MGR Online - ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ดีเอสไอ ระบุ กรรมการคดีพิเศษรับข้อเสนอแนะ ยึดทรัพย์นักลงทุน “แชร์ลูกโซ่” ส่ง ปปง. เฉลี่ยคืนผู้เสียหาย หวังตัดตอนผู้กระทำผิด
วันนี้ (16 มิ.ย.) พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการคดีพิเศษ ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ ครั้งที่ 2/2566 ณ อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โดยกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ได้เสนอแนวทางปฏิบัติในการป้องกันปราบปรามการกระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เพื่อให้คณะกรรมการคดีพิเศษทราบและรับข้อแนะนำ
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจาก กรมสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจหน้าที่ในการป้องกัน ปราบปราม สืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 โดยมีคดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วย การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือ”แชร์ลูกโซ่” ตลอดระยะเวลาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการ ตั้งแต่ พ.ศ. 2547 ถึง พ.ศ. 2566 มีการรับคดีกว่า 138 คดี มูลค่าความเสียหายกว่า 52,000 ล้านบาท แต่การกระทำความผิดยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ซับซ้อนขึ้น และเกิดความเสียหายในวงกว้างมากขึ้น มีบุคคลหลากหลายอาชีพเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด รวมถึงดารานักแสดงและบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม
กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ได้ทำโครงการวิจัยเชิงคุณภาพกับกลุ่มผู้เสียหาย พบว่านักลงทุนในธุรกิจแชร์ลูกโซ่ ถึงร้อยละ 85 รู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่าธุรกิจที่ตนเองร่วมลงทุนเป็นแชร์ลูกโซ่ แต่คาดหวังว่า หากร่วมลงทุนและถอนการลงทุนได้ทันก่อนแชร์ล้มจะได้ผลตอบแทนสูง ซึ่งเป็นกรณีที่มุ่งเอาประโยชน์ที่มิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเงินผลตอบแทนธุรกิจแชร์ลูกโซ่มาจากเงินของผู้ลงทุนคนหลังที่นำมาหมุนเวียนจ่ายคนก่อนหน้า และยังเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดแชร์ลูกโซ่ ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงิน
กองคดีธุรกิจนอกระบบ จึงมีแนวคิดส่งข้อมูลกลุ่มนักลงทุนที่มีพฤติการณ์ดังกล่าวให้สำนักงาน ปปง. ใช้มาตรการทางแพ่งเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในการยึดทรัพย์เพื่อเสนอต่อศาลแพ่งในการมีคำสั่งยึดเพื่อนำมารวมเป็นทรัพย์ที่จะเฉลี่ยแก่ผู้เสียหายที่แท้จริง ซึ่งนอกจากจะเป็นการติดตามทรัพย์สินมาเพื่อเฉลี่ยคืนผู้เสียหายได้มากขึ้นแล้ว ยังมีผลเป็นการป้องปรามนักลงทุนที่มีพฤติการณ์ดังกล่าวได้ตระหนักและไม่กล้าลงทุนในธุรกิจแชร์ลูกโซ่อีกทางหนึ่งด้วย จึงได้เสนอมาตรการดังกล่าวต่อคณะกรรมการคดีพิเศษเพื่อทราบซึ่งได้เห็นชอบและมีข้อแนะนำเพิ่มเติม
นอกจากมาตรการดังกล่าวแล้ว คณะกรรมการคดีพิเศษยังได้รับทราบและให้ข้อแนะนำในเรื่องที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจะขับเคลื่อนวาระแห่งชาติเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน โดยร่วมกับฝ่ายปกครอง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันปราบปรามลงในระดับพื้นที่เพื่อมิให้การกระทำผิดขยายวงจนเกิดความเสียหายลุกลาม
โดยกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมสนับสนุนองค์ความรู้และการปฏิบัติงานบนพื้นฐานความสำเร็จร่วมกัน “กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ มีความมุ่งมั่นในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวกับธุรกิจการเงินนอกระบบอย่างมืออาชีพ มีวิสัยทัศน์ และใส่ใจให้บริการ”