xs
xsm
sm
md
lg

“แอนนา ทีวีพูล” รับทราบข้อหา “ฉ้อโกงประชาชน-พ.ร.บ.คอมฯ” ขายกล่องสุ่มทิพย์-แจกทอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - ตำรวจ สอท.1 เรียก “แอนนา ทีวีพูล” รับทราบข้อหา “ฉ้อโกงประชาชน-พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์” ปมธุรกิจกล่องสุ่ม เจ้าตัวยันทำธุรกิจผิดพลาด ไม่มีเจตนาโกง

วันนี้ (16 มิ.ย.) เวลา 13.15 น. ที่กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 (บก.สอท.1) ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ “แอนนา” วรินทร วัตรสังข์ หรือ “แอนนา ทีวีพูล” อินฟูลเอนเซอร์ชื่อดัง พร้อมทนายความ เดินทางเข้าพบ พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 และ พ.ต.ท.อคร กล่อมกูล สว.กก.2 บก.สอท.1 เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในคดีการทำธุรกิจกล่องสุ่มทิพย์

พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ เผยหลังการสอบปากคำ ว่า พนักงานสอบสวนกก.2 บก.สอท.1 ได้ออกหมายเรียก “แอนนา วรินทร” มารับทราบข้อกล่าวหา ฉ้อโกงประชาชน และนำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามมาตรา 14(1) โดยได้ทำการออกหมายเรียกไปเมื่อวานนี้ (15 มิ.ย.) หลังจากมีประชาชนที่ได้รับความเสียหายเข้าแจ้งความกับทาง บก.สอท.1 ตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่า เป็นคดีความเกี่ยวกับอาหารเสริมความงามและธุรกิจอื่น โดยเฉพาะ บก.สอท.1 มีทั้งหมด 9 คดี มูลค่าความเสียหายเบื้องต้น 8 ล้านบาท แต่ยังมีคดีความอีกหลายท้องที่ทั่วประเทศ รวมมูลค่าความเสียหาย 15 ล้านบาท

พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ เผยว่า ส่วนประเด็นเรื่องทองที่ปรากฏนั้น เจ้าตัวชี้แจงว่า เป็นของสมนาคุณที่แจกให้กับลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้า โดยแอนนามีหลักฐานการซื้อทองวันละหลายล้านบาท และเคยแจ้งความไว้ที่ สน.คันนายาว เมื่อปี 2565 เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งปกติการแจกของในลักษณะนี้ จะไม่สามารถทำได้ หากไม่ได้ขออนุญาตกับกระทรวงมหาดไทย โดยกรณีแอนนาพบว่าได้ขออนุญาตไว้ในปี 2566 แต่ต้องตรวจสอบย้อนหลังไปในปี 2565 ด้วยว่าได้ขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ ทั้งนี้ ฝากเตือนว่า การแจกสิ่งของควรจะตรวจสอบข้อกฎหมายให้รอบคอบ มิฉะนั้น ก็อาจเข้าข่ายความผิดเรื่องแชร์ลูกโซ่ได้

ด้าน “แอนนา วรินทร” ยืนยันว่า ไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา ซึ่งเรื่องเกิดจากการบริหารธุรกิจที่ผิดพลาด เพราะไม่ทำบัญชีรายรับรายจ่ายให้ดี และมีการส่งของล่าช้า แต่ตนก็ไม่มีเจตนาไม่ส่งของ ส่วนเรื่องกล่องสุ่มทิพย์ ยืนยันว่า ตนทำจริง แต่เป็นสกินแคร์และอาหารเสริม ที่ระบุรายละเอียดชัดเจน นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องกล่องสุ่มทองคำ ตนไม่ได้ทำ เพราะจะให้ทองเป็นของแจกคืนกำไรสำหรับลูกค้าประจำเท่านั้น โดยมีเอกสารการซื้อครบ และลูกค้าได้รับมาตลอด รวมถึงยังระบุชัดเจนว่า ตนจะขายทองให้กับลูกค้าประจำที่ซื้อสินค้าตามยอดที่กำหนดเท่านั้น

แอนนา กล่าวว่า ส่วนคดีความที่เกิดขึ้น ตนเคยแจ้งความไว้ที่ สน.คันนายาว หลังวันที่ 24 ก.ย. 2565 แมสเซนเจอร์ที่คอยรับส่งของกับตนเป็นประจำ เข้ามารับทองมูลค่า 4 ล้านบาท ในช่วงดึกเพื่อนำไปส่ง แต่เขาอ้างว่า ประสบอุบัติเหตุรถล้มระหว่างทางและของหายทั้งหมด โดยที่แมสเซนเจอร์รายนี้ไม่เคยทราบว่าของที่ไปส่งคืออะไร และตนยังมีพยานหลักฐานเป็นกล้องวงจรปิดบางช่วง ขณะแพ็กทองเพื่อส่งและมอบให้ตำรวจไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้แจ้งความดำเนินคดีกับแมสเซนเจอร์ เพราะไม่ทราบว่าจะต้องทำอย่างไร ซึ่งตำรวจยังคงสืบสวนคดีนี้อยู่ ตนรู้สึกเสียใจมาก เพราะให้ความไว้ใจกับแมสเซนเจอร์รายนี้มาเป็นปี แต่สุดท้ายแม่ตนบอกว่าเป็นเวรกรรม และเวรกรรมมาตกที่ตัวเอง เพราะตอนนี้ยังหาทองไม่พบจริงๆ ยอมรับว่า พลาดเองที่ไม่แจ้งลูกค้า เพราะเกรงจะส่งผลต่อการทำธุรกิจ ทั้งนี้ ตนจะเร่งขายสินค้า เพื่อนำเงินไปซื้อทองมาคืนลูกค้าที่ดำเนินคดีไว้

“ยอมรับตัวเองเคยคิดสั้น หนูพยายามเข้มแข็งในทุกวัน คิดว่า ทำไมต้องมาเจออะไรแบบนี้ แต่สุดท้ายแล้วเราต้องอยู่ ไม่งั้นลูกค้าจะได้ของยังไง ตอนนี้ก็ยังไม่สบายใจ หนูไม่ได้กลัวคุก เพราะคุกก็คือคุก แต่คืนของให้ลูกค้าคือจุดประสงค์หลัก แต่บัญชีตอนนี้หนูมีเงินแค่ 25 บาทเท่านั้น เพราะไม่เคยวางแผนว่าธุรกิจจะล้ม” แอนนา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น