแนวทางการป้องกัน ดังนี้
1.ไม่กดลิงก์ที่เเนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือที่ส่งมาทางสื่อสังคมออนไลน์ ไม่กดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันต่างๆ เพราะอาจเป็นการดักรับข้อมูล หรือการฝังมัลแวร์ของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มาพร้อมกับข้อความในลักษณะทำให้ตกใจ หรือเป็นกังวล เช่น ข้อมูลท่านรั่วไหล มีการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือผิดปกติ
2.หากได้รับโทรศัพท์จากหมายเลขที่ไม่คุ้นเคย และมีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ให้ขอชื่อนามสกุล และหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกลับของเจ้าหน้าที่ โดยให้แจ้งว่าจะติดต่อกลับไปภายหลัง
3.ตรวจก่อนว่ามาจากหน่วยงานนั้นๆ จริงหรือไม่ โดยการโทรศัพท์ไปสอบถามผ่านหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ หรือผ่านเว็บไซต์ทางการของหน่วยงานนั้น โดยตรง รวมถึงตรวจสอบว่ามีการประกาศแจ้งเตือนการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวหรือไม่
4.ระวัง LINE Official Account ปลอม โดยสังเกตบัญชีที่ผ่านการรับรองจะมีสัญลักษณ์โล่สีเขียว หรือโล่สีน้ำเงิน หากเป็นโล่สีเทาหรือไม่มีโล่เลยจะเป็นบัญชีทั่วไปยังไม่ได้ผ่านการรับรอง ต้องตรวจสอบยืนยันให้ดีเสียก่อน
5.ไม่ติดตั้งโปรแกรม หรือแอปพลิเคชันที่ผู้อื่นส่งมาให้โดยเด็ดขาด แม้จะเป็นโปรแกรมที่รู้จักก็ตาม เพราะอาจเป็นแอปพลิเคชันปลอม โดยหากต้องการใช้งานให้ทำการติดตั้งผ่าน App Store หรือ Play Store เท่านั้น
6.ไม่อนุญาตให้ติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก หรือไฟล์ที่อาจเป็นอันตราย ไฟล์นามสกุล .Apk หรือซอฟต์แวร์ที่เป็นอันตราย
7.ไม่อนุญาตให้เข้าถึงอุปกรณ์ และควบคุมอุปกรณ์ หรือโทรศัพท์มือถืออย่างเด็ดขาด
8.ไม่กรอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงินใดๆ ลงในลิงก์ หรือแอปพลิเคชันในลักษณะดังกล่าวโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งรหัสผ่าน 6 หลัก ที่ซ้ำกับรหัสแอปพลิเคชันของธนาคารต่างๆ
9.หากท่านเชื่อว่าได้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมแล้ว ให้รีบทำการ Force Reset หรือการบังคับให้อุปกรณ์นั้นรีสตาร์ต (ส่วนใหญ่เป็นการกดปุ่ม Power พร้อมปุ่มปรับเสียงค้างไว้) ในกรณีเกิดอาการค้างไม่ตอบสนอง หรือเปิดโหมดเครื่องบิน (Airplane Mode) หรือปิดเครื่องเพื่อตัดสัญญาณไม่ให้โทรศัพท์สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ถอดซิมการ์ดโทรศัพท์ออก หรือทำการปิด Wi-fi Router
10.อัปเดตระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์ให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ